ปรัชญากับสังคมไทย ๒๕๕๗

ภาคผนวกของหนังสือ “ขอบฟ้าปรัชญา” ที่กำลังจะออกมาเร็วๆนี้ครับ

***

ภาคผนวก

ปรัชญากับสังคมไทย พ.. 2557

หนังสือ “ขอบฟ้าปรัชญา: ความรู้ ปรัชญา และสังคมไทย” เขียนขึ้นมากว่าสิบเจ็ดปีแล้ว จริงๆนานกว่านั้นเพราะผมเริ่มคิดเรื่องนี้อย่างจริงๆจังและได้รับทุนวิจัยให้ทำงานเรื่องนี้ ตั้งแต่ปี พ.. 2535 หรือ 2536 ตั้งแต่ผมเริ่มงานที่จุฬาฯใหม่ๆ กว่าหนังสือจะเขียนเสร็จก็ปี 2540 เราคงจำกันได้ว่าปี 2540 เป็นปีสำคัญในประวัติศาสตร์ของประเทศ เพราะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ และเกิดขบวนการที่นำไปสู่การปฏิรูปการเมืองตลอดจนรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ซึ่งเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญไปจากรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้าเป็นอย่างมาก และในบทสุดท้ายของหนังสือผมก็ได้เขียนเกี่ยวกับความสำคัญของวิชาปรัชญาต่อสังคม และเน้นหนักไปที่เหตุการณ์เฉพาะที่เกิดขึ้นในปีนั้น ซึ่งได้แก่วิกฤตเศรษฐกิจกับการปฏิรูปการเมือง

เมื่อหนังสือเล่มนี้ได้รับการตีพิมพ์เป็นรูปเล่ม เหตุการณ์ก็ผ่านไปกว่าสิบเจ็ดปี ในระหว่างนั้นประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาล และในปี 2557 นี้เราก็กลับมาพูดกันเรื่องปฏิรูปอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้บอกว่าจะปฏิรูปในทุกๆด้าน มีการตั้งสภาปฏิรูปอย่างเป็นทางการ เหตุการณ์สำคัญในปี 2557 นี้ก็คือว่า เกิดการรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม ซึ่งนำไปสู่การแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กับสภาปฏิรูปแห่งชาติ ทั้งนี้เหมือนกับว่าเมื่อใดที่ประเทศไทยเกิดวิกฤต ไม่ว่าจะเป็นด้านการเมืองหรืออื่นๆ ก็จะตามมาด้วยความต้องการปฏิรูปทั้งสิ้น ปัญหาใหญ่ของประเทศไทยก็คือว่า เราไม่เคยผ่านวิกฤตการณ์ใหญ่ๆที่สั่นสะเทือนและทำลายล้างสถาบันต่างๆแบบที่ประเทศอื่นๆที่แวดล้อมเราอยู่ต่างก็ประสบมา ตัวอย่างเช่นประเทศเวียตนาม ระบบจักรพรรดิของเวียตนามถูกทำลายโดยฝรั่งเศส ที่มายึดครองเวียตนามเป็นอาณานิคม ต่อจากนั้นก็มีสงครามโลกครั้งที่สอง ตามด้วยสงครามระหว่างเวียตนามกับฝรั่งเศส การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของประเทศเป็นเผด็จการคอมมิวนิสต์ สงครามกับสหรัฐ ทั้งหมดนี้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล ระหว่างระบอบเดิมของเวียตนามที่มีจักรพรรดิ มาจนถึงระบอบปัจจุบันที่ปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์ ผมจำได้ว่าเมื่อตอนเดินทางไปประชุมที่เมืองเว้ ซึ่งเป็นเมืองหลวงเก่าสมัยยังมีจักรพรรดิ ปรากฏว่าวังของจักรพรรดิโดนทำลายจนเหลือแต่ฐานราก ตำหนักต่างๆถูกทำลายราบเรียบ เพราะตอนทำสงครามกับสหรัฐ ทหารเวียตกงเอาวังจักรพรรดิเป็นฐานที่มั่น เลยถูกสหรัฐถล่มด้วยระเบิดจนไม่เหลืออะไรเลย ตอนนี้รัฐบาลเวียตนามก็ยังเก็บรักษาซากนี้เอาไว้ พอเข้าไปก็รู้สึกได้ถึงบรรยากาศเก่าๆ และตระหนักถึงพิษภัยของสงคราม สาเหตุที่ผมเอาเรื่องนี้เล่าก็เพราะว่า สถานการณ์ในประเทศเวียตนามแตกต่างจากของไทยอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ พระราชวังต่างๆของไทยยังอยู่ครบถ้วนบริบูรณ์ นอกจากนั้นพิธีกรรมต่างๆในราชสำนักก็ยังคงอยู่เกือบทั้งหมด ไม่ได้สูญหายไปไหน ไม่เหมือนกับของเวียตนามที่ทุกอย่างในพระราชวังของจักรพรรดิสูญสิ้นไปหมดแล้ว การที่พิธีกรรมและพระราชวังเก่าของเวียตนามสูญสิ้นไปหมด ทำให้คนเวียตนามต้องสร้างประเทศขึ้นมาใหม่ ระบบต่างๆ รวมไปถึงความคิด ความเชื่อ ก็ต้องสร้างขึ้นมาใหม่ ในสถานการณ์แบบของเวียตนามนี้หากจะ “ปฏิรูป” อะไร ก็ทำได้โดยไม่ต้องมีอุปสรรคขัดขวางที่เป็นแรงต้านทานจากระบอบเก่า เพราะไม่มีระบอบเก่าอีกแล้ว แต่ในประเทศไทยไม่เป็นเช่นนั้น สถาบันต่างๆรวมทั้งความคิดความเชื่อดั้งเดิมต่างก็อยู่มาได้จนถึงปัจจุบันอย่างไม่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างถอนรากถอนโคน ดังนั้นหากจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรในประเทศไทยอย่างถอนรากถอนโคน ก็จะทำได้ยากมากๆเพราะอดีตมีพลังแรงมากๆ ที่กล่าวนี้ไม่ได้จะบอกว่าอดีตเป็นของดีหรือไม่ดี บางอย่างจากอดีตก็เป็นของดี บางอย่างก็ไม่ค่อยดี แต่ผมอยากจะเน้นประเด็นว่าการปฏิรูปอะไรก็ตามในประเทศไทย จำเป็นต้องคำนึงถึงสภาพการณ์ที่ประเทศไม่เคยอยู่ในสภาวะสงครามใหญ่ที่ทำลายระบอบเก่าลงโดยสิ้นเชิง ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงอะไรก็ตามจะต้องกินเวลายาวนาน เพราะต้องรอให้สถาบันดั้งเดิมต่างๆไม่ว่าจะเป็นด้านการเมือง ศาสนา วัฒนธรรม ฯลฯ ปรับตัวตามไปด้วย

ตัวอย่างของสถาบันในประเทศที่ไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงมาเลยเป็นเวลาหลายร้อยปี ก็คือสถาบันสงฆ์ การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในสถาบันสงฆ์เกิดขึ้นในรัชสมัยของรัชการที่ 5 เมื่อสมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรสทรงปฏิรูประบบการศึกษาของคณะสงฆ์ครั้งใหญ่ และรวบรวมอำนาจในการบริหารคณะสงฆ์มาไว้ที่ส่วนกลาง หลังจากนั้นก็ไม่มีการปฏิรูปอะไรอีก การศึกษาของคณะสงฆ์ก็ยังเป็นไปตามหลักสูตรที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้าทรงวางเอาไว้ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฉบับปี 2484 กับ 2505 ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรในสาระสำคัญ เพียงแต่กำหนดวิธีการได้มาซึ่งผู้ทรงอำนาจในการบริหารคณะสงฆ์เท่านั้น แต่รูปแบบการปกครองที่เป็นการรวมศูนย์อำนาจกับจัดแบ่งการปกครองเป็นมณฑลต่างๆก็ยังเหมือนเดิม อย่างไรก็ตาม เมื่อสังคมไทยเปลี่ยนแปลงก้าวหน้าไปตามยุคสมัย ก็เกิดความจำเป็นว่าคณะสงฆ์จะต้องเปลี่ยนและปรับตัวตามไปด้วย มิฉะนั้นแล้วคณะสงฆ์ก็จะกลายเป็นเหมือนของตั้งแสดงในพิพิธภัณฑ์มากขึ้นทุกที ผลของการเกิดช่องว่างระหว่างสังคมที่ก้าวรุดไปข้างหน้า กับคณะสงฆ์ที่ไม่เปลี่ยนแปลง คือจะเกิดกลุ่มทางศาสนาใหม่ๆขึ้นที่ตอบสนองต่อความต้องการของคนรุ่นใหม่อย่างรวดเร็ว และเข้ากันได้ดีกับสังคมสมัยใหม่ แต่กลุ่มเหล่านี้ก็เกิดความขัดแย้งกับคณะสงฆ์ที่ยังถืออำนาจปกครองแต่ผู้เดียวอยู่ เราคงทราบกันดีกว่า กลุ่มทางศาสนาที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงนี้ก็มีใหญ่ๆคือกลุ่มวัดพระธรรมกาย กับกลุ่มสันติอโศก เราคงไม่มีเวลาพอที่จะอภิปรายรายละเอียดของลักษณะการจัดองค์กรหรือความเชื่อของสองกลุ่มนี้ เพียงแต่ผมยกมาเป็นตัวอย่างเพื่อแสดงว่า เกิดช่องว่างอย่างมากระหว่างคณะสงฆ์ที่มีมหาเถรสมาคมเป็นตัวแทน กับกลุ่มทางศาสนาใหม่ๆเหล่านี้ เมื่อเกิดปัญหาหรือความขัดแย้งกันขึ้น คณะสงฆ์ก็ดูเหมือนว่าจะไม่สามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ทำให้ในสายตาของประชาชนทั่วไปที่หวังพึ่งบริการของคณะสงฆ์ที่ตอบสนองความต้องการทางจิตวิญญาณ คณะสงฆ์ตามประเพณีนั้นห่างไกลจากชีวิตของพวกเขาไปเรื่อยๆ สถานการณ์นี้เห็นชัดเจนมากในกรณีของชนชั้นกลางในเมือง ที่เหินห่างออกจากคณะสงฆ์แบบดั้งเดิมมานานแล้ว แล้วก็หันไปหากลุ่มใหม่ๆดังกล่าวนี้ รวมทั้งกลุ่มอื่นๆที่เริ่มก่อตัวขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการทางศาสนาของพวกเขา อย่างไรก็ตามในเมื่อคณะสงฆ์แบบดั้งเดิมยังมีอำนาจที่ได้รับมาจากกฎหมายบ้านเมือง ช่องว่างที่เกิดขึ้นนี้ก็เลยมีมิติของอำนาจรัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้อาจเกิดการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงขึ้นมาในอนาคตอันใกล้ แต่อย่างไรก็ตาม คนไทยมีความเป็นอัจฉริยะอยู่อย่างหนึ่งคือ เมื่อเกิดความขัดแย้งรุนแรงครั้งใด ก็จะมีวิธีการที่จะประสานความขัดแย้งนั้น ไม่ว่าจะโยนออกไปในอนาคตให้คนในอนาคตแก้ หรือค่อยๆแก้ไปทีละขั้นๆ การปฏิรูปที่เริ่มมาตั้งแต่ 2540 มาจนถึงปัจจุบันก็อยู่ในรูปนี้ แต่ในกรณีของคณะสงฆ์ กลับดูเหมือนว่าการเปลี่ยนแปลงหรือการปฏิรูปใดๆเกิดขึ้นช้ามากๆ จนเหมือนกับว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย สภาพเช่นนี้น่ากลัวว่าจะเกิดการขัดแย้งอย่างรุนแรงได้ในอนาคตอันไม่ช้านี้

เมื่อสภาพสังคมเป็นแบบนี้ แล้ววิชาปรัชญาจะเข้ามามีบทบาทอะไร ในหนังสือผมก็ได้กล่าวไว้ว่า คุณูปการที่สำคัญของวิชาปรัชญา คือเปิดโลกทัศน์ของผู้คนให้มองเห็นว่าสิ่งที่เคยยึดถือว่าเป็นความจริงแท้นั้น แท้จริงแล้วอาจเป็นเพียงทัศนคติหรือการมองโลกแบบหนึ่งที่ใช้ได้กับยุคสมัยหนึ่งเท่านั้น และไม่มีใครที่จะรู้ความจริงทั้งหมด เป็นไปได้เสมอที่คนอื่นจะมีความรู้หรือความคิดเห็นดีๆในแง่มุมอื่นที่เรามองไม่เห็นหรือนึกไม่ถึง ดังนั้นการสนทนาแลกเปลี่ยนความคิด ถกเถียงอภิปรายร่วมกัน จึงมีบทบาทสำคัญยิ่ง ข้อเสนอหลักของหนังสือ “ขอบฟ้าปรัชญา” ก็คือว่า วิชาปรัชญาไม่ใช่ศาสตร์แบบเดียวกับวิทยาศาสตร์ต่างๆ เพราะวิทยาศาสตร์ต่างๆนั้นต่างก็มีขอบเขตของโลกธรรมชาติที่ตนเองศึกษา เช่นกีฎวิทยาศึกษาแมลง เป็นต้น แต่ปรัชญาไม่ใช่เช่นนั้น แต่ปรัชญาเป็นการค้นคว้าหากรอบหรือวิธีคิดที่จะมาใช้กับศาสตร์ใดๆเพื่อให้หลักประกันว่าศาสตร์เหล่านั้นเชื่อถือได้ มีหลักการเพียงพอ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า ปรัชญาศึกษาว่า “ความเป็นศาสตร์” คืออะไรนั่นเอง แต่เนื่องจากการศึกษาแบบนี้เป็นการวิพากษ์ลงไปถึงเบื้องลึกที่สุดของการค้นคว้าหาความจริง ดังนั้นจึงไม่มีหลักยึดอะไรที่จะยึดไว้ก่อนได้ แบบเดียวกับที่วิทยาศาสตร์แขนงต่างมีหลักยึดตรงระเบียบวิธีที่เรียกว่า “วิธีการทางวิทยาศาสตร์” ด้วยเหตุนี้ปรัชญาจึงไม่สามารถอ้างได้ว่า ตนเองมีความจริงเกี่ยวกับโลกหรือธรรมชาติไว้ในมือ การที่ปรัชญาเป็นเช่นนี้นับเป็นจุดแข็งอย่างมากของปรัชญา และก็เป็นเหตุว่าทำไมการศึกษาค้นคว้าทางปรัชญาเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในปัจจุบัน ยิ่งไปกว่านั้นการอภิปรายถกเถียงหาทางออกในด้านลึกของสิ่งต่างๆ จะทำไม่ได้อย่างเป็นระบบเลย หากไม่มีวิธีการคิดแบบปรัชญา ดังนั้นเมื่อเรากำลังประสบกับปัญหาของประเทศ ที่มาจากการเกิดช่องว่างระหว่างสถาบันจากอดีตที่ไม่เปลี่ยนแปลง กับโลกสมัยใหม่ที่ก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว ทางออกไม่มีทางอื่น นอกจากต้องมีนั่งคิดร่วมกัน อภิปรายร่วมกันอย่างมีพื้นความรู้ และอย่างให้เกียรติซึ่งกันและกัน ซึ่งก็คือหัวใจของการคิดแบบปรัชญา

ปัญหาที่ต้องขบคิดก็คือว่า เราจะปรับเปลี่ยนสถาบันต่างๆที่มีมาแต่โบราณอย่างไร เพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการของสังคมสมัยใหม่? คำตอบที่เพียงพอจริงๆจะมีเนื้อหามาก ไม่สามารถเสนอได้อย่างละเอียดในภาคผนวกตรงนี้ แต่ผมอยากเสนอแนะไว้ว่า การคิดแก้ปัญหาตรงนี้ ต้องอาศัยการพิจารณาถึงคุณค่าและทิศทางที่ผู้คนในสังคมเห็นร่วมกันว่าเป็นทิศทางที่พึงปรารถนา เราไม่สามารถหาคำตอบของคำถามเหล่านี้ได้ด้วยการใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ และตรงนี้เองที่เป็นคุณูปการที่สำคัญยิ่งของวิชาปรัชญา

ในกรณีของปัญหาคณะสงฆ์ ก็เริ่มจากการอภิปรายกันในวงกว้างตั้งแต่เรื่องมูลฐานที่สุด คือสังคมควรมีคณะสงฆ์ไว้ทำอะไร? ศาสนามีบทบาทอย่างไรต่อสังคม? คำสอนของพระพุทธเจ้ายังมีประโยชน์อยู่หรือไม่ในสังคมปัจจุบัน? ถ้ามี แล้วสถาบันที่ทำหน้าที่ถ่ายทอดสั่งสอนคำสอนนี้ให้แก่ประชาชน กลับกลายเป็นสถาบันที่ไม่สามารถตอบสนองหรือไม่ทันต่อโลกที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วได้ แล้วจะต้องแก้ไขอะไรบ้างในสถาบันดังกล่าว เพื่อให้ภารกิจหลักอันได้แก่เผยแผ่คำสอนให้ผู้คนได้เข้าใจจริง สามารถทำได้เกิดผลจริง? สังคมปัจจุบันที่ผู้คนต่างก็มีสมาร์ทโฟน ต่อกับอินเทอร์เน็ตอยู่ทุกเวลานาที ติดต่อกับคนอื่นๆได้ทุกที่ทุกเวลา ทำให้การเผยแผ่คำสอนของพระพุทธเจ้าต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ผู้คนในยุคสมาร์ทโฟน มีความทุกข์ที่อยู่ในรูปแบบที่ผิดแผกไปจากความทุกข์ของคนในยุคพุทธกาลหรือไม่ อย่างไร และถ้ามีรูปแบบที่แตกต่างกันไป การปฏิบัติหน้าที่ของสงฆ์ในฐานะที่เป็นหนึ่งในพระรัตนตรัยควรจะเป็นอย่างไร? นี่คือคำถามที่ต้องการคำตอบทั้งสิ้น และการที่วิชาปรัชญาก็จะช่วยสร้างกรอบที่กำหนดว่าการอภิปรายที่ได้ผลอย่างจริงจังเป็นอย่างไร ก็นับเป็นส่วนร่วมสร้างสรรค์สังคมของปรัชญาอย่างชัดเจน

ขอบฟ้าปรัชญา: ความรู้ ปรัชญา สังคมไทย

ผมเขียนบทสรุปย่อของหนังสือเล่มนี้ไว้ตั้งแต่ปี 2540 วันก่อนดูไฟล์เก่าๆในเครื่อง พบไฟล์นี้เข้าคิดว่าน่าจะเอามาให้พวกเราได้อ่านกัน คิดว่าน่าจะยังเป็นประโยชน์อยู่

***
ขอบฟ้าปรัชญา: ความรู้ ปรัชญา และสังคมไทย

วิชาปรัชญาในประเทศไทยถือกำเนิดอย่างเป็นทางการมากว่าสามสิบปีแล้ว ที่เรียกว่าเป็นทางการนี้หมายความว่า วิชาปรัชญาได้มีการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาชั้นสูง เริ่มตั้งแต่ระดับปริญญาตรี จนในที่สุดมีการสอนระดับปริญญาเอกที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (และกำลังมีโครงการเปิดหลักสูตรปริญญาเอกในมหาวิทยาลัยอื่น เช่นมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ) วิชาปรัชญาดังกล่าวนี้เป็นการศึกษาตามแบบของโลกตะวันตก และเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาแบบสมัยใหม่ ดังนั้นจึงมีการศึกษาปรัชญาของโลกตะวันตกควบคู่ไปกับปรัชญาตะวันออก ซึ่งนับเป็นจุดแข็งจุดหนึ่งของการศึกษาปรัชญาในประเทศของเรา เพราะมีการประสานและการเปรียบเทียบปรัชญาของวัฒนธรรมต่างๆ ซึ่งน่าจะทำให้มีแนวความคิดและการแก้ปัญหาใหม่ๆมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาดังกล่าวนี้มักจะอยู่ในรูปการศึกษาค้นคว้าแนวความคิดของระบบปรัชญาต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพยายามปรับแนวคิดทางพุทธศาสนาให้สามารถอธิบาย หรือแก้ปัญหาปรัชญาต่างๆได้ ดังจะเห็นได้จากการวิจัยโดยคณาจารย์ภาควิชาปรัชญาส่วนใหญ่ในมหาวิทยาลัยไทยปัจจุบัน ซึ่งมุ่งไปที่การแสดงเนื้อหาคำสอนของพุทธศาสนาเป็นหลัก# ที่เป็นเช่นนี้ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจแต่ประการใด เพราะพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ และเป็นแหล่งคำตอบทางความคิดและปรัชญาของคนไทยมานาน แต่สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นก็คือว่า การกระทำเช่นนี้มักทำขึ้นภายใต้สมมติฐานที่ว่า พุทธศาสนาให้คำตอบแก่ปัญหาปรัชญาไว้หมดแล้ว และเป็นแหล่งของความจริงในแง่มุมต่างๆ การคิดเช่นนี้แม้จะมีส่วนดีในแง่ของการแสดงศรัทธา และการสร้างความเชื่อมั่น แต่ก็มีข้อเสียตรงที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาความคิดเชิงวิจารณ์ และความกล้าหาญที่จะคิดอะไรที่ไม่เคยมีใครคิดมาก่อน เราอาจคิดว่าความคิดทำนองนี้เป็นเรื่องของคนตะวันตก ซึ่งไม่เหมาะสมกับสังคมของเรา แต่ถ้าทุกคนคิดเช่นนั้น ความก้าวหน้าในด้านต่างๆก็เกิดขึ้นได้ยาก การคิดอะไรใหม่ๆได้ไม่ใช่จะเกิดขึ้นได้ในที่ได้ที่หนึ่งที่อยากให้เกิด แล้วห้ามไม่ให้เกิดที่อื่น แต่ถ้าจะเกิดขึ้นที่ใดได้ ก็จะต้องเกิดขึ้นได้ในทุกที่ หรือไม่เช่นนั้นก็ไม่เกิดขึ้นเลยไม่ว่าที่ใด ดังนั้นการไม่มีความคิดวิพากษ์วิจารณ์ในพื้นที่ของปรัชญา ก็ย่อมสะท้อนไปถึงการขาดการวิพากษ์วิจารณ์ในพื้นที่อื่นๆด้วย และในโลกของการแข่งขันกันระหว่างชาติในปัจจุบันนี้ การที่เราไม่สามารถสร้างอะไรใหม่ๆได้เองเป็นอันตรายอย่างที่ทราบกันอยู่

มูลเหตุนี้เป็นประการหนึ่งที่จูงใจให้ผมเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้น เป้าหมายหลักของหนังสือเล่มนี้ก็ได้แก่การพยายามสร้างสิ่งที่เจตนา นาควัชระเรียกว่า “วัฒนธรรมแห่งการวิจารณ์” ขึ้น การวิจารณ์นี้ไม่ได้จำกัดตัวอยู่แต่เพียงการวิจารณ์วรรณกรรมเท่านั้น แต่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ทุกๆส่วนของสังคมดังที่ได้เสนอไว้ข้างต้น มูลเหตุนี้อันที่จริงเป็นการมองจากภายนอกเข้ามาที่หนังสือเล่มนี้ และน่าจะเกิดขึ้นเมื่อมีคนอ่านหนังสือนี้และก่อให้เกิดการโต้แย้งถกเถียงขึ้น แต่นั่นเป็นมูลเหตุภายนอก ซึ่งยังไม่ได้กล่าวถึงปัจจัยทางเนื้อหาภายในของหนังสือ ว่าทำไมจึงต้องเขียนหนังสือเล่มนี้ ซึ่งมีเนื้อความอย่างนี้ขึ้นมา

ก่อนที่จะตอบคำถามนี้ได้ผมคงต้องเสนอเนื้อหาคร่าวๆของหนังสือเล่มนี้ก่อน เนื้อหานั้นก็ได้แก่การเสนอปัญหาสำคัญมากปัญหาหนึ่ง ได้แก่ว่าวิชาปรัชญาเองสามารถเป็นศาสตร์อย่างที่ศาสตร์ต่างๆเป็นกันอยู่ได้หรือไม่ ซึ่งหนังสือจะมุ่งแสดงว่าปรัชญาไม่ใช่ศาสตร์ในแง่ที่ว่า ปรัชญาไม่มีหน้าที่ในการแสวงหาความรู้หรือความจริง แต่ปรัชญามีบทบาทหน้าที่ในการสร้างจิตวิญญาณของการวิพากษ์วิจารณ์ให้เกิดขึ้น แนวคิดเช่นนี้แตกต่างจากของนักปรัชญาชาวอเมริกันท่านหนึ่งได้แก่ริชาร์ด รอร์ตี ซึ่งเสนอว่าปรัชญาควรเป็นเพียงการสนทนากันเฉยๆระหว่างคนที่มีเวลาว่างพอหรือมีความสนใจที่จะมาสนทนากันเท่านั้น โดยที่เรื่องราวของการสนทนาก็เป็นเรื่องต่างๆของปรัชญานั่นเอง การสนทนากันเฉยๆย่อมไม่ใช่การวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งต้องประกอบไปด้วยการอ้างเหตุผล ภาพที่ผมวาดไว้คือ เราน่าจะมาร่วมมือกันสร้าง วัฒนธรรมแห่งการอ้างเหตุผล ให้เกิดขึ้นในสังคม และผมเชื่อมั่นว่าวิชาปรัชญามีบทบาทเป็นอันมากในกรณีนี้ แทนที่เราจะคิดว่าปรัชญาเป็นหนทางสู่ความเป็นจริง หรือคิดว่าปรัชญาเป็นเพียงการเล่นสนุกทางความคิด หรือการสนทนากันเฉยๆ เราน่าจะคิดว่าปรัชญาเป็นกระบวนการของการต่อสู้กันทางความคิดที่เอาจริงเอาจัง ถึงแม้ว่าในท้ายที่สุดจะหาข้อยุติไม่ได้ก็ตาม จริงๆแล้วข้อยุติไม่ใช่สิ่งสำคัญ การโต้แย้งกันจะหยุดได้ก็เมื่อผู้โต้แย้งตกลงกันว่าจะหยุด (เพราะจะไปทำอย่างอื่น หรือเพราะเบื่อ หรือเหตุอื่นๆในทำนองเดียวกัน) ไม่ใช่หยุดเพราะจำเป็นต้องหยุด ทั้งนี้ก็เพราะว่าเมื่อถึงที่สุดแล้ว การหยุดโดยจำเป็น หรือการถึงที่สุดเช่นนี้เป็นไปไม่ได้ บทต่างๆในหนังสือก็จะพยายามเสนอเหตุผลมาสนับสนุนประเด็นหลักอันนี้ โดยเริ่มจากการศึกษาและการวิเคราะห์ลักษณะธรรมชาติของความรู้ของมนุษย์ และเสนอว่าการตัดสินว่าอะไรเป็นหรือไม่เป็นความรู้นั้นแตกต่างจากที่นักปรัชญาทั่วไปเชื่อกันเป็นอย่างมาก

บทที่สองของหนังสือเป็นการปูพื้นฐานของปัญหาก่อนที่จะเริ่มมองไปที่แนวทางแก้ พื้นฐานดังกล่าวก็ได้แก่ประวัติสังเขปของปรัชญาตะวันตก ตั้งแต่สมัยกรีกจนถึงปัจจุบัน สาเหตุที่พูดถึงปรัชญาตะวันตกเป็นหลักก็เนื่องจากว่า การไตร่ตรองเกี่ยวกับธรรมชาติของวิชาปรัชญาเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมทางปรัชญาที่เกิดขึ้นก่อนในโลกตะวันตก ที่กล่าวมานี้มิได้หมายความว่า กิจกรรมทางปรัชญาต้องเป็นของโลกตะวันตก และยึดติดกับบริบทของโลกตะวันตกเท่านั้น แต่หมายความว่าการคิดการสงสัยเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ บังเอิญเกิดขึ้นในโลกตะวันตกก่อน และกิจกรรมการถกเถียงในประเด็นนี้ในปัจจุบันก็ยังเกิดขึ้นอยู่ในโลกตะวันตกเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นการเข้าร่วมกิจกรรมนี้เพื่อตรวจสอบหาทิศทางที่ควรจะเป็นสำหรับปรัชญาในประเทศไทย จึงหลีกเลี่ยงไม่พ้นที่จะต้องย้อนกลับไปดูความเป็นมาของปรัชญาในโลกตะวันตก อีกประการหนึ่งก็คือว่า ในขณะนี้วงการปรัชญาในโลกตะวันตกกำลังอยู่ในระหว่างการถกเถียงกันอย่างเข้มข้นถึงความเป็นไปได้ของวิชาปรัชญาโดยรวม ว่าปรัชญาจะยังคงเป็นวิชาการแขนงหนึ่งที่มีขอบเขตการศึกษาของตนเองโดยเฉพาะอยู่หรือไม่ หรือจะกลายเป็นวิชาอื่นไป และก็มีปัญหาว่าความรู้ทั้งหลายที่เรามีเป็นเรื่องของความจริงแท้ หรือว่าเป็นเพียงเครื่องมือที่มนุษย์ใช้ในการแก้ปัญหาต่างๆหลากหลาย สถานการณ์ทำนองนี้นับว่าเป็นวิกฤตการณ์ทางปรัชญาในโลกตะวันตก ซึ่งวิกฤตการณ์นี้ก็เป็นเช่นเดียวกับวิกฤตการณ์อื่นๆ คือเป็นช่องทางที่จะช่วยให้เรามองเห็นการเปลี่ยนแปลงและหนทางที่จะพาเราไปสู่ความก้าวหน้าที่เรามองไม่เห็นมาก่อนได้

บทที่สามจะเริ่มเสนอแนวทางแก้ปัญหาของผมเอง โดยผมเสนอว่าทฤษฎีความรู้ต่างๆที่เคยยอมรับกันมา ปัจจุบันนี้ไม่ควรจะยอมรับเชื่อถืออีกต่อไป ทฤษฎีดังกล่าวนี้ก็ได้แก่ทฤษฎีแบบพื้นฐานนิยมทั้งหมด กับแบบสหนัยนิยมส่วนใหญ่ (ที่กล่าวถึงสหนัยนิยมเพียงส่วนใหญ่ไม่ใช่ทั่้งหมดก็เพราะว่า ในบทที่สี่ผมจะเสนอทฤษฎีที่เชื่อว่าถูกต้อง ซึ่งเป็นสหนัยนิยมแบบหนึ่ง) พื้นฐานนิยมเป็นทัศนะที่ถือว่า การที่เราจะยอมรับว่าอะไรเป็นความรู้ได้นั้น เราต้องสามารถหารากฐานให้แก่ความเชื่อที่จะได้สถานะเป็นความรู้ได้ โดยรากฐานนั้นจะต้องมีความสัมพันธ์โดยตรงกับความเป็นจริง ซึ่งโดยมากจะเป็นความสัมพันธ์เชิงประสบการณ์ ตามแนวคิดแบบนี้ ความเชื่อใดๆที่เราจะรับว่าเป็นความรู้ได้ต้องวายอยู่บนพื้นฐานที่สนิทแนบแน่น หรือเป็นหนึ่งเดียวกับความเป็นจริง แต่ถ้าเราไม่สามารถอธิบายให้กระจ่างได้ว่าความสัมพันธ์นั้นเป็นเช่นใด และถ้าเราแสดงได้ว่าความรู้ไม่สามารถอิงอาศัยพื้นฐานหรือรากฐานดังกล่าวนี้ได้ พื้นฐานนิยมก็ไม่น่าจะเป็นแนวคิดที่ยอมรับได้ ในอีกกรณีหนึ่ง สหนัยนิยมได้แก่ทัศนะที่ถือว่า การที่ความเชืื่อข้อใดข้อหนึ่งมีหลักการควรแก่การเป็นตัวอย่างของความรู้ได้นั้น ไม่จำเป็นที่ความเชื่อนั้นจะต้องวางอยู่บนรากฐานที่เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นจริง แต่การที่ความเชื่อข้อใดจะมีสถานะเป็นความรู้ได้นั้น ขึ้นอยู่กับว่าความเชื่อนั้นๆมีความสัมพันธ์บางอย่างกับความเชื่อข้ออื่นๆที่มีอยู่แล้ว แนวคิดที่ผมเสนอในบทที่สี่ก็เป็นสหนัยนิยมแบบหนึ่งเหมือนกัน เพียงแต่ว่าผมไม่เห็นด้วยว่า ความสัมพันธ์นั้นจะต้องเกิดขึ้นภายในจิตใจของคนเพียงหนึ่งคนตามที่นักปรัชญาที่เสนอแนวคิดแบบสหนัยนิยมทั่วไปเชื่อกัน บทที่สี่ ซึ่งถือได้ว่าเป็นหัวใจของหนังสือเล่มนี้ จะพัฒนาแนวคิดนี้อย่างละเอียดและเป็นระบบ ทฤษฎีแบบสหนัยนิยมทั่วไปนั้นเกือบจะถูกต้องบริบูรณ์อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าส่วนใหญ่นั้นเชื่อว่าการมีความสัมพันธ์กันกับความเชื่ออื่นๆในระบบนั้นเป็นเรื่องภายในของบุคคลแต่ละคน โดยคนๆหนึ่งจะมีความเชื่อที่มีสถานะเป็นความรู้ได้ก็ต่อเมื่อเขาสามารถโยงความเชื่อข้อนั้นให้เข้ากันได้กับความเชื่ออื่นๆที่เขามีอยู่ก่อน ข้อบกพร่องของแนวคิดแบบนี้ก็คือว่า เป็นแนวคิดที่ทำให้การศึกษาทฤษฎีความรู้จำกัดตัวอยู่แต่เพียงมุมมองของคนเพียงคนเดียว และทำให้เรามองไม่เห็นแง่มุมที่เป็นเรื่องของชุมชนหรือสังคมในการครุ่นคิดเกี่ยวกับความรู้ การคิดว่าการหาความรู้เป็นเรื่องของคนๆเดียวทำให้เราเข้าใจไม่ได้ถี่ถ้วนว่า เหตุใดความรู้จึงมีความสัมพันธ์แนบแน่นกับสังคมและวัฒนธรรม จนเสมือนหนึ่งว่าความรู้เป็นส่วนหนึ่งที่กำหนดนิยามวัฒนธรรมหนึ่งๆว่าแตกต่างจากวัฒนธรรมอื่นๆ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดได้แก่ความรู้เรื่องฮวงจุ้ยของชาวจีน ซึ่งรับรู้กันโดยทั่วไปว่าเป็นส่วนหนึ่งที่แยกไม่ออกจากวัฒนธรรมจีน การพูดเช่นนี้แน่นอนว่าย่อมมีผู้ประท้วงขึ้นมาทันทีว่าเป็นทัศนะแบบสัมพัทธนิยม กล่าวคือเมื่อผูกความรู้เข้ากับวัฒนธรรมก็มีปัญหาขึ้นมาว่า เมื่อแต่ละวัฒนธรรมแตกต่างกันและมีความรู้คนละแบบกัน จะไม่เป็นจริงหรือที่ว่าความรู้ของใครก็ของคนนั้น และตัดสินไม่ได้ว่าของใครถูกต้องตามความเป็นจริง (ซึ่งตามสายตาของนักปรัชญามุ่งโจมตีทัศนะแบบที่เสนอนี้ ดูราวกับว่าเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย ยอมรับไม่ได้) แต่ในบทที่สี่จะมีหัวข้อหนึ่งที่พูดถึงปัญหานี้โดยตรง ข้อเสนอหลักก็คือว่า การโจมตีทัศนะนี้ว่าเป็นสัมพัทธนิยมเกิดจากการยอมรับสมมติฐานบางประการซึ่งไม่เป็นจริง

ประเด็นเรื่องสัมพัทธนิยมนี้ก็จะเป็นหัวข้อต่อเนื่องมาถึงบทที่ห้า ซึ่งประกอบด้วย การอภิปรายในสองหัวข้อใหญ่ๆ หัวข้อแรกก็คือเรื่องสัมพัทธนิยมนี้เอง โดยจะเสนอว่าทัศนะหลักของหนังสือเล่มนี้ไม่ใช่ทั้งสัมพัทธนิยม และก็ไม่ใช่ทั้งทัศนะที่ปฏิเสธสัมพัทธนิยม ซึ่งเรียกว่าสัมบูรณนิยม เหตุผลหลักๆอยู่ที่ว่าเมื่อใดเรายังจะต้องใช้ภาษาในการเข้าถึงความเป็นจริงอยู่ เมื่อนั้นการพูดเรื่องสัมพัทธนิยมกับสัมบูรณนิยมก็ไม่ค่อยจะมีความหมายเท่าใดนัก นอกจากนี้บทที่ห้ายังพูดถึงอีกประเด็นหนึ่งที่เกี่ยวข้อง ได้แก่เรื่องความแตกต่างระหว่างข้อเท็จจริงกับค่านิยม ทัศนะโดยทั่วไปมักถือว่าสองอย่างนี้แยกจากกันโดยเด็ดขาด แต่เมื่อพิจารณาให้ถี่ถ้วนแล้วจะพบว่าไม่เป็นเช่นนั้น ซึ่งเมื่อเข้าใจว่าข้อความหรือความเชื่อที่ถือว่าเป็นข้อเท็จจริง ในบางกรณีอาจเป็นค่านิยมและในทางกลับกัน เราก็น่าจะมองเห็นว่าทัศนะแบบที่ถือว่าความรู้ได้แก่การที่ความเชื่อสัมพันธ์กับความเป็นจริงเฉยๆ ไม่ใช่ทัศนะที่ควรแก่การเชื่อถืออีกต่อไป

สองบทสุดท้ายของหนังสือดูจะเป็นส่วนที่อ่านง่ายที่สุด บทที่หกว่าด้วยธรรมชาติ ประโยชน์ตลอดจนทิศทางของวิชาปรัชญาโดยทั่วไป และก็เป็นการอภิปรายที่ตั้งอยู่บนแนวคิดทางทฤษฎีความรู้ที่ได้เสนอมาไว้ในบทก่อนๆ ข้อเสนอเกี่ยวกับปรัชญาและการแก้วิกฤติการณ์ที่กล่าวถึงไว้ในตอนต้นก็จะพูดถึงอย่างละเอียดในบทนี้ กับในบทที่เจ็ดซึ่งเป็นการมองเจาะลึกลงในบริบทของปรัชญาในสังคมไทย เมื่อความรู้ผูกพันอยู่กับวัฒนธรรมและชุมชนอย่างลึกซึ้ง วิชาปรัชญาจึงย่อมไม่ใช่การศึกษาหาความจริงลอยๆที่ไม่อิงอาศัยบริบททางสังคมใดๆ ตรงกันข้ามปรัชญาเป็นกระบวนการของการโต้เถียงและการค้นคว้าด้วยเหตุผล เพื่อแก้ปัญหาในเชิงมโนทัศน์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อทิศทางของชุมชนนั้นๆเอง ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าปรัชญามีประโยชน์อย่างมากต่อทุกชุมชน เมื่อใดที่ชุมชนเกิดสงสัยขึ้นว่าทิศทางที่ชุมชนโดยรวมกำลังมุ่งหน้าไปเป็นทิศทางที่ควรจะเลือกเดินหรือไม่ เมื่อนั้นชุมชนนั้นก็เริ่มกลายเป็นชุมชนทางปรัชญาแล้ว ปัญหาเกี่ยวกับทิศทางของชุมชนนี้ก็กำลังเกิดขึ้นในสังคมของเราเช่นเดียวกัน ดังจะเห็นได้จากการถกเถียงเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญในเวลานี้ (ปีพ.ศ. 2540) การถกเถียงนี้แสดงว่าสังคมไทยกำลังเลือกหาทางเดินที่จะเหมาะที่สุดสำหรับตนเอง และในสถานการณ์เช่นนี้ปรัชญามีบทบาทอย่างยิ่งในการทำมโนทัศน์ต่างๆให้กระจ่างแจ้ง เพื่อให้การถกเถียงเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิผล นอกจากนี้การถกเถียงนี้ยังเป็นการแสดงออกของแนวความคิดหรือปรัชญาที่แตกต่างกัน ซึ่งฝ่ายต่างๆที่ถกเถียงกันอยู่อาจจะไม่ได้รู้ตัวว่ากำลังนำเอาทัศนะปรัชญามาถกเถียงกันก็ได้ ประโยชน์ของปรัชญาอีกประการหนึ่งจึงอยู่ที่การเปิดเผยให้เห็นชัดว่า การถกเถียงในระดับลึกๆถึงทิศทางโดยรวมของชุมชนนั้นเป็นเรื่องเกี่ยวกับทางเลือกของชุมชนนั้นเอง ซึ่งแน่นอนว่าย่อมไม่มีคำตอบที่สำเร็จรูปตายตัว ขึ่้นอยู่กับว่าชุมชนเองจะเลือกเอาทางใด ในสังคมประชาธิปไตยซึ่งประกอบด้วยผู้คนที่มีความคิดเห็นหลากหลายนั้น การที่มีการคิดอย่างละเอียดรอบคอบเกี่ยวกับการถกเถียงในระดับลึก ซึ่งหาทางลงรอยกันไม่ได้นั้น มีความจำเป็นมากในการทำให้ทุกฝ่ายเข้าใจว่าการถกเถียงกันนี้เป็นปรากฎการณ์ของชุมชนเองเมื่อชุมชนกำลังดิ้นรนหาทางออกให้แก่ตนเอง ดังนั้นแต่ละฝ่ายก็ย่อมเคารพความคิดเห็นของฝ่ายอื่น ซึ่งเป็นเงื่อนไขจำเป็นที่จะให้ประชาธิปไตยเป็นไปได้จริง นอกจากนี้บทที่เจ็ดยังเสนอทิศทางสำหรับปรัชญาในสังคมไทยไว้ว่า เราควรมีกิจกรรมทางปรัชญามากขึ้น หรือพูดอีกอย่างก็คือเราควรมีกิจกรรมเหล่านี้มากขึ้น ได้แก่การหยุดคิด การย้อนกลับมาคิดถึงสิ่งที่รับกันอยู่โดยทั่วไป การอ้างเหตุผล การถกเถียงโต้แย้ง การสงสัย การตั้งคำถาม การตรวจสอบความเชื่อดั้งเดิมว่าทำไมจึงยังเชื่ออยู่ ฯลฯ กิจกรรมเหล่านี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อชีวิตแบบประชาธิปไตย และบทบาททิศทางของปรัชญาในสังคมไทยก็คือ การเอื้ออำนวยให้กิจกรรมเหล่านี้มีมากขึ้น ซึ่งผู้สอนปรัชญาในสถาบันการศึกษาสามารถทำได้โดยการสอนที่เน้นหนักที่กิจกรรมเหล่านี้ ตลอดจนการเข้าไปมีบทบาทมากขึ้นในเวทีสาธารณะในฐานะนักปรัชญา

โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์
ภาควิชาปรัชญา
คณะอักษรศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
มิถุนายน 2540