วิชาการใช้เหตุผล

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ผมได้ไปกินข้าวเย็นกับ อ. กนิษฐ์กับ อ. เกษม และ Jonathan Berg กับภรรยา ในโอกาสที่ Jonathan เดินทางมาเมืองไทยและภาคได้เชิญเขามาบรรยายเรื่องปรัชญาภาษา ในการสนทนากันเราได้พูดกันเกี่ยวกับรายวิชาการใช้เหตุผล ซึ่งเป็นวิชาบังคับที่ภาคต้องสอนให้แก่นิสิตอักษรปีหนึ่งทุกคน ปัญหาก็คือว่า ในแบบประเมินที่คณะอักษรให้นิสิตที่กำลังจะจบปีสี่เขียน พบว่านิสิตส่วนใหญ่มีปัญหากับวิชานี้เป็นอย่างมาก จนเรียกได้ว่าในบรรดารายวิชาบังคับของคณะฯทั้งหมด วิชาการใช้เหตุผลดูจะเป็นวิชาที่นิสิตไม่ชอบมากที่สุด มีข้อเสนอแนะให้ปรับปรุงแก้ไขมากที่สุด

เราก็พูดกันว่าจะทำอย่างไร ปัญหาบางอย่างเป็นเรื่องของการจัดการ เช่นภาควิชาปรัชญาแบ่งการสอนวิชานี้ออกเป็นกลุ่มๆถึงสิบกลุ่ม และแต่ละกลุ่มก็มีการสอนแยกเด็ดขาดออกจากกัน คือผู้สอนแต่ละกลุ่มเลือกเน้อหาของตนเอง เลือกหนังสือของตนเอง เลือกวิธีการสอนของตนเอง ออกข้อสอบเอง แล้วก็ตัดเกรดเอง ทำให้นิสิตบอกว่าวิชานี้เหมือนกับเล่นรูเล็ตรัสเซีย คือถ้าไปเจออาจารย์ที่ใจดีก็โชคดีได้เกรดดีๆไป แต่ถ้าไปเจออาจารย์ที่โหดหน่อยก็แย่ เรื่องนี้ก็เป็นปัญหาสำคัญ แต่ก็ยังไม่เท่ากับปัญหาที่หนักหนาสาหัสมากกว่า คือปัญหาเกี่ยวกับเนื้อหาวิชานี้โดยตรง และบทบาทกับวัตถุประสงค์ของวิชานี้ในการศึกษาของนิสิตในคณะอักษรศาสตร์

วัตถุประสงค์หลักของวิชาเกี่ยวกับการใช้เหตุผล ที่มีสอนกันทั่วโลก (ไม่ใช่เฉพาะที่คณะอักษร จุฬา) ก็คือมุ่งฝึกให้ผู้เรียนรู้จัก “คิดเป็น” และ “มีวิจารณญาณ” สามารถแยกแยะได้ว่าการอ้างเหตุผลใดน่าเชื่อถือ แบบใดไม่น่าเชื่อถือ ความสามารถนี้เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง และการเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการศึกษาไม่ว่าที่ใด ก็จะเน้นที่ความสามารถทำนองนี้เป็นหลัก ทั้งนี้เพราะว่าในโลกสมัยใหม่ที่มีการพยายามโน้มน้าวใจผู้คนด้วยข้อมูลข่าวสารจำนวนมหาศาล การมีความสามารถในการแยกแยะว่าข้อมูลใดน่าเชื่อถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เรียกได้ว่าเป็นเป้าหมายสำคัญที่สุดของการศึกษาเลยก็ว่าได้ เมื่อเป็นเช่นนี้เหตุใดการสอนวิชาการใช้เหตุผลที่คณะอักษร จุฬาฯ จึงมีปัญหามากมายขนาดนี้

ปัญหาเกี่ยวกับเนื้อหามาจากว่า คณาจารย์ในภาควิชาปรัชญา ยังไม่เห็นพ้องกันว่าการสอนให้ผู้เรียน “คิดเป็น” หรือ “มีวิจารณญาณ” นั้นต้องทำอย่างไร หลายคนยังเห็นไม่ตรงกันเลยว่า “วิจารณญาณ” แปลว่าอะไร ในการประเมินของนิสิต หลายคนเขียนมาว่า วิชานี้ไม่มีประโยชน์ ก็ต้องสืบสวนต่อไปว่าที่นิสิตบอกเช่นนี้มาจากวิธีการสอนที่ไม่ถูกต้อง หรือถึงแม้ว่าสอนถูกแล้ว นิสิตก็ยังเห็นว่าไม่มีประโยชน์อยู่ดี เนื่องจากไม่มีหลักฐานในตอนนี้ที่จะแสดงได้ว่าการสอนวิชานี้ในกลุ่มต่างเป็นไปอย่างถูกต้องหรือไม่ จึงตั้งเป็นสมมติฐานก่อนว่า แม้จะสอนถูกแล้ว แต่นิสิตก็ยังไม่เห็นประโยชน์อยู่ดี

คำอธิบายแบบหนึ่งที่มักจะมีผู้เสนอขึ้นมาเพื่อตอบคำถามว่า เหตุใดนิสิตจึงมักเห็นว่าวิชานี้ไม่มีประโยชน์ก็เพราะว่ามีวิชานี้มีเนื้อหาที่ “เป็นนามธรรม” (abstract) เกินไป ข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหานี้ก็คือ แทนที่จะเน้นไปที่รูปแบบของการอ้างเหตุผล ซึ่งเป็นเนื้อหาของวิชาตรรกวิทยา ก็เน้นไปที่เนื้อหาของเรื่องแต่ละเรื่องที่นำมาเป็นตัวอย่างในการวิเคราะห์แทน ตัวอย่างเช่น สมมติว่านิสิตกำลังวิเคราะห์แบบฝึกหัดที่เป็นข้อเขียนเกี่ยวกับการเมืองไทยปัจจุบัน ที่พยายามโน้มน้าวใจคนอ่านให้เห็นคล้อยตามผู้เขียน เป้าหมายของการวิเคราะห์ก็คือให้นิสิตมองเห็นว่าการอ้างเหตุผลของผู้เขียนบทความมีน้ำหนักมากพอที่จะทำให้บทความน่าเชื่อถือหรือไม่ ข้อเสนอในการทำให้การวิเคราะห์เป็นนามธรรมน้อยลงคือ แทนที่จะใช้หลักเกณฑ์ทางตรรกวิทยาที่มีในตำราวิชานี้ ก็ให้ดูที่เนื้อหาแทน หมายความว่าเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองไทยปัจจุบัน ผู้วิเคราะห์จำเป็นต้องมีความรู้เกี่ยวกับการเมืองไทยปัจจุบัน อาจจะรวมทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลัง ความลับต่างๆที่ฝ่ายแต่ละฝ่ายไม่อยากให้สาธารณชนรับรู้ ฯลฯ มิฉะนั้นแล้วก็จะวิเคราะห๋บทความนี้ไม่ได้

ปัญหาของการคิดแบบนี้ก็คือว่า วิชานี้คือวิชาการใช้เหตุผล ไม่ใช่วิชาการเมืองไทยปัจจุบัน ดังนั้นเราไม่อาจคาดหวังให้ผู้เรียนวิชานี้ต้องรู้การเมืองไทยอย่างละเอียด ยิ่งไปกว่านั้นตัวอย่างที่นำมาวิเคราะห์ก็ไม่ได้มาจากการเมืองอย่างเดียว เพราะมีเรื่องอื่นๆที่น่าสนใจอีกเป็นจำนวนมาก เช่นปัญหาเกี่ยวกับการทำแท้ง ซึ่งมีการถกเถียงกันว่าควรแก้กฎหมายทำแท้งเพื่อเปิดโอกาสและทางเลือกให้แก่ผู้หญิงมากขึ้นหรือไม่ หากเราไม่เน้นที่รูปแบบของการอ้างเหตุผลที่ใช้ได้กับเรื่องต่างๆ เราก็ต้องคาดหวังว่านิสิตที่จะวิเคราะห์บทความเกี่ยวกับการทำแท้ง ต้องมีความรู้ด้านนี้เพียงพอ ซึ่งการคิดเช่นนี้ก็จะทำให้ผู้ที่ได้รับการยอมรับให้เสนอความเห็นเกี่ยวกับการทำแท้งได้ ต้องเป็นแพทย์เฉพาะทางสูติ-นรีเวชวิทยาเท่านั้น เพราะเป็นแพทย์ที่ได้รับอนุญาตให้ทำแท้งได้หากเป็นไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด และมีความรู้เกี่ยวกับกระบวนการทำแท้งอย่างมืออาชีพ ดังนั้นประชาชนธรรมดาไม่สามารถเสนอความเห็นเกี่ยวกับความถูกต้องหรือไม่ถูกต้องของกฎหมายห้ามทำแท้งได้

การคิดแบบนี้ก็ไม่เป็นผลดีแก่ระบอบประชาธิปไตยเท่าใดนัก เพราะหากจะมีระบอบการปกครองใดที่จำเป็นต้องให้ประชาชนมีวิจารณญาณอย่าที่พูดอยู่นี้ ก็จะต้องได้แก่ประชาธิปไตย ในประชาธิปไตยมีความเชื่อมั่นว่าประชาชนควรเป็นผู้ตัดสินใจในแนวนโยบายต่างๆในขั้นสุดท้าย และประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเพียงพอ เพราะเป็นวิถีชีวิตของประชาชนเองที่จะเลือกทางเดินแบบใด การมีความรู้เฉพาะทางก็มีบทบาทเพียงแค่เสนอทางเลือกและวิเคราะห์ผลกระทบต่างๆหากเลือกทางนั้นทางนี้ท่านั้น

ดังนั้น การเน้นที่เนื้อหาเรื่องแต่ละเรื่องที่นำมาเป็นตัวอย่างในการวิเคราะห์จึงทำไม่ได้ทั้งหมด เราจำเป็นต้องอาศัยการวิเคราะห์ในเชิงนามธรรมที่เป็นรูปแบบของตรรกวิทยาอยู่ดี คือการมองเห็นภาพรวมว่า แม้เนื้อเรื่องจะเป็นการเมืองหรือเรื่องทำแท้ง หรือเรื่องอื่นๆ เช่นศาสนาหรือการหาแฟน ฯลฯ เราสามารถใช้หลักการเดียวกันได้ และหลักการนี้เองที่เราควรมุ่งให้นิสิตเรียนในวิชาการใช้เหตุผล ส่วนการนำเสนอหลักการว่าควรจะนำเสนอแบบใด เช่น แบบเน้นการเสนอเหตุผลแบบ “ไม่เป็นทางการ” (informal) ซึ่งไม่เน้นเรื่องการใช้สัญลักษณ์หรือแบบแผนที่มีลักษณะเป็นแบบคณิตศาสตร์ หรือใช้แบบแผนทางคณิตศาสตร์บ้างนั้น เป็นประเด็นปลีกย่อยที่จะนำเสนอในรายละเอียดในอีกบทความหนึ่ง

15 thoughts on “วิชาการใช้เหตุผล

  1. 1 ผมไม่ทราบว่านิสิตแยกได้เด็ดขาดหรือไม่ว่าสาเหตุที่ทำให้ไม่ค่อยชอบวิชาต่างๆ นั้นเป็นเพราะเหตุใด ระหว่างเรียนแล้วได้คะแนนไม่ดีหรือวิชานั้นๆ นำไปใช้ไม่ได้หรือไม่มีประโยชน์จริง ที่ว่านิสิตไม่ชอบวิชานี้หรืออาจจะชอบน้อยที่สุดเทียบกับวิชาต่างๆ เป็นเพราะได้คะแนนไม่ค่อยดี คะแนนที่ได้ดูเหมือนไม่มีมาตรฐานระหว่างตอนเรียน หรือเป็นเพราะเห็นว่าวิชานี้ไม่มีประโยชน์นำไปใช้ไม่ได้จริงๆ

    จากประสบการณ์ของผมเมื่อเรียนระดับปริญญาตรีเห็นว่าเพื่อนหลายๆ คน บางครั้งก็ตัวผมเอง ไม่ชอบบางวิชาเพียงเพราะว่าเนื้อหาเข้าใจยาก ไม่เข้าใจสิ่งที่ผู้สอนพยายามสอน เมื่อสอบได้คะแนนน้อย ผู้เรียนก็รู้สึกไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งหลายๆ ครั้งไม่ค่อยจะเกี่ยวกับประโยชน์ของตัววิชานั้นๆ

    ผมไม่แน่ใจว่าตอนนี้เป็นอย่างไรกันบ้างแล้ว แต่ในช่วงปีที่ผมเรียน การที่จะไปลงทะเบียนเรียนวิชาอะไรมักจะถามกันว่า ‘เอมั้ย?’ ‘เส็กไหนเอ?’ ‘เค้าให้เอกี่เปอเซนต์?’ น้อยครั้งที่จะอ่านรายละเอียดหรือจุดประสงค์รายวิชานั้นๆ อย่างจริงจัง ผมจึงคิดของผมเอาเองว่า บางทีประโยชน์ของวิชาหนึ่งคงไม่ใช่สิ่งเดียวที่ผู้เรียนสนใจ การที่ผู้เรียนบอกว่าชอบหรือไม่ชอบหลายๆ ครั้ง อาจจะเป็นความชอบหรือไม่ชอบบนพื้นฐานว่าได้คะแนนง่ายหรือไม่ เพราะคงปฏิเสธได้ยากว่าผู้เรียนก็ถูกคาดหวังให้มีคะแนนดีๆ ด้วย

    2 ผมมีสมมติฐานว่าคงมีนักเรียนนักศึกษาหรือผู้ที่คิดไตร่ตรองในการดำเนินชีวิตจำนวนน้อยที่ไม่สนใจว่าตนเองกำลังหลงผิดอยู่หรือไม่ กำลังถูกปั่นหัวหรือถูกล่อลวงอยู่หรือไม่ ส่วนใหญ่เมื่อตระหนักแล้วคงไม่อยากเข้าใจหรือรับข้อมูลผิดๆ ผมคิดว่าเท่านี้น่าจะเพียงพอที่จะทำให้ผู้ที่ไม่อยากหลงผิดเข้าใจผิดไม่อยากถูกหลอกเห็นว่าการใช้เหตุผลสำคัญ การฝึกการใช้เหตุผลไม่ว่าจะนอกหรือในชั้นเรียนก็สำคัญมากสำหรับผู้ที่เข้าใจว่าความถูกต้องของข้อมูลต่างๆ มีความสำคัญ

    3 การที่บางคนเห็นว่าการใช้เหตุผลเป็นนามธรรมเกินไปนั้น อันที่จริงผมเห็นว่าตรงกันข้าม ถ้าจะมีเครื่องมือหรือวิชาใดในปรัชญาที่ใกล้ตัวและนำมาปรับใช้กับเรื่องทั่วไปในชีวิตได้ง่ายที่สุด ผมเห็นว่าคงต้องเป็นวิชาการใช้เหตุผล และการใช้เหตุผลที่สอนโดยภาควิชาปรัชญา ก็ไม่ได้ต่างมากนักกับสิ่งที่นักเรียนประถมนักเรียนมัธยมเรียนในวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ไม่ได้ต่างกับสิ่งที่นิสิตนักศึกษาในแทบทุกสาขาใช้ในการศึกษาวิชาต่างๆ เมื่อใดที่มีข้อมูลใหม่ๆ ผู้ที่จะรับข้อมูลเหล่านั้นย่อมควรที่จะตั้งคำถาม สงสัยในที่มา คิดไตร่ตรองความน่าเชื่อถือ ความเป็นเหตุเป็นผลต่างๆ ซึ่งเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นสิ่งปกติที่มนุษย์ใช้

    ผมเห็นว่าผู้ที่ศึกษาในระดับใดก็ตามไม่ควรที่จะรับข้อมูลต่างๆ โดยไม่ตั้งคำถามโดยไม่สงสัย ซึ่งเมื่อตั้งคำถามเมื่อสงสัยคงไม่มีเครื่องมือใดที่จำเป็นมากกว่าการใช้เหตุผล ส่วนการที่จะแสดงให้ผู้เรียนเห็นตามนี้นั้นอาจจะยากถ้าวิชาการใช้เหตุผลถูกสอนแบบบรรยายเท่านั้น ซึ่งจะไม่ต่างกับการให้ข้อมูลด้านเดียว ผู้เรียนบางส่วนอาจจะแค่รับข้อมูลเหล่านั้นไปโดยไม่ได้ฝึกคิดฝึกสงสัย ผู้เรียนอาจจะไม่ตระหนักว่าวิชาการใช้เหตุผลมีความสำคัญอย่างไร ซึ่งอาจจะเป็นที่มาที่วิชาการใช้เหตุผลดูเป็นนามธรรมเกินไป

    4 ผมมีสมมติฐานว่าผู้ที่มีความเชื่อซึ่งไม่ค่อยถูกท้าทายมักจะใช้เหตุผลในการพิจารณาเรื่องต่างๆ มักตั้งคำถามในเรื่องต่างๆ น้อยกว่าผู้ที่มีความเชื่อและเห็นว่าความเชื่อของตนมีโอกาสผิดและเคยผิดมาก่อน ผมคิดว่าจุดนี้สำคัญที่สุด ปัจจุบันข่าวสาร ข้อมูลต่างๆ อีเมล์เรื่องหลอกลวงต่างๆ (hoax) ถูกเชื่อโดยแทบจะไม่ผ่านการไตร่ตรอง ที่เห็นได้ชัดมากคือการส่งต่อข้อมูลต่อกันผ่าน ‘เค้าบอกว่า…’ เช่น ‘เค้าว่าผู้สมัครคนนี้มีนิสัยขี้โกง’ ‘เค้าว่ากินน้ำเยอะอาหารจะไม่ย่อย’ ‘เค้าว่าราคาทองจะตกให้รีบขายออก’ ซึ่งจากประสบการณ์ผมพบว่าคนส่วนหนึ่งเชื่อข้อมูลไร้ที่มาชัดเจนเหล่านี้ไปในทันที ในขณะที่ผู้ที่เคยมีความเชื่อใดๆ ตลอดมา วันหนึ่งถูกท้าทาย พบและตระหนักว่าความเชื่อนั้นผิด จะเริ่มตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ เมื่อพบบ่อยครั้งขึ้นว่าความเชื่อต่างๆ นั้นผิดได้ มักจะสงสัยตั้งคำถามและพิจารณาถี่ถ้วนขึ้น ให้นึกถึง Descartes’ Meditation เป็นตัวอย่าง คนเหล่านี้จะเห็นว่าการใช้เหตุผลนั้นสำคัญ

    ผมจึงเสนอว่าผู้สอนไม่ว่าวิชาใดๆ ไม่ควรทำ เหนี่ยวนำ หรือสนับสนุนให้ผู้เรียนเชื่อว่าสิ่งที่ออกจากปากผู้สอน สิ่งที่ได้จากเอกสารการเรียน สิ่งที่มีอยู่ในหนังสือ ข้อมูลจากข่าว ต่างๆ เหล่านี้ ‘ถูกต้อง’ เสมอไป ผมเชื่อว่าถ้าทำสำเร็จวันหนึ่งผู้เรียนจะเลิกพฤติกรรม ‘รับเข้าไปเลย’ หรือ ‘เชื่อเลย’ ซึ่งจะมีประโยชน์กับผู้เรียนตลอดชีวิตของผู้เรียนในหลายด้านของการดำเนินชีวิต ผมเชื่อว่าบางครั้งอาจจะเป็นสิ่งที่เหมาะสมที่จะกระตุ้นผู้เรียนให้ระแวงและไม่เชื่อในสิ่งที่ถูกสอนในทันที

    5 ผมพยายามจะเน้นให้เห็นว่า เราอาจจะต้องเน้นไปที่การตรวจดูธรรมชาติของผู้เรียนมากกว่าการปรับปรุงเนื้อหาเพียงอย่างเดียว ถ้าผู้เรียนมีธรรมชาติที่มักจะไม่สงสัยไม่ตั้งคำถาม วิชาการใช้เหตุผลอาจจะดูไม่มีประโยชน์จริงๆ สำหรับผู้เรียนเหล่านี้ อาจจะเห็นว่า น่าเบื่อ จะให้เรียนทำไม เพราะไม่เห็นความจำเป็นของการใช้เหตุผล ผมจึงคิดว่าผู้สอนควรจะต้องท้าทายความเชื่อของผู้เรียนเหล่านี้ ให้ผู้เรียนเหล่านี้ตระหนักว่าการใช้เหตุผลมีความจำเป็นและอาจจะเป็นหนึ่งในไม่กี่เครื่องมือหรือวิธีการที่จะทำให้ได้มาซึ่งความเชื่อที่ถูกต้องหรือแม้ไม่ถูกต้องก็ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งจะโดยวิธีใดนั้นผมเองไม่มีความเชี่ยวชาญพอที่จะเสนอ หากเป็นผมอาจจะลวงให้ผู้เรียนเชื่อและแสดงให้เห็นว่าหากใช้เหตุผลแต่แรกจะไม่ถูกลวง

    • น่าสนใจมากๆ การท้าทายความเชื่อของผู้เรียนก็น่าจะเป็นประโยชน์และใช้ได้ผล อย่างไรก็ตามเราต้องแยกระหว่างการเรียนที่เน้นให้ผู้เรียนแสดงความคิดเห็น เช่นเรื่องปรัชญา ศาสนาหรือการเมือง กับการเรียนที่มุ่งให้ผู้เรียนแยกให้ออกว่า argument ไหน valid หรือ sound กับ argument ไหนไม่เป็นแบบนั้น

  2. นศ ปัจจุบันบางคนยังไม่มีพื้นฐานในการแยกแยะระหว่างความคิดเห็นและข้อเท็จจริง จึงคิดว่าน่าจะเริ่มจากตรงนี้ และเมื่อมีความเข้าใจพื้นฐานแล้วหลักการทำเข้าใจเกี่ยวกับการใช้เหตุผลนั้นๆจึงควรตามมา ทั้งนี้ทั้งนั้นสังคมไทยยังเป็นสังคมสีขาวหรือดำอยู่ เลยเห็นว่าวิชานี้ควรจะทำให้นักเรียนทั้งเข้าใจถึงการใช้เห็นผล และเปิดกว้างรับความคิดเห็นต่างๆอย่าง bias ให้น้อยที่สุดค่ะ

  3. ก่อนอื่นผมไม่ได้เรียนจุฬา เพราะฉะนั้นผมจึงไม่มีประสบการณ์โดยตรงเกี่ยวกับบริบทของการเรียนการสอนวิชานี้

    ๑. ถ้าจะให้นิสิตให้ประโยชน์ของวิชาการใช้เหตุผล คงจะต้องให้นิสิตเห็นประโยชน์ของการเป็นคนมีเหตุผล การเป็นคนใช้เหตุก่อน หรืออยากเป็นคนใช้เหตุผลก่อน พอไม่อยากเป็นคนมีเหตุผล ก็ไม่รู้ว่าจะเรียนการใช้เหตุผลไปทำไม

    แต่ผมไม่รู้ว่าทำยังไง วิธีทำให้อยากเป็นคนใช้เหตุผล ทำยังไงผมก็ไม่รู้

    ๒. การนิสิตบอกว่า วิชาไม่มีประโยชน์เพราะมันนามธรรมเกินไป มันดูแปลกๆ ถ้าเป็นแบบนั้น ฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ ก็คงไม่มีประโยชน์ ผมก็เลย งงๆ ว่าที่ไปแก้โดยการไปที่เนื้อหาของเรื่องแทน เป็นการแก้เพราะวิชามัน “นามธรรมเกินไป” จริงๆ หรือเปล่า

    สมมติว่ามันจริง เป็นไปได้ไหมว่าเนื้อหาของเรื่องจะเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากๆ อยากเช่น ท้องก่อนแต่งงาน จิ๊กจงทักเป็นลางร้าย แฟน หรือ เลือกที่เกี่ยวข้องกับวิชาเอกของเขา เป็นต้น

    ๓. ผมอ่านตรงที่ นิสิตบอกว่าวิชาการใช้เหตุผลไม่มีประโยชน์ แล้วรู้สึกสยองมากๆ อันนี้เรื่องใหญ่มากๆ เลยครับ

    • เรื่องนิสิตบอกว่าไม่มีประโยชน์นี่เรื่องจริงเลยครับ แล้ววัตถุประสงค์หลักก็คือ สอนให้เป็นคนมีเหตุผลแหละครับ แต่ก็ต้องเชื่อก่อนว่ามนุษย์ทุกคนมีความสามารถในการเข้าใจเหตุผลอยู่แล้วโดยธรรมชาติ แล้วมาฝึกเพิ่มเติมเอาในวิชานี้

  4. อาจารย์คะ หนูอยู่ปีสี่ กำลังจะจบปีนี้ ดังนั้นแบบสอบถามที่อาจารย์ได้รับก็น่าจะได้รับจากเพื่อนๆในรุ่นเดียวกันกับหนูนะคะ สำหรับหนูแล้ว หนูชอบวิชาการใช้เหตุผลนะคะ รู้สึกว่าเป็นศาสตร์ที่เน้นการใช้เหตุผล สอนให้เราคิดเป็น ใช้เหตุผลแยกแยะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน มากกว่าการใช้อารมณ์หรือสัญชาตญาณตัดสิน เนื้อหาบางส่วนที่ยากหรือลึกเกินไป เราอาจจะไม่ได้ใช้ประโยชน์จริงๆ แต่เนื้อหาเบื้องต้นที่สอนให้เราเป็นคนใช้เหตุผลเป็น สอนให้เราอธิบายความคิดของตนเองและคนอื่น หนูคิดว่าต่อจากนี้ไป หลังจากที่พวกหนูได้เรียนจบออกไปแล้ว จะเป็นประโยชน์อย่างมากในอนาคตแน่นอนค่ะ สาเหตุที่เพื่อนๆไม่ชอบวิชานี้ อาจเป็นเพราะเนื้อหายาก และใช้ระบบการคิดที่ต่างจากที่เราคุ้นเคยก็เป็นได้ค่ะ เป็นกำลังใจให้อาจารย์และภาควิชาด้วยนะคะ

  5. เป็นหนึ่งในวิชาที่ชอบมากที่สุดของคณะอักษรศาสตร์ค่ะ
    เป็นความประทับใจตอนปีหนึ่ง และยอมรับว่าวิชานี้ทำให้เข้าใจคำว่า “อักษรศาสตร์ไม่ได้เรียนแต่ภาษา” อย่างรู้ซึ้ง

    อันนี้ไม่ทราบว่าสำหรับคนอื่นว่าอย่างไร แต่สำหรับตัวหนูเองการใช้เหตุผลแบบปรนัย หรือที่หลายๆ พากันเรียกมันว่าวงกลมช่องเจ็ดสีเป็นอะไรที่ง่ายมาก แค่มีทักษะการคิดที่เป็นระบบต้องเข้าใจ แต่ปัญหาตอนที่เรียนไม่ได้อยู่ที่การคิด แต่เป็น “ภาษาไทย” ของตัวโจทย์มากกว่าค่ะ โจทย์บางข้อ ในหนังสือเรียน ในแบบฝึกหัด หรือในข้อสอบใช้ภาษากำกวมจนสามารถตีความได้สองแบบ ปัญหาคือตีความแต่ละวิธีมันให้ผลออกมาไม่เหมือนกัน บางทีตัวเองถูกเพื่อนผิด แต่พอฟังวิธีคิดของเพื่อนก็ “เอ๊ะ มันอ่านเป็นแบบนั้นก็ได้นี่น่า” หรือบางทีตัวเองผิด พอฟังเฉลยแล้วจึงรู้ว่าอ่านโจทย์ไปคนละแบบ ผลออกมาเลยกลายเป็นคนละแบบไป

    เรื่องการวิเคราะห์ข่าว บทความ ดูความน่าเชื่อถือนี่ดีมากๆ ได้ใช้จริงในชีวิตประจำวันแน่นอน และคิดว่าต่อให้คนที่บอกว่าเรียนไม่รู้เรื่องก็น่าจะได้ใช้โดยไม่รู้ตัว หลังจากเรียนวิชานี้อ่านบทความหลายๆ อย่างแล้วสะกิดใจจุดเล็กๆ น้อยๆ มากขึ้น รู้จักคิดวิเคราะห์มากขึ้น ไม่เชื่อทันที หาข้อมูลหลายๆ ทาง วิชานี้ทำให้เข้าใจว่า ไม่มีเรื่องอะไรที่น่าเชื่อถือ 100% หรอก มีแค่น่าเชื่อถือมากหรือน้อยเท่านั้น ทำให้หันมามองตัวเองว่าทำไมถึงเลือกเชื่อเรื่องนี้ หรือทำไมถึงเลือกไม่เชื่ออะไรเลย

    เรื่องโต้วาทีหรือเถียงนี่ ชอบนะคะ สนุกดี เป็นการเถียงกันด้วยเหตุผลจริงๆ เพียงแต่น่าเสียดาย พอไปอยู่ในสังคมจริง เหตุผลซึ่งจริงๆ แล้ว “ถูกต้อง” นั้น กลับถูกมองว่าเป็นการแถอย่างไม่มีเหตุผลไปเสียได้ พูดบ่อยๆ โดยมองเป็นคนขวางโลกไปเสียอีก นอกจากตอนเรียนซึ่งเปิดกว้างให้แสดงความเห็นแล้วเลยไม่ค่อยได้เอาวิชาความรู้นี้ไปเถียงกับใครเสียเท่าไหร่ ใครอยากคิดอย่างไรต้องปล่อยเขาไป

    ไม่แน่ใจว่าตัวเองได้อาจารย์ดีเลยชอบวิชานี้เรียนรู้เรื่องหรือเปล่า แต่นอกจากวิชานี้ มนุษย์กับศาสนาเทอมสอง เรียนกับอาจารย์ที่เพื่อนในเซคบ่นกันนักบ่นกันหนาว่าเรียนไม่รู้เรื่องก็รู้เรื่องและชอบวิชานั้นมากจริงๆ ค่ะ ทุกวันนี้ยังเก็บหนังสือเก็บชีทไว้อ่านอยู่เรื่อยๆ ทั้งสองวิชา น่าเสียดายที่เวลาไม่ลงตัวทำให้ไม่สามารถลงวิชาของเอกปรัชญา และหลายๆ วิชาน่าสนใจของคณะอักษรฯ ได้มากกว่านี้

    ขอบคุณอาจารย์ที่ให้ความรู้ประดับกายตั้งแต่เหยียบเข้าสู่รั้วจามจุรีจนก้าวออกมาแล้วนะคะ
    ยังคงยืนยันว่าวิชานี้เป็นวิชาพื้นฐานซึ่งอักษรศาสตร์ทุกคนควรจะได้เรียนค่ะ (ส่วนตัวคิดว่า นิสิตนักศึกษาทุกคนทุกคณะควรจะได้เรียนด้วยซ้ำ)

    • ขอบคุณมากๆครับ จะรวบรวมความเห็นทั้งหมดเพื่อนำไปปรับปรุง คิดว่าช่วยกันทำเพื่อรุ่นน้องอักษรของเราแล้วกันนะครับ 🙂

  6. หนูเป็นนิสิตที่เพิ่งจบเหมือนกันค่ะ ได้ทำแบบประเมินแล้วด้วย
    ค่อนข้างแปลกใจกับผลการประเมินนี้นะคะ เพราะเพื่อนๆรอบตัวชอบวิชาการใช้เหตุผลกันหมดเลยค่ะ โดยส่วนตัวหนูก็ได้เกรดวิชานี้แย่ (แย่สุดในtranscriptเลยค่ะ) แต่หนูก็ชอบเนื้อหาวิชามากนะคะ คิดว่าเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกคน รวมถึงวิชาปรัชญาทั่วไปด้วยค่ะ

    วิชาที่เพื่อนๆบ่นกันเยอะ(รวมถึงตัวหนูเองด้วย) คือวิชาภูมิศาสตร์กับวิชาคอมพิวเตอร์(ของภาคสารนิเทศ)มากกว่าค่ะ

    เป็นกำลังใจให้นะคะอาจารย์ วิชาของภาคปรัชญาคือวิชาที่เปลี่ยนโลกทัศน์และมุมมองต่างๆให้แก่หนูมากที่สุดในบรรดาทุกวิชาของคณะอักษรฯแล้วค่ะ

  7. สวัสดีครับ ผมเป็นศิษย์เก่าคณะ เอกอังกฤษครับ จบมาประมาณสิบปี

    พอดีกำลังคิดว่าอยากกลับมานั่งเรียนวิชานี้แบบที่ประเมินผลเป็นผู้เข้าฟังครับ ก็เลยเข้ามาหาข้อมูลแล้วก็เจอบล๊อกนี้

    ส่วนตัวผมเห็นว่าวิชาทุกวิชามีประโยชน์ทั้งนั้นนะครับ ผมจำได้ว่าตอนเรียนวิชานี้ช่วงแรกก็เข้าใจบทเรียนได้โอเค แต่พอช่วงหลังๆ เริ่มงง และยังจำข้อสอบปลายภาคบางข้อได้อย่างฝังใจ (จำได้ข้อหนึ่งที่เปรียบประเทศเป็นเรือ คนในประเทศเป็นลูกเรือ ช่วยกันบังคับเรือไปยังจุดหมายปลายทาง อะไรทำนองนี้) ตอนนั้นไม่รู้จะตอบอะไร ตอนนี้ถ้าได้อ่านคำถามเต็มๆ ก็ยังไม่รู้จะตอบได้ไหม (คำตอบเกี่ยวกับการไม่มีประชาธิปไตยบนเรือเปล่าครับ ลูกเรือไม่มีโอกาสเลือกกัปตันหรือเปล่า) แล้วก็ด้วยความที่ไม่รู้ว่าจะตอบอะไรเนี่ยแหล่ะ เลยอยากกลับมานั่งเรียนใหม่

    สำหรับผมคิดว่าวิชานี้มีประโยชน์ในการใช้ชีวิตประจำวัน อย่างน้อยบทเรียนในช่วงต้นๆ (ก่อนที่จะเป็นการอ้างเหตุผลแบบที่เข้าใจยากๆ แล้วผมงง) ก็ช่วยให้สามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีระเบียบทางความคิด และส่วนหนึ่งคิดว่าช่วยปลูกฝังนิสัยการตั้งคำถามกับสิ่งที่กำลังเผชิญอยู่ตรงหน้า และไม่ค่อยทำตามอะไรที่เห็นว่าไร้เหตุผลที่ดี

ส่งความเห็นที่ notafullbaht ยกเลิกการตอบ

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.