ไมเคิล ดัมเมทท์กับสัจนิยมและปฏิสัจนิยม

ทรรศนะหนึ่งที่น่าสนใจมากและมีอิทธิพลในวงการปรัชญาภาษา ได้แก่เรื่อง semantic antirealism ของไมเคิล ดัมเมทท์ Semantic antirealism แปลเป็นไทยได้ว่า “ปฏิสัจนิยมเชิงอรรถศาสตร์” ซึ่งเป็นทรรศนะที่ถือว่า ไม่มีความเป็นจริงที่เป็นภววิสัยในเชิงอรรถศาสตร์

ก่อนที่เราจะเข้าใจประเด็นนี้ เราต้องพูดเกี่ยวกับสัจนิยมกับปฏิสัจนิยมเสียก่อน สัจนิยมหรือ realism คือทรรศนะที่ถือว่า มีความเป็นจริงอยู่ต่างหากจากจิตผู้คิดของเรา นั่นคือเป็นทรรศนะนี้เน้นเรื่อง “ความเป็นจริง” (reality) ของสิ่งต่างๆ โดยทั่วไปทรรศนะที่ขัดแย้งกับ realism ก็มักจะเป็น idealism ซึ่งถือว่า สิ่งต่างๆนั้นแท้ที่จริงแล้วเป็นเพียงภาพสะท้อนของจิต หรือเป็นผลงานสร้างสรรค์ของจิต (เช่นในปรัชญาของ Berkeley) เรื่องความแตกต่างระหว่างสองทรรศนะนี้เป็นสิ่งที่มีมาตลอดในอภิปรัชญา เปลโตจะถือว่า เป็นชาวสัจนิยมในกรณีของสิ่งต่างๆในโลกของแบบ (คือถือว่าเป็นจริงจริงๆ) ส่วนบรรดา materialist ทั้งหลายจะถือว่าเป็น realist ในกรณีของสิ่งต่างๆในโลกนี้

ส่วนคำว่า “ปฏิสัจนิยม” หรือ antirealism (บางทีเขียนว่า anti-realism) นั้นเป็นคำกลางๆ ที่ใช้เรียกทรรศนะต่างๆที่ขัดแย้งกับ realism นั่นคือ เราถือว่า idealism เป็น antirealism ทรรศนะหนึ่ง แต่ฝ่ายจิตนิยมเขาก็อาจอ้างได้ว่า ทรรศนะของเขาก็เป็นสัจนิยม เพราะเขาถือว่า จิตเป็นความจริงแท้ นั่นคือเขาไม่ได้ปฏิเสธความจริงแท้ เพียงแต่เขาบอกว่า ความจริงแท้ที่ว่านันไม่ใช่อะไรอื่นอกจากจิต

อย่างไรก็ตาม antirealism จะถือว่า ความเป็นจริงแท้นั้นไม่มีอยู่จริงอย่างเป็นภววิสัย (คือไม่ขึ้นกับผู้รับรู้) เป็นทรรศนะนี้ขัดแย้งและปฏิเสธสัจนิยมโดยตรง

ทีนี้ดัมเมทท์เสนอทรรศนะของเขาในบริบทของอรรถศาสตร์ นั่นคือเขากล่าวว่า มีประโยคบางประโยคที่ไม่สามารถตัดสินค่าความจริงได้ และเมื่อตัดสินค่าความจริงไม่ได้ เราก็บอกไม่ได้ว่าประโยคหรือประพจน์นั้นเป็นจริงหรือเป็นเท็จ และการที่ประพจน์นี้ไม่มีค่าความจริง เป็นคุณสมบัติของประพจน์นั้นเอง ตราบเท่าที่เรายังตรวจสอบไม่ได้ว่าประพจน์เป็นจริงหรือเท็จ ตราบนั้นเราก็ต้องรับว่าประพจน์นั้นๆไม่มีค่าความจริงอยู่ในตัว

การที่ประพจน์ไม่มีค่าความจริงฟังดูไม่เห็นแปลกอะไร แต่จริงๆแล้ว ดัมเมทท์กำลังเสนอความคิดที่สวนกระแส และเป็นความคิดที่รุนแรงมาก การที่ประพจน์ไม่มีค่าความจริงเมื่อเราไม่รู้ (หรือยังไม่รู้) ว่ามันเป็นจริงหรือเท็จ หมายความว่า เมื่อเรายังไม่รู้ ความเป็นจริงที่ประพจน์นั้นๆบ่งถึง ก็ย่อมตัดสินไม่ได้ไปด้วยว่าเป็นอย่างไร เนื่องจากภาษาสะท้อนโลก (หรือภาษาบรรยายสถานการณ์ได้ตรงกับโลก) การที่ประพจน์ใดประพจน์หนึ่งไม่มีค่าความจริงนั้น หมายความว่า ความเป็นจริงที่ภาษานั้นสะท้อนออกมา ก็ย่อมต้องถูก “แขวน” ไปด้วย คือในความเป็นจริง ความเป็นจริงที่ระบุโดยประพจน์ที่ตัดสินค่าความจริงไม่ได้นั้น จะระบุออกมาไม่ได้เลยว่าเป็นอย่างไร นั่นคือจะเป็นอะไรที่แขวนเอาไว้ ซึ่งแสดงว่าจะเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งก็ไม่ใช่ทั้งสิ้น หรือพูดให้ง่ายๆก็คือว่า หากเรามีประพจน์ที่บอกไม่ได้ว่าจริงหรือเท็จ ประพจน์นั้นก็ย่อมไม่มีค่าความจริง นั่นคือความเป็นจริงที่ประพจน์นั้นระบุถึง ไม่สามารถเกี่ยวข้องอะไรกับเราได้เลย เสมือนว่าความเป็นจริงนั้นไม่มีอยู่ (ความจริงจะพูดว่าไม่มีอยู่ก็ยังไม่ได้ เพราะหากไม่มีอยู่แบบตรวจสอบได้ (เช่นตรวจสอบได้ว่าเป็นเท็จ) ก็ย่อมทำให้ประพจน์มีค่าความจริงเป็นเท็จ แต่ในกรณีนี้เราพูดว่า ในกรณีของประพจน์ที่ตรวจสอบค่าความจริงไม่ได้ ความเป็นจริงที่เป็น truth condition ให้แก่ประพจน์นั้นๆ ไม่มีความหมาย ไม่มีบทบาทอะไรทั้งสิ้น)

ตัวอย่างหนึ่งที่จะทำให้เรื่องนี้ง่ายขึ้นก็คือว่า ปกติเรามักจะมีสามัญสำนึกว่า ประพจน์ใดๆก็ตามจะต้องเป็นจริงหรือเป็นเท็จอย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ (กฎสองค่าความจริง) แม้กระทั่งประพจน์ที่เรายังไม่รู้ว่าจริงหรือเท็จ เราก็ยังเชื่อว่า จริงๆแล้วมันต้องเป็นจริงหรือเป็นเท็จอย่างใดอย่างหนึ่ง ตัวอย่างเช่น

(1) มีมนุษย์คนหนึ่งหน้าตาเหมือนพิชญพงษ์ อาศัยอยู่ในเอกภพขนาน

“เอกภพขนาน” หรือ parallel universe ได้แก่เอกภพอีกระบบหนึ่ง ซึ่งอยู่คู่ขนานกับของเรา ที่นักฟิสิกส์บางกลุ่มบอกว่ามีอยู่จริง แต่ประเด็นของเราก็คือว่า เรายังไม่มีวิธีการใดที่จะตรวจสอบได้โดยวิธีการทางประสาทสัมผัส ว่า (1) เป็นจริงหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่า หากมีเอกภพขนานจริง (1) ก็ต้องเป็นจริงหรือเป็นเท็จอย่างใดอย่างหนึ่ง คือจะมีมนุษย์ที่หน้าตาเหมือนพิชญพงษ์ หรือไม่มี ไม่มีทางเป็นอย่างอื่นนอกจากนี้ แม้ว่าเรายังไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร แต่เราเชื่อว่า มันจะต้องเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งในสองอย่างนี้ แนวคิดนี้เรียกว่า “สัจนิยมเชิงอรรถศาสตร์” เนื่องจากถือว่า เงื่อนไขความจริงของประพจน์จะต้องมีอยู่หรือไม่มีอยู่อย่างใดอย่างหนึ่งโดยแน่ชัด นั่นคือมีความเป็นจริงอยู่ ที่ทำให้ (1) เป็นจริงหรือเท็จ โดยไม่ขึ้นกับว่า เรารู้ได้หรือไม่ได้

แต่ดัมเมทท์เสนอแนวคิดที่บอกว่า ไม่เป็นเช่นนั้น ดังนั้นทรรศนะของดัมเมทท์จึงเป็น “ปฏิสัจนิยมเชิงอรรถศาสตร์” นั่นคือ ดัมเมทท์บอกเราว่า เมื่อเราไม่รู้ว่า (1) เป็นจริงหรือเท็จ สถานการณ์ที่ (1) พูดถึงก็ย่อมบอกไม่ได้ว่ามีอยู่หรืไม่มีอยู่ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า แทนที่ดัมเมทท์จะคิดแบบชาวสัจนิยม ที่คิดว่าแม้ว่ามนุษย์จะไม่มีความรู้ (หรือยังไม่มีความรู้) ว่า (1) เป็นจริงหรือเท็จก็ตาม แต่ (1) จะต้องเป็นจริงหรือเป็นเท็จในตัวของมันอยู่แล้ว ไม่ขึ้นกับมนุษย์ แต่ดัมเมทท์บอกว่า ไม่เป็นอย่างนั้น (1) จะมีค่าความจริงเมื่อและต่อเมื่อเรารู้ว่ามันเป็นจริงหรือเท็จ ในเมื่อเรายังไม่รู้ ก็แสดงว่า (1) ไม่มีค่าความจริง นั่นคือสถานการณ์ที่ (1) ระบุถึงจะทำให้ประพจน์เป็นจริงหรือเท็จ จะขึ้นอยู่กับว่า เรารู้ได้หรือไม่ได้ว่าประพจน์นี้เป็นจริงหรือเท็จ พูดง่ายๆก็คือว่า สถานการณ์ของโลกขึ้นอยู่กับสภาพความรู้ของเรานั่นเอง

นิสิตลองคิดเรื่องนี้มากๆ แล้วเขียน comments

15 thoughts on “ไมเคิล ดัมเมทท์กับสัจนิยมและปฏิสัจนิยม

  1. สิ่งที่ดัมเมทท์เสนอนั้นคือความหมายของข้อความผูกกับความรู้ของมนุษย์ ถ้าข้อความใดที่มนุษย์สามารถมีความรู้ (อธิบายได้ว่าไม่มีทางรู้) ข้อความนั้นจะมีความหมาย ซึ่งค่อยข้างตรงกับสามัญสำนึกทั่วไปของเรา เรามักคิดว่าข้อความที่เราพูดนั้นตรงกับสิ่งที่เรารับรู้ได้ ข้อความที่เรายังไม่รู้เราก็มักคิดว่ามันไม่น่าจะเป็นจริงได้

    สำหรับดัมเมทท์ ข้อความที่เราไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นจริงหรือเท็จนั้น จะถือว่าไร้ความหมาย เช่น ข้อความ(1) ยังสงสัยว่าการไร้ความหมายในที่นี้คือเราเข้าใจไม่ได้เหมือนกับเสียงแอร์เลยหรือไม่ เพราะถ้าเทียบกับเสียงแอร์แล้วนั้น ข้อความ (1) ก็ยังดูเข้าใจได้ไม่ถึงกับไม่รู้เรื่องอะไรเลยแบบเสียงแอร์
    ดังนั้น ถ้าจะบอกว่าข้อความ(1) ไร้ความหมายไปเสียที่เดียวเลย ก็ดูจะขัดสามัญสำนึกอยู่เหมือนกัน เพราะเมื่อนำข้อความ (1) มาพูดสื่อสาร เราเองก็ยังพอสื่อสารเข้าใจได้

    แต่ถ้าจะลองปกป้องแนวคิดแบบดัมเมทท์ดู ก็ยังพอมีทางเป็นไปได้คือ อธิบายว่า ข้อความ (1) นั้น ดูเหมือนมีความหมายเพราะเรียงตามกฎไวยากรณ์ ซึ่งผู้ที่รู้กฎไวยากรณ์นั้น จะเข้าใจข้อความนี้ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ข้อความ(1) ไม่มีความหมายอย่างแท้จริง

    แต่การนำเอาความหมายไปฝากไว้กับความรู้นั้น เราต้องลงไปตั้งคำถามแบบญาณวิทยาด้วยหรือไม่ว่า ท้ายที่สุดแล้วเราสามารถรู้อะไรได้อย่างแท้จริงหรือไม่ และถ้าเรามีความแบบกลุ่มวิมัตินิยม ที่สงสัยความรู้แบบสุดโต่งเช่น เดวิด ฮิวม์ แล้ว ข้อความต่างๆเกือบทั้งหมดก็ยังไม่สามารถจะยืนยันว่าเป็นความรู้ได้ ถ้าเป็นเช่นนี้ ข้อความต่างๆก็ย่อมไร้ความหมายไปด้วยหรือไม่ ในประเด็นความรู้นี้ยังไม่ค่อยชัดเจนเท่าไรนักว่าต้องลงไปถึงระดับคำถามทางญาณวิทยาด้วยหรือไม่ ถ้าไม่แล้วเป็นความรู้แบบระดับใด

    เพื่อนๆหรืออาจารย์คิดว่าอย่างไรช่วยกันอธิบายด้วยนะค่ะ

  2. ประเด็นของ Dummett คือ verifiationism ซึ่งหมายความว่า หากตรวจสอบไม่ได้ว่าประพจน์เป็นจริงหรือเป็นเท็จ ก็ต้องสรุปว่าไม่มีความหมาย เช่นประพจน์ “ทศนิยมตำแหน่งที่สามหมื่นของค่าพายเท่ากับห้า” ในเมื่อแม้แต่คอมพิวเตอร์ที่ทรงพลังมากที่สุด ก็ยังคำนวณไม่ได้ว่าประพจน์นี้เป็นจริงหรือเป็นเท็จ ดังนั้น Dummett เลยเสนอว่า เนื่องจากประพจน์ดังกล่าวไม่มีความสัมพันธ์ใดๆกับเราเลย ประพจน์นี้จึงเรียกได้ว่าไม่มีความหมาย

    แต่การพูดเช่นนี้ต่างจากการทำเสียงหรือทำเครื่องหมายอะไรที่ไม่เป็นประพจน์ เช่น “กึ๋กกึ๋กกึ๋กกึ๋ก” เพราะว่า เราสามารถเข้าใจได้ว่า เราจะตรวจสอบทศนิยมตำแหน่งที่สองยกกำลังสามหมื่นได้อย่างไร เพราะเราเข้าใจ “ความหมาย” ของประพจน์นี้ได้ หากเราคิดว่า จะสร้างโปรแกรมที่จะสั่งคอมพิวเตอร์ให้เดินเครื่องคำนวณเรื่องนี้ได้อย่างไร แต่กรณีของ “กึ๊กกึ๊ก … ” ไม่มีความหมายเลย จุดที่แตกต่างกันก็คือว่า ในกรณีของค่าพาย เราเข้าใจว่าจะต้องทำอย่างไรเพื่อพิสูจน์ได้ว่าประพจน์นี้เป็นจริงหรือเท็จ ในขณะที่กรณีของ “กึ๊กกึ๊ก … ” ทำเช่นนี้ไม่ได้

    แต่ถ้าเผื่อว่าในข้อเท็จจริง ถึงแม้เราจะรู้ว่าในเชิงทฤษฎีแล้ว จะใช้วิธีคำนวณอย่างไร เพื่อให้ได้ตำแหน่งทศนิยมค่าพายที่พูดถึงนี้ แต่ถ้าหากว่าคอมพิวเตอร์ยังทำงานไม่ได้มากพอ เราก็มีเพียงแต่ “แนวทาง” ในการหาความหมายของประพจน์นี้เท่านั้น ไม่ใช่ตัวความหมายที่แท้จริง เพราะตัวความหมายที่แท้จริงอยู่ที่ “ค่าความจริง” ของประพจน์ แต่ “แนวทาง” ที่ว่านี้ไม่มีในกรณีของ “กึ๊กกึ๊ก … “

  3. (2) “ทศนิยมตำแหน่งที่สามหมื่อนของค่าพายเท่ากับห้า”

    ถ้าตามแนวคิดของ verification ไม่มีความหมายเพราะยังพิสูจน์หาค่าความจริงไม่ได้ แม้ว่าจะรู้วิธีพิสูจน์ในการหาค่าความจริง

    แต่การทีเราจะสามารถเข้าใจและรู้วิธีการหาค่าความจริงของประพจน์ (2)

    ก็ไม่หมายความเรารู้ความหมายของประพจน์ก่อนแล้วหรอกหรือ เราจึงจะสามารถบอกได้จะหาค่าความจริงให้แก่ประพจน์ได้อย่างไร

    ดังนั้น เรารู้ความหมายของประพจน์แล้ว จากนั้นจึงไปหาค่าความจริง

    ถ้าเป็นแบบนี้ประพจน์ก็ไม่ได้ไร้ความหมายตั้งแต่แรกรึป่าวค่ะ

  4. ในกรณีของประโยคทางคณิตศาสตร์ หากมีประโยคหนึ่งที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจริงหรือเท็จ นักคณิตศาสตร์จะสรุปว่า ประโยคหรือประพจน์นั้นไม่มีความหมาย เพราะสมมติฐานของวิชาคณิตศาสตร์เป็นอย่างนั้น

    ทีนี้ “ตำแหน่งทศนิยมที่สองยกกำลังสามหมื่นของค่าพายเท่ากับห้า” (ไม่ใช่ตำแหน่งที่สามหมื่น เพราะตำแหน่งนี้พิสูจน์ได้นานแล้ว เพียงแต่ต้องไปถามนักคณิตศาสตร์ที่ทำงานด้านนี้) อันที่จริงก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นประพจน์ที่ “พิสูจน์ไม่ได้” เลย เพราะนักคณิตศาสตร์รู้วิธีพิสูจน์ ซึ่งก็คือคิดวิธีคำนวณหาค่านี้ เพียงแต่ว่าค่านี้มันห่างไกลจากความสามารถของมนุษย์ หรือของคอมพิวเตอร์ที่มีพลังมากที่สุด

    ซึ่งแตกต่างจากประพจน์ที่หาค่าความจริงไม่ได้เลยในแง่หนึ่ง เพราะหากไม่มีทางพิสูจน์ค่าความจริงไม่ได้เลย ก็ย่อมหมายความว่า ไม่มีความหมาย แต่ประพจน์เกี่ยวกับค่าพายนี้ เพียงแต่ “ดูเหมือน” ว่ามีความหมาย เนื่องจากเราหาวิธีที่จะพิสูจน์ได้ในท้ายที่สุด เพียงแต่ใช้เวลามากหน่อยเท่านั้น

    อย่างไรก็ตาม ดัมเมทท์น่าจะคิดว่า แม้แต่ประพจน์เรื่องค่าพาย ก็ไม่มีความหมายที่แท้จริง เพราะความหมายจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเรา *รู้* ว่าประพจน์นี้เป็นจริงหรือเท็จ ซึ่งหากยังไม่รู้ก็แปลว่ายังไม่มีความหมาย ซึ่งการพูดเช่นนี้แตกต่างจากการพูดว่า เรามีวิธีที่จะรู้ความหมายในอนาคต แต่หากอนาคตที่ว่านั้นไกลมากๆ จนไม่มีควาหมายอะไรแก่เรา ก็ไม่ต่างอะไรจากไม่มีความหมายเหมือนกัน

  5. อันนี้สงสัยมากเลยครับ เพราะว่าในหนังสือของอาจารย์ หน้า 318 หัวข้อ “วิพากษ์ทรรศะของดัมเมทท์” บรรทัดที่ 4 อาจารย์เขียนว่า “ปฏิสัจนิยมเชิงอรรถศาสตร์ คือทรรศนะที่ดัมเมทท์เสนอ ซึ่งบอกว่า ประพจน์ที่เราไม่สามารถตัดสินยืนยันได้ว่าจริงหรือเท็จ…

    “ไม่สามารถมีค่าความจริงอย่างใดอย่างหนึ่งแม้ว่าจะมีความหมาย”

    แต่ที่อ่านสิ่งที่อาจารย์โพส หากไม่สามารถรู้ว่าจริงหรือเท็จได้ ก็เท่ากับว่าประพจน์นั้น “ต้องไม่มีความหมาย” ไม่ใช่เหรอครับ อยากให้อาจารย์ตรวจสอบประโยคนี้ในหนังสือหน่อยครับ

    ผมเห็นว่าแม้ว่าเราจะไม่สามารถยืนยันว่ามีเอกภพขนานจริงหรือไม่ แต่เราสามารถเข้าในมโนทัศน์เรื่องเอกภพขนานได้ ซึ่งความเข้าใจนี้เกิดขึ้นในจิตของมนุษย์ ที่ปฏิสัจนิยมยอมรับ ความสามารถที่จะ “เข้าใจ” เรื่องที่ยังไม่สามารถพิสูจน์ให้เชื่อมโยงกับโลกภายนอกได้นั้น เกิดมาจากการใช้เหตุผลของเรา งั้นเท่ากับว่าการใช้เหตุผลของเราไม่มีความหมายด้วยหรือไม่ ถ้าเหตุผลนั้นไม่สามารถเชื่อมโยงกับโลกภายนอกได้ งั้นดัมเมทท์จะอธิบายการใช้เหตุผลของมนุษย์ในการเข้าใจสิ่งซึ่งไม่ได้เชื่อมกับโลกภายนอกได้อย่างไร ในเมื่อเหตุผลก็เป็นสภาพความรู้ของเราอย่างหนึ่งเหมือนกัน

    ในแง่นี้ยังสามารถคิดถึงสิ่งซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นคุณสมบัติของจิตเราล้วนๆ ที่ไม่ได้เชื่อมโยงกับโลกภายนอกโดยตรง เช่นการสงสัย การหลับฝัน ภาพหลอน เป็นต้น คุณสมบัติเหล่านี้ของมนุษย์ ดัมเมทท์จะถือว่าไร้ความหมายเลยหรือครับ

  6. ต้องขอบคุณเปี๊ยกที่ยกเรื่องนี้มาพูดอีก ซึ่งทำให้เราเคลียร์เรื่องนี้ให้กระจ่างมากขึ้น ผมขอยกคำอธิบายความคิดของ Dummett ที่ปรากฏใน Internet Encyclopedia of Philosophy (http://www.iep.utm.edu/d/dummett.htm) มาดังนี้

    We are now in a position to consider the “generic line of argument” that Dummett considers can be advanced by the anti-realist. This argument makes use of the Wittgensteinian principle that meaning is use. Dummett takes this to mean that there can be no element in linguistic understanding that is not manifested in the way a word is used in practice. When we recognize that a sentence is true, we are manifesting that we have a certain ability — the ability to recognize that the sentence has been verified. The same holds when we recognize that a sentence has been decisively refuted. According to an anti-realist meaning-theory, in which justification is central, ability to recognize when a sentence has been decisively confirmed or refuted is constitutive of knowing the meaning. (Dummett terms this a ‘justificationist’ semantics). According to the realist, knowledge of how a sentence may be confirmed or refuted is answerable to a prior knowledge of the meaning.

    เรื่องของเรื่องก็คือว่า คราวก่อนๆที่ผมคิดว่า ประพจน์่ที่ไม่สามารถพิสูจน์ความจริงได้ เป็นประพจน์ที่ไม่มีความหมาย เป็นการคิดจากมุมมองของฝ่ายที่เชื่อมั่นใน “กฎสองค่าความจริง” ที่บอกว่าประพจน์ต้องเป็นจริงหรือเท็จเท่านั้น ไม่อย่างนั้นไม่มีความหมาย แต่จริงๆแล้ว ในความคิดแบบของดัมเมทท์ เราจำเป็นต้องยอมรับว่า มีประพจน์ที่มีความหมาย แม้ว่าจะตัดสินไม่ได้ว่าจริงหรือเท็จ ซึ่งเรื่องนี้ฝ่าย realist ไม่เห็นด้วย ประพจน์เช่น “มีคนๆหนึ่งหน้าตาเหมือนพิชญพงษ์อยู่ในเอกภพขนาน” ตัดสินไม่ได้ว่าจริงหรือเท็จ เนื่องจากฝ่าย realist เชื่อว่า ประพจน์ต้องเป็นจริงหรือเท็จ ดังนั้นเขาจึงสรุปว่า ประพจน์นี้ต้องเป็นจริงหรือเท็จอยู่แล้วในตัว แม้ว่าเราจะไม่มีทางไปพิสูจน์มันได้ก็ตาม

    แต่ฝ่าย antirealist จะถือว่า ประพจน์ที่พิสูจน์ไม่ได้เช่นนี้ เป็นประพจน์ที่มีความหมาย (เพราะเรารู้เรื่องว่ามันหมายความว่าอย่างไร ตามที่ทับทิมกับเปี๊ยกเสนอมา) แต่เนื่องจากพิสูจน์ไม่ได้ ก็เลยเป็นประพจน์ที่ไม่จริงและไม่เท็จ

    ดังนั้น ที่ผมโพสไปเกิดจากความเข้าใจผิดไป ส่วนที่เขียนในหนังสือนั้นถูกต้องแล้ว ใครที่สนใจเรื่องนี้มากๆ ลองเข้าไปอ่านที่ Internet Encyclopdia อีกครั้งหนึ่ง

    เรื่องทั้งหมดอยู่ที่ว่า ดัมเมทท์เดินตามแนวทางของวิตเกนสไตน์ที่ถือว่า ประพจน์จะมีค่าความจริงได้ก็ต่อเมื่อเกี่ยวข้องกับชีวิตของเรา หรือเราสามารถ “ใช้” ประพจน์นั้นได้ แต่ประพจน์แบบพิชญพงษ์อยู่ในเอกภพขนาน หรือค่าพายตำแหน่งที่สองยกกำลังสี่หมื่น ไม่เกี่ยวอะไรกับชีวิตของเราเลย ดังนั้นแม้จะมีความหมาย (เพราะว่า สามารถแปลเป็นภาษาอื่นๆได้) แต่ก็ไม่มีค่าความจริง ซึ่งเป็นทรรศนะที่ฝ่าย realist ปฏิเสธ

  7. สรุปว่ามันมีความหมายแต่พิสูจน์ไ่ม่ได้ แล้วมันก็เลยไม่เกี่ยวกับเรานะครับ

    รู้สึกจะต่างจากที่เลคเชอร์มาจากในคลาส เกือบจะเข้าใจคลาดเคลื่อนแล้วเชียว…

  8. สรุปก็คือ ฝ่าย antirealist ถือว่า เป็นไปได้ที่จะมีประพจน์ (พอเป็นประพจน์ก็แสดงว่ามีความหมาย) ที่ไม่มีค่าความจริง ซึ่งก็ถือเช่นนี้เท่ากับปฏิเสธกฎสองค่าความจริงของอริสโตเติล ส่วนเรื่องนี้ฝ่าย realist ไม่เห็นด้วย

  9. สำหรับดำเมทประพจน์ที่มีความหมายคือประพจน์ที่สามารถพิสูจน์ว่าจริงหรือเท็จได้ ทให้สงสัยว่า สิ่งที่เชื่อว่าจริง คือ ที่เชื่อว่าจริงไม่ใช่เพราะพิสูจน์ได้ว่าจริงแต่เป็นเพราะพิสูจน์ว่าเท็จไม่ได้ เพราะถ้าพิสูจน์ว่าเท็จแล้วสิ่งนั้นจะใช้ต่อไปไม่ได้อีกจะถือว่าเป็นสิ่งที่มีความหมายหรือไม่ เช่น ข้อความที่เป็นความเชื่อพื้นฐานของทฤษฎีของดำเมทเอง เราได้แต่เชื่อว่าทฤษฎีนี้จริงเท่านั้น เพราะถ้าพิสูจน์ได้ว่าทฤษฎีนี้เท็จแล้วทฤษฎีนี้จะใช้ต่อไปไม่ได้ หรือกฎเรื่องความขัดแย้งในตัวเองของตรรกวิทยาก็เป็นสิ่งที่เราต้องเชื่อว่ามันเป็นจริงเท่านั้น ไม่สามารถพิสูจน์ว่าเท็จ เพราะถ้ามันเท็จมันจะใช้ต่อไปไม่ได้อีก อะไรในทำนองนี้ตามทรรศนะของดำเมทจะถือว่ามีความหมายหรือไม่

  10. ไม่ใช่ว่า หากพิสูจน์ไม่ได้แล้วมันจะไม่มีความหมายแต่เข้าใจได้เพราะเป็นประพจน์เหรอครับ ประเด็นนี้สับสนมาก
    ผมเข้าใจประเด็นนี้จากเรื่องพระเจ้าหรือประพจน์ที่พิสูจน์ไม่ได้น่ะครับ ถ้ามีความหมายแต่ไม่มีค่าจริงเท็จ ประเด็นนี้ไม่น่าจะทำให้เรื่องพระเจ้า มีปัญหาหรือเปล่าครับ รบกวนอาจารย์ตอบด้วยครับ คือผมเข้าใจว่าที่มีปัญหาคือเข้าใจได้เพราะเป็นประพจน์แต่ไม่มีความหมาย เรื่องพระเจ้าถึงได้มีปัญหา

  11. ตกลงเรื่องดัมเมทท์เป็นแบบนี้

    ประพจน์ที่พ้นไปจากหลักฐานการพิสูจน์ ฝ่าย realist จะถือว่าจะต้องเป็นจริงหรือเป็นเท็จอย่างใดอย่างหนึ่ง แม้ว่าเราจะไม่มีทางรู้ก็ตาม เพราะมันมีความเป็นจริงอยู่ที่เป็นตัวกำหนดว่าประพจน์เป็นจริงหรือเท็จ

    แต่ฝ่าย antirealist บอกว่า หากพ้นไปจากหลักฐานของเรา ก็ย่อมไม่มีค่าความจริง เพราะเขาถือว่า ความจริงความเท็จเป็นเรื่องของการพิสูจน์ได้หรือไม่ได้

    แต่ฝ่าย antirealist ก็แบ่งออกได้เป็นสองพวก พวกแรกคือพวกที่ถือกฎสองค่าความจริง เช่นเดียวกับฝ่าย realist ดังนั้น หากประพจน์ใดไม่มีค่าความจริง ประพจน์นั้นย่อมไม่มีความหมาย

    แต่ฝ่ายที่ไม่ยอมรับกฎสองค่าความจริง จะบอกว่าเป็นไปได้ที่ประพจน์จะมีความหมาย แม้ว่าไม่มีค่าความจริง ดังนั้นประพจน์ที่พ้นไปจากหลักฐานไม่มีความจริง แต่มีความหมาย (มีความหมายเพราะแปลเป็นภาษาอื่นได้ แจกรูปไวยากรณ์ได้ ฯลฯ)

  12. Hi Kevin,
    This is a post about Michael Dummett and his semantic antirealism thesis. The whole blog is a course blog on philosophy of language and we cover standard topics. The course is now over but I would like to keep the momentum gathered from the blog going. In this particular post we are discussing Dummett’s idea about “evident-transcendent proposition” – whether such proposition has any meaning (since there is no truth value).

    Perhaps I’ll do a summary of the blog in English soon.

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.