การเขียนบทความทางปรัชญา

ข้อเสนอแนะในการเขียนบทความทางปรัชญา

โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์

การเขียนบทความปรัชญาเป็นการแก้ปัญหา

เราจะเข้าใจลักษณะของการเขียนบทความทางปรัชญาได้ดียิ่งขึ้น ถ้าเราเข้าใจว่าการเขียนนี้เป็นการแก้ปัญหาแบบหนึ่ง สิ่งที่เราเขียนก็คือแนวทางในการแก้ปัญหานั่นเอง งานเขียนของนักปรัชญาตั้งแต่นักปรัชญาผู้เรืองนามเช่นเพลโต จนมาถึงแบบฝึกหัดของผู้เริ่มเรียนปรัขญาใหม่ๆ ก็เป็นเช่นนี้ทั้งสิ้น คือมีปัญหาอยู่ มีความสงสัยว่าปัญหานี้จะแก้ได้อย่างไร และมีความพยายามในการเสนอว่าปัญหานี้น่าจะแก้อย่างนี้อย่างนี้

ปัญหาของเพลโตก็อย่างเช่น มนุษย์สามารถมีความรู้ที่เที่ยงแท้ถาวรได้อย่างไร ทีนี้เพลโตเชื่อว่า ข้อมูลที่เราได้จากประสาทสัมผัสนั้นไม่สามารถให้ความเที่ยงแท้ถาวรได้ เพราะข้อมูลเหล่านี้เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา (เช่นข้อมูลในขณะนี้อาจบอกว่า คลีโอพัตราเป็นคนสวย แต่เมื่อเวลาผ่านไปและคลีโอพัตราแก่ตัวลง ข้อมูลนี้ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นจริงเสมอไป) ดังนั้นปัญหาของเพลโตจึงอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรเขาจึงหาหลักของความรู้ที่แท้ได้ถ้าไม่ใช่ทางประสาทสัมผัส ทางออกของเขาก็คือว่า เขาถือว่าแหล่งของความรู้ที่แท้ต้องไม่มาจากประสาทสัมผัส แต่มาจากความคิดโดยตรง และสิ่งที่เราคิดถึงได้โดยตรงก็ไม่ใช่สิ่งในโลกนี้ ที่เรามองเห็นได้ หรือใช้ประสาทสัมผัสไปรับรู้ได้ แต่ต้องเป็นสิ่งที่ไม่อยู่ในโลกนี้และเป็นสิ่งที่ประสาทสัมผัสรับรู้ไม่ได้ นอกจากนี้ยังต้องมีความเที่ยงแท้ถาวร ไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอีกด้วย ด้วยเหตุนี้เพลโตจึงเสนอว่า มีโลกของแบบต่างหากจากโลกนี้ ที่เป็นต้นตอของความรู้อันเที่ยงแท้ของมนุษย์

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เราเคยพูดกันมาตั้งแต่เมื่อเราพูดกันเรื่องเพลโต ประเด็นคือว่าเราไม่ได้กำลังพูดเรื่องความคิดของเพลโตกันตอนนี้ แต่เรากำลังเอาความคิดของเขาเป็นตัวอย่างมาช่วยให้เราเข้าใจลักษณะของการเขียนงานทางปรัชญา เราลองสังเกตกระบวนการคิดของเพลโตดู เขาพบว่ามีปัญหาว่ามนุษย์สามารถมีความรู้ที่เที่ยงแท้ถาวรได้อย่างไร แต่ทำไมเขาถึงไม่ถามตัวเขาเองว่า มนุษย์สามารถมีความรู้เช่นว่านี้ได้หรือไม่? เราก็เข้าใจว่าเพลโตเชื่อมั่นว่า มนุษย์มีความรู้เช่นนี้แน่นอน เช่นความรู้ทางเรขาคณิต ซึ่งดูเผินๆเหมือนกับขึ้นอยู่กับประสาทสัมผัส แต่จริงๆไม่ใช่ เพราะความรู้ทางเรขาคณิตไม่เปลี่ยนแปลง ถึงคลีโอพัตราจะแก่ลงเพียงใด หรือจะตายไปเลยก็ตาม แต่ทฤษฎีบททางเรขาคณิตก็ยังอยู่ (เช่น เส้นตรงสองเส้นตัดกัน มุมตรงข้ามย่อมเท่ากัน) แต่เมื่อความรู้ที่แท้เป็นไปได้อย่างนี้ ปัญหาของเพลโตก็คือว่า มันเป็นไปได้อย่างไร?

เราพบว่า เพลโตกำลังสงสัยว่าถ้าของอย่างหนึ่ง เช่น ก เป็นอย่างนี้ ของอีกอย่างเช่น ข ก็จะต้องเป็นอย่างนั้นแน่ๆ แต่สมมติว่าการที่ ข เป็นอย่างนี้มันค่อนข้างขัดแยังกับสายตา ก็ย่อมเกิดปัญหาว่า ข เกิดขึ้นได้อย่างไรนั่นเอง ปัญหาทำนองนี้ก็น่าจะเคยเกิดขึ้นในชีวิตของคุณบ่อยๆ เช่นคุณอาจสงสัยว่า นภพรเพื่อนของคุณจะไปเป็นแฟนกับสมบัตินิสิตคณะวิศวะฯที่มาหานภพรที่กลุ่มบ่อยๆได้อย่างไร เพราะสมบัติก็ไม่ได้รูปหล่ออะไร แล้วการเรียนก็ธรรมดาๆ ปัญหาแบบนี้ก็คล้ายๆกับปัญหาของเพลโตนั่นเอง (จะเห็นได้ว่าปรัชญาไม่ใช่วิชาที่สูงส่งอะไร เพราะเอาเรื่องเพื่อนมีแฟนมาเป็นตัวอย่างก็ยังได้) สมมติคุณเห็นนภพรกับสมบัติเดินด้วยกันบ่อยๆ และเพื่อนๆในกลุ่มก็มักแซวว่าทั้งคู่เป็นแฟนกัน และนภพรเองก็ไม่ปฏิเสธอะไรมากเวลาถูกเพื่อนแซวเรื่องนี้ แต่คุณรู้จักนภพรดีว่าเธอเป็นคนค่อนข้างพิถีพิถัน ออกจะชอบความสมบูรณ์แบบ (perfectionist) ปัญหาแบบเพลโตก็เกิดขึ้น คือถ้า ก เป็นอย่างนี้ (นภพรไม่ปฏิเสธว่าเป็นแฟนกับสมบัติ) ข ต้องเกิดขึ้นแน่นอน (คือทั้งคู่เป็นแฟนกันจริง) แต่ ข นี้ค้านกับสายตา (เพราะสมบัติเป็นคนธรรมดาๆ แต่นภพรทั้งสวย ทั้งเรียนเก่ง ฯลฯ) ปัญหาของคุณก็คือว่า มันเป็นไปได้อย่างไร?

ทีนี้สมมติต่อไปว่า คุณยังไม่มีโอกาสได้ไปถามนภพรตรงๆว่า เหตุใดเธอจึงเลือกสมบัติมาเป็นแฟน คุณก็ต้องคิดไปตามเหตุผลของคุณเอง และจากข้อมูลต่างๆที่คุณมี ว่าทำไมนภพรจึงยอมเป็นแฟนกับสมบัติคนนี้ได้ สิ่งที่คุณกำลังทำตอนนี้ก็คือคุณกำลังแก้ปัญหานั่นเอง สมมติคุณคิดว่า สาเหตุที่นภพรเป็นแฟนกับสมบัติน่าจะเป็นเพราะสมบัติเป็นคนดี มีเมตตา และนภพรน่าจะเป็นคนชอบแบบนี้ ก็แสดงว่าคุณมีแนวความคิดแบบหนึ่ง แต่สมมติเพื่อนของคุณอีกคนหนึ่ง คือรัศฎา เสนออีกอย่างว่า สาเหตุน่าจะได้แก่การที่สมบัติกับนภพรเคยทำบุญมาด้วยกันแต่ชาติปางก่อน เมื่อคุณคุยกับรัศฎา ก็เป็นไปได้มากว่าจะมีการถกเถียงอภิปรายกัน คุณก็มีเหตุผลที่สนับสนุนความคิดคุณ เป็นเหตุผลที่คุณยอมรับจึงทำให้คุณเชื่อว่าสาเหตุนี้น่าจะถูกต้อง รัศฎาก็มีเหตุผลของเขา (เช่น ถ้าไม่ใช่บุพเพสันนิวาสแล้ว คู่นี้จะมาเจอกันได้อย่างไร สมบัติอาจเอ็นติดมช. แล้วคู่นี้อาจไม่มีวันเจอกันเป็นแฟนกันเลยตลอดชีวิต) การถกเถียงกันเช่นนี้เป็นธรรมดาของการแก้ปัญหาปรัชญา

อย่างไรก็ตาม ปัญหาปรัชญาแบบของเพลโต กับปัญหาเรื่องนภพรกับสมบัติมีข้อแตกต่างที่สำคัญมากอยู่ประการหนึ่ง คือในกรณีของนภพรนั้นคุณไปถามเขาได้ตรงๆว่าทำไมเธอถึงเลือกนายนี่มาเป็นแฟน แต่ในกรณีของปัญหาปรัชญาเราทำอย่างนั้นไม่ได้ เพราะไม่มีใครให้ถาม เราไม่สามารถไปถามเส้นตรงได้ว่า “นี่เส้นตรง เธออยู่ในโลกของแบบหรือเปล่า หรือเธอเป็นแค่รอยดินสอบนกระดาษเท่านั้น” พูดง่ายๆก็คือปัญหาปรัชญาไม่มีใครรู้ว่า คำตอบที่ถูกเป็นอย่างไร ต่างฝ่ายก็มีแนวคิด หรือ “ทฤษฎี” ของตนที่ทำให้ตนเชื่อว่าแนวคิดนี้น่าจะถูกต้อง

แต่ถึงจะมีข้อต่างกันเช่นนี้เราก็ไม่ควรมองข้ามส่วนที่เหมือนกันไป เวลาคุณเขียนบทความปรัชญา ให้คุณนึกว่าคุณกำลังแก้ปัญหาเหมือนกับที่คุณเคยแก้ปัญหาเรื่องนภพร เพียงแต่ว่าปัญหาปรัชญามันยากกว่า และไม่มีใครที่รู้จริงรู้แน่ให้ถามเท่านั้นเอง สิ่งเดียวที่คุณพึ่งได้ในท้ายที่สุดก็คือความคิดและเหตุผลของตัวคุณเอง

หาปัญหาได้อย่างไร

เมื่อการเขียนบทความปรัชญาเป็นการแก้ปัญหา สิ่งแรกที่คุณต้องมีหรือหาให้เจอก่อนจะลงมือเขียนได้ก็คือ คุณต้องหาปัญหาให้พบเสียก่อน ขั้นตอนนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง นักปรัชญาที่มีชื่อเสียงหลายคนเป็นผู้ที่พบปัญหาดีๆ หรือคำถามดีๆ ที่ยังไม่เคยมีใครถามมาก่อน (เช่นเดวิด ฮิวม์นักปรัชญาชาวสก๊อต ถามคำถามว่า “เรารู้ได้อย่างไรว่าพรุ่งนี้พระอาทิตย์จะขึ้น?” ทีนี้เราอาจจะมองคำถามนี้ว่า silly หน่อยๆแต่ถ้าพิจารณาให้ดีๆพบว่าตอบไม่ง่ายเลย – ย้ำ ไม่ง่ายเลย) แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องเป็นนักปรัชญาดังๆถึงจะตั้งคำถามดีๆได้ เพราะคำถามของเราไม่จำเป็นต้องเป็นคำถามกว้างๆเช่นเรื่องพระอาทิตย์จะขึ้นหรือจะไม่ขึ้น แต่อาจเป็นคำถามเกี่ยวกับเรื่องรอบตัวเราก็ได้ เช่น “สิทธิมนุษยชนเหมาะกับคนไทยและวิถีชีวิตแบบไทยๆหรือไม่” หรือ “การเรียนการสอนแบบเน้นตัวผู้เรียน เน้นการถามคำถาม การค้นคว้าดีกว่าหรือแย่กว่าการเรียนแบบท่องจำอย่างไร เพราะเหตุใด?” จะเห็นได้ว่าคำถามแบบนี้ไม่มีคำตอบที่ถูกต้องตายตัว แต่เป็นคำถามปลายเปิดที่เปิดโอกาสให้ผู้ตอบใช้ความคิด ใช้จินตนาการ ใช้เหตุผล เพื่อหาคำตอบที่ “ดีที่สุด” ซึ่งก็เป็นธรรมดาที่คำตอบที่เราเชื่อว่าดีที่สุด อาจไม่ใช่เช่นนั้นในสายตาของคนอื่น สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือการอภิปรายกัน ทีนี้การอภิปรายไม่เหมือนกับการทุ่มเถียงกันหรือการทะเลาะวิวาท เพราะต่างฝ่ายก็อยากจะหาทางออกที่รับได้ทั้งคู่ ไม่ใช่ว่าต่างฝ่ายต่างมุ่งเอาชนะกัน

ปัญหาทุกอย่างจะไม่สามารถหามาได้ถ้าเราไม่รู้จักสงสัย ความเป็นคนช่างสงสัยจะทำให้เรามีปัญหาต่างๆอยู่ในใจโดยธรรมชาติ ทีนี้ทำอย่างไรเราจึงจะเป็นคนช่างสงสัย ระบบการศึกษาในปัจจุบันของไทยดูไม่ค่อยจะให้ความสำคัญแก่การเป็นคนช่างสงสัยมากนัก แต่เราก็เอาชนะปัญหานี้ได้เพราะการสงสัยในสิ่งรอบตัวเป็นคุณสมบัติที่เรามีมาตั้งแต่เด็ก เราเพียงแต่ย้อนกลับไปถึงเวลาที่เราสงสัยเรื่องราวต่างๆว่าเป็นมาได้อย่างไร ฯลฯ เท่านั้น การมีพื้นความรู้ก็มีส่วนสำคัญเพราะจะช่วยให้เราสามารถสงสัยในประเด็นที่มีผู้เสนอไว้ก่อน หรือสงสัยว่ายังมีอะไรที่น่าจะรู้อีก หรือว่าที่มีคนอื่นว่าไว้อย่างนั้นอย่างนี้เกี่ยวกับเรื่องต่างๆ เราเห็นด้วยหรือไม่ แต่จะอย่างไรก็ตาม การมีพื้นความรู้ถึงจะมากเพียงใด ก็ไม่เท่ากับการมีคุณสมบัติเป็นคนช่างสงสัย ช่างคิด ช่างถกเถียง ซึ่งเป็นคุณสมบัติของผู้เรียนปรัชญาที่ดี

ตัวอย่างเช่น เราอาจสงสัยว่า ที่เพลโตคิดเรื่องโลกของแบบนั้น มันเป็นไปได้จริงๆหรือ หรือว่าแบบของเพลโตเป็นเพียงภาพในใจ หรือเป็นเพียงจินตนาการของเพลโตเอง แบบที่ว่านี้มีอยู่จริงๆ และเป็นจริงเสียยิ่งกว่าก้อนหินหรือภูเขาหรือ?

เมื่อได้ปัญหามาแล้วก็ต้องหาวิธีการเสนอทางแก้

เมื่อเราได้ปัญหามา สิ่งที่เราทำต่อไปก็คือหาทางแก้ปัญหานั้น สมมติว่าเราสนใจศึกษาความคิดของเพลโต เราอาจคิดว่าปัญหาเรื่องโลกของแบบนั้น น่าจะแก้ได้โดยการเน้นย้ำไปที่สามัญสำนึกของเราที่บอกเราว่า สิ่งที่ตาเห็นได้ หูได้ยิน จมูกได้กลิ่น ฯลฯ เท่านั้นจึงจะเป็นความจริง เพราะฉะนั้นโลกของแบบไม่มีอยู่จริง เพราะรับรู้ไม่ได้ ทางแก้ของเราต่อปัญหาปรัชญาก็คือการเสนอความคิดของเราเองว่า ปัญหานั้นจะแก้ได้อย่างไร ทางแก้ของเรานี้ย่อมเป็นของเรา คือเราคิดเอง เราเชื่อว่าคำตอบนี้เป็นคำตอบที่ถูกต้อง สิ่งสำคัญก็คือเราต้องเขียนเพื่อชักจูงใจ เพื่อโน้มน้าวใจผู้อ่านให้หันมาเชื่อแบบเดียวกับเรา หัวใจของงานเขียนปรัชญาอยู่ตรงนี้นี่เอง คือการพยายามเปลี่ยนความเชื่อของผู้ฟังหรือผู้อ่านงานของเรา จะเห็นได้ว่าการบอกอะไรเกี่ยวกับสิ่งที่ทุกคนเชื่อกันอยู่แล้ว ดูไม่ค่อยเป็นงานทางปรัชญาเท่าใด เช่นถ้าคุณเขียนบทความเพื่อเสนอว่า นิสิตจุฬาฯมีผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย แล้วก็ให้ตัวเลขมาว่ามากกว่าแค่ไหน สัดส่วนนี้เปลี่ยนแปลงอย่างไรในหลายๆปีที่ผ่านมา และเริ่มเปลี่ยนจากการมีนิสิตชายมากกว่า มาเป็นนิสิตหญิงมากกว่าในปีใด บทความเช่นนี้ก็มีประโยชน์อยู่ในการให้ข้อมูล แต่ในวิชาปรัชญาเราไม่ต้องการเพียงแค่ข้อมูลเท่านั้น เรายังต้องการว่า ผู้เขียนทำอะไรกับข้อมูลเหล่านี้ด้วย ดังนั้น ถ้าคุณเสนอข้อมูลพวกนี้ พร้อมๆกับข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานของผู้หญิงในปัจจุบันที่สัดส่วนของผู้หญิงในตำแหน่งบริหารสูงๆมีน้อยกว่าผู้ชายอย่างเทียบไม่ได้ คุณก็เกิดปัญหาขึ้นมาทันทีว่า ทำไมผู้ชายถึงดำรงตำแหน่งบริหารสูงๆมากกว่าผู้หญิงมาก ทั้งๆที่ในมหาวิทยาลัยจำนวนนิสิตหญิงมีมากกว่านิสิตชาย? สถานการณ์เช่นนี้ถูกต้องหรือไม่? เท่านี้คุณก็ได้ปัญหาปรัชญาแล้ว และทางแก้ก็คือแนวความคิดของคุณเองว่าถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง พร้อมๆกับเหตุผลของคุณเอง

Plato
Plato

การเขียนบทความปรัชญาก็คือการเสนอทางแก้ปัญหานั่นเอง โดยคุณรวบรวมความคิดของคุณให้เป็นระบบ เป็นหัวข้อๆ เป็นย่อหน้าๆ เสนอเหตุผลพร้อมๆกับหลักฐานโดยทั้งหมดมุ่งไปที่การพยายามโน้มน้าวจิตใจของผู้อ่านให้เห็นด้วยกับความเชื่อมั่นของคุณว่าแนวทางของคุณเป็นแนวทางที่ถูกต้อง

ตัวอย่าง: เค้าโครงบทความเรื่อง “โลกของแบบมีจริงหรือ”

บทนำ ทฤษฎีแบบของเพลโตบอกว่า วัตถุต่างๆที่เป็นวัตถุประเภทหนึ่ง (เช่นมีสีแดง) มีคุณสมบัติเช่นนั้นเพราะว่าวัตถุเหล่านี้มีส่วนร่วมอยู่ในแบบของคุณสมบัตินั้นๆ (เช่นแบบของสีแดง) ซึ่งเป็นนิรันดร์และรับรู้ได้ทางปัญญาเท่านั้น

การเสนอปัญหา มีปัญหาอยู่ว่า แบบที่ว่านี้มีอยู่จริงหรือไม่ เพราะเพลโตบอกว่าแบบเหล่านี้ไม่สามารถรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัส

ทางแก้ บทความฉบับนี้มุ่งเสนอว่า แบบของเพลโตไม่มีอยู่จริง เพราะการยืนยันความมีอยู่ของสิ่งใดๆต้องอาศัยประสาทสัมผัส สิ่งนามธรรมเช่นความรัก ในท้ายที่สุดก็ย่อมมีที่มาจากประสาทสัมผัสอยู่ดี (เช่นประสบการณ์ที่เคยได้รับความรักจากพ่อแม่ จากแฟน ฯลฯ)

เหตุผล มีเหตุผลต่อไปนี้คือ (1) สามัญสำนึกบอกเราว่า การยืนยันว่าอะไรมีอยู่จริง ต้องยืนยันให้ได้ว่าสิ่งนั้นๆมองเห็นหรือไม่ มีเสียงหรือไม่ มีกลิ่นหรือไม่ จับต้องได้หรือไม่ หรือมีรสหรือไม่ ถ้าไม่ใช่ทั้งหมดย่อมไม่มีอยู่จริง

(2) สิ่งนามธรรมมีที่มาจากประสาทสัมผัสเพราะว่า ถ้าเรานึกถึงสิ่งนามธรรมขึ้นมาสิ่งหนึ่ง แล้วลองบรรยายว่าสิ่งนั้นมีลักษณะอย่างไร มีคุณสมบัติอย่างไร คำอธิบายของเราก็ต้องอ้างอิงประสบการณ์อยู่ดี

ขยายความเหตุผล (1)

ขยายความเหตุผลเรื่องสามัญสำนึกโดยเหตุผลของผู้เขียนเป็นหลัก แต่อาจมีการอ้างอิงนักปรัชญาที่คิดทำนองเดียวกันได้ หรืออ้างอิงความคิดนักปรัชญาที่เห็นอีกแบบ แล้วคุณก็โต้แย้งกับเขา

ขยายความเหตุผล (2)

ขยายความเหตุผลเรื่องสิ่งนามธรรมโดยเหตุผลของผู้เขียนเป็นหลัก แต่อาจมีการอ้างอิงนักปรัชญาที่คิดทำนองเดียวกันได้ หรืออ้างอิงความคิดนักปรัชญาที่เห็นอีกแบบ แล้วคุณก็โต้แย้งกับเขา

สรุป โลกของแบบของเพลโตไม่มีอยู่จริง

(ในบทสรุป คุณอาจให้ข้อคิดอะไรไปด้วยก็ได้)

คุณไม่จำเป็นต้องแบ่งบทความเป็นแบบที่เห็นนี้เป็นหัวข้อๆแยกออกจากกันก็ได้ แต่ควรจะพูดถึงส่วนต่างๆที่ให้ครบ พูดง่ายๆคือทำอย่างไรให้บทความของเราดึงดูดใจ น่าอ่านมากที่สุด

3 thoughts on “การเขียนบทความทางปรัชญา

  1. สนุกดีครับ ช่วยเสริม ทักษะ ความรู้ทางปรัชญา ของผมเอง ให้เคลียร์หรือเป็นระเบียบขึ้น ว่า กระบวนการให้เหตุผล ควรเริ่มจากความเชื่อยาก เพราะความเชื่อแบบสมบูรณ์ ย่อมไม่เกิดความสงสัยและหมดสนุกที่จะตั้งคำถามเพื่อค้นหาคำตอบ แต่คำตอบ ก็มิใช่คำตอบด้วยเพราะกระบวนหาคำตอบ เชื่อไม่ง่าย ฉะนั้นความมุ่งหวังทางปรัชญา จึงต้องการ แบบ และแบบที่ว่านั้น หาได้ยากในผัสสะที่ไม่ใช่ความคิด เพราะการถกเถียงด้วยภาษานั้นไปถึงแบบได้ ขณะที่กำลังนั่งเหม่อมองโลกเบื้องหน้า ก็ไม่อาจจะพบแบบของรูปหรือทรงได้ เหมือนที่ไม่มีทางเข้าใจความรักระหว่างสมบัติกับนภพร
    คุณsorajมีความเห็นอย่างไรบ้าง กลับสิ่งที่ผมทบทวนอยู่ ในเรื่องแบบกับความคิด เป็นความเข้าใจเกินขอบเขตทางประวัติศาสตร์ไหมครับ เพราะข้อจำกัดการที่ต้องมองย้อนหลัง ซึ่งผมแค่อยากรู้ว่า แบบที่เพลโตหมายถึง คือแบบที่ผมกำลังใช้อธิบายอยู่หรือไม่ ขอบคุณครับ

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.