ความหมายของ “ฉัน”

ความหมายของโพสนี้คือการวิเคราะห์ความหมายของคำว่า “ฉัน” อันเป็นสรรพนามบุรุษที่หนึ่งในภาษาไทย ไม่ใช่ความหมายของตัวผม ไม่ว่าตัวผมจะหมายความว่าอย่างไร สองอย่างนี้ต่างกัน เพราะความหมายของคำว่า “ฉัน” ใครๆก็วิเคราะห์ออกมาได้ เพราะเป็นเรื่องทั่วไป ไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่ความหมายของตัวผม ก็คือความหมายของผู้ที่กำลังเขียนโพสอยู่นี้ ซึ่งเป็นอาจารย์ในรายวิชาปรัชญาภาษา สองอย่างนี้ต่างกัน แต่ก็เป็นเนื้อหาของเรื่องที่เขียนต่อไปนี้ด้วย

ทรรศนะของนักปรัชญาบางฝ่าย เช่นคัสตาเญดา จะถือว่าประโยคที่มีสรรพนามบุรุษที่หนึ่ง (หรือบุรุษที่สองหรือสาม แต่การพูดถึงบุรุษที่หนึ่งดูจะชัดและใกล้ตัวมากกว่า) จะมีความหมายบางประการที่ “ไม่สามารถลดทอนได้” ลงเป็นประโยคที่ไม่มีคำสรรพนาม ตัวอย่างก็คือ

(1) หนุนเป็นศิษย์เก่าทับแก้ว

กับ

(2) “ฉันเป็นศิษย์เก่าทับแก้ว” (ซึ่งหนุนเป็นคนพูด)

มีความหมายเหมือนกันตามทรรศนะของฝ่ายที่ถือว่า ความหมายของสรรพนาม สามารถทอนลงเป็นความหมายของคำที่ระบุถึงบุคคลคนเดียวกันกับที่สรรพนามได้ แต่ตามทรรศนะของอีกฝ่าย จะถือว่าทอนกันไม่ได้ และประโยค (1) กับ (2) ต่างกัน แม้ว่า “ฉัน” ใน (1) จะหมายถึงหนุนก็ตาม

เท่าที่จำได้ เหตุผลของคัสตาเญดาก็คือว่า ประโยค (1) นั้นมีการรวมเอา “มุมมอง” บางประการ ซึ่ง (3) ไม่มี ความหมายก็คือว่า เวลาเราสร้างประโยคที่ขึ้นต้นด้วยสรรพนามบุรุษที่หนึ่ง เช่น “ผมกำลังเขียนโพส” จะมีการใช้สิ่งที่คัสตาเญดาเรียกว่า “มุมมองของสรรพนามบุรุษที่หนึ่ง” อันเป็นสภาวะอันเป็นอัตวิสัย ซึ่งจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีการระบุถึงตัวเอง ซึ่งประโยค “โสรัจจ์กำลังเขียนโพส” ไม่มี เพราะ “โสรัจจ์กำลังเขียนโพส” มีมุมมองอีกแบบ ได้แก่มุมมองสรรพนามบุรุษที่สาม ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อผู้พูดระบุถึงอีกคนหนึ่งที่ไม่จำเป็นต้องเป็นตัวเอง ซึ่งมุมมองที่ต่างกันนี่เองที่ทำให้สองประโยคนี้ต่างกันตามทรรศนะของนักปรัชญาเช่นคัสตาเญดา

ทีนี้ ข้อวิจารณ์หนึ่งก็คือว่า เจ้ามุมมองที่ว่านี้ มีบทบาทอย่างไรในความหมายของประโยค ไม่ว่าจะเป็น “ฉันกำลังเขียนโพส” หรือ “โสรัจจ์กำลังเขียนโพส” ทั้งสองประโยคนี้ระบุถึงสถานการณ์เดียวกัน และเป็นจริงกับเป็นเท็จไปด้วยกัน เพราะจริงๆแล้ว ผมกำลังเขียนโพสนี้จริงๆ ดังนั้นทั้งสองประโยคนี้เป็นจริงพร้อมกันทั้งคู่ (และก็เป็นเท็จพร้อมกันด้วย) ตามภาษาตรรกวิทยา ก็จะเรียกว่า ทั้งสองประโยคนี้ “สมมูล” (equivalent) กัน นั่นคือสองประพจน์นี้ความหมายเหมือนกัน ต่างจากทรรศนะของคัสตาเญดา

เรื่องนี้เป็นปัญหาสำคัญอีกปัญหาหนึ่งในปรัชญา แล้วขอให้เราอย่าคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องวงในของการถกเถียงกันเรื่องความหมายของสรรพนามเท่านั้น แท้จริงแล้วปัญหานี้สำคัญมากๆในปรัชญาทั้งหมด ที่เกี่ยวกับมุมมองและปัญหาโดยรวมของความเป็นอัตวิสัยกับความเป็นภววิสัย ที่สำคัญมากๆก็คือ เรามีปัญหาเกี่ยวกับ “อภิปรัชญาของสรรพนามบุรุษที่หนึ่ง” ซึ่งได้แก่การศึกษาความเป็นจริงของที่เรียกว่า “ตัวฉัน” ว่า สภาวะที่เป็นอัตวิสัยนี้แท้จริงแล้วมีอยู่จริงๆหรือไม่ หรือว่าเพียงแค่ดูเหมือนว่ามีจริงเพราะเรามีคำเรียก (เช่น “ฉัน”) แต่จริงๆแล้วไม่มีอยู่จริง

เรื่องนี้ยังเกี่ยวกับปรัชญาของพระพุทธศาสนาด้วยโดยตรง คำสอนหลักของพระพุทธเจ้าได้แก่ ที่เราเข้าใจว่าเป็น “ตัวเรา” หรือ “ตัวฉัน” หรือ “ตัวกู” นั้น ไม่มีอยู่จริง ดังนั้น ประโยค “กูสนุกจังโว้ย!” ก็เป็นผลของภาพลวงตา เพราะไม่มี “ตัวกู” ให้สนุก การคิดเช่นนี้เป็นเพียงผลของการเข้าใจความเป็นจริงผิดพลาดเท่านั้น ซึ่งก็ย่อมหมายความว่า ตามปรัชญาพระพุทธศาสนา ประโยคใดๆก็ตามที่มีสรรพนามบุรุษที่หนึ่ง (และก็หมายถึงบุรุษที่สองกับสามด้วยโดยการอนุมาน) สามารถลดทอนลงไปได้เป็นประโยคที่ไม่มีสรรพนามได้ทั้งสิ้น

เรื่องเหล่านี้ยากมากๆ เอาไว้เราจะพูดเรื่องนี้กันในชั้น ในวันพรุ่งนี้

 

วิสามานยนาม, คำบ่งชี้, นิยมสรรพนาม

ในโพสนี้เราจะพูดถึงคำสามประเภทในภาษา ซึ่งมีลักษณะคล้ายๆกันแต่ไม่เหมือนกัน เราได้พูดกันเกี่ยวกับวิสามานยนามกันมาค่อนข้างมากแล้ว วิสามานยนามคือชื่อเฉพาะที่ใช้เรียกกัน ซึ่งระบุถึงปัจเจกวัตถุหรือปัจเจกบุคคลโดยตรง (เว้นแต่ว่าเราถือทฤษฎีแบบของคัสตาเญดา ซึ่งไม่เชื่อว่าวิสามานยนามที่แท้จริงมีอยู่จริง และวิสามานยนามเป็นคำย่อของคำบรรยายเจาะจงตัวเสมอ) ตัวอย่างก็คือ “ทักษิณ ชินวัตร” หรือ “สนธิ ลิ้มทองกุล”

แต่ก็ยังมีคำอีกสองประเภทในภาษา ที่ทำหน้าที่คล้ายๆกันวิสามานยนาม แต่เป็นคำที่เรียกได้ว่าอยู่ในแกนกลางของภาษามากกว่า เพราะใช้กันบ่อยมาก ประเภทแรกเรียกว่า “คำบ่งชี้” หรือ indexical ในภาษาอังกฤษ คำบ่งชี้ได้แก่คำที่ความหมายแปรไปตามแต่ละสถานการณ์ ตัวอย่างที่ใช้กันบ่อยก็เช่น “ฉัน” “เธอ” และอื่นๆแบบเดียวกัน ตัวอย่างของการใช้ที่ทำให้ความหมายแตกต่างกันก็เช่น หากทักษิณพูดประโยคว่า “ข้าพเจ้าเป็นนายกรัฐมนตรี” กับสมัครพูดประโยคเดียวกันนี้ ประโยคเดียวกันนี้จะเป็นจริงสำหรับทักษิณในปี 2546 แต่เป็นเท็จสำหรับสมัครในปีนั้น แต่หากพูดในปีนี้ ประโยคนี้จะเป็นจริงสำหรับสมัครในปี 2551 แต่เป็นเท็จสำหรับทักษิณในปีเดียวกันนี้ อีกตัวอย่างก็ได้แก่ คนสองคนพูดประโยคเดียวกันว่า “ฉันเป็นผู้หญิง” คนแรกพูดความจริง เพราะเขาเป็นผู้หญิงจริงๆ ในขณะที่อีกคนพูดประโยคเดียวกันนี้ แต่เป็นประพจน์ที่เป็นเท็จ เพราะตัวผู้พูดเป็นผู้ชาย

ดังนั้น คำเช่น “ที่นี่” “เดี๋ยวนี้” เป็นคำที่ความหมายแปรไปตามบริบททั้งสิ้น และคำเหล่านี้ก็ได้ชื่อว่า “คำบ่งชี้” แต่ก็ยังมีคำอีกประเภทหนึ่งที่คล้ายกันมาก ได้แก่ “นิยมสรรพนาม” ได้แก่คำว่า “นี้” “นั้น” “โน้น” “นี่” “นั่น” “โน่น” ซึ่งความหมายของคำเหล่านี้ จะเป็นการ “ระบุ” ถึงวัตถุที่เฉพาะเจาะจง โดยผู้พูดต้องมีการแสดงอาการที่ “ชี้” หรือ “ระบุ” ตามไปด้วยเสมอเมื่อใช้คำเหล่านี้ ตัวอย่างเช่น ผมพูดว่า “แก้วใบนี้สีขาว” โดยถือแก้วใบหนึ่งอยู่ในมือและแสดงอาการว่า กำลังหมายถึงแก้ว (หรือถ้วย 🙂 ) ใบนี้ วลี “ใบนี้” ก็ต้องระบุถึงแก้วใบที่ผมถือ และ “แก้วใบนี้” ก็เลยกลายเป็นวลีเจาะจงตัว ที่ทำหน้าที่เช่นเดียวกับวิสามานยามหรือคำบรรยายเจาะจงตัว ในภาษาอังกฤษ จะเรียกนิยมสรรพนามว่า ‘demonstrative’

ข้อแตกต่างระหว่าง indexical กับ demonstrative ก็คือว่าการใช้ indexical ไม่ต้องมีการแสดงอาการที่ใช้เพื่อระบุหรือชี้ ในขณะที่การใช้ demonstrative มีการใช้เช่นนี้ แต่อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมก็เป็นคำที่ทำงานคล้ายๆกัน และหากเราพิจารณาภาษาไทยของเรา ก็จะพบว่าความแตกต่างระหว่าง indexical กับ demonstrative ไม่ได้มีมากแบบที่ปรากฏในภาษาอังกฤษ หรือในภาษาอินโด-ยุโรปอื่นๆ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะว่า ในวงการปรัชญาภาษาโดยทั่วไป จะถือว่า คำว่า ‘today’ ‘tonight’ ‘here’ ‘now’ เป็น indexical ไม่ใช่ demonstrative แต่พอดูคำเหล่านี้ในภาษาไทย – “วันนี้” คืนนี้” “ที่นี่” “เดี๋ยวนี้” จะเห็นว่ามีการประสมคำ ที่ใช้คำสามานยนามปกติรวมกับนิยมสรรพนาม ซึ่งทำให้เห็นชัดว่า เป็นการใช้แบบ demonstrative

นักปรัชญาที่เชื่อว่าคำที่มีความหมายแบบ “วันนี้” “คืนนี้” เป็น indexical อาจจะเถียงว่า คำเหล่านี้สามารถใช้ได้โดยไม่ต้องมีการชี้หรือการแสดงอาการระบุลงไป การพูดว่า “วันนี้ฝนตก” ก็ไม่จำเป็นต้องมีการชี้ไปที่ปฏิทินเสมอไป ว่าเป็นวีน “นี้” หรืออะไรทำนองนี้ แต่อย่างไรก็ตาม โครงสร้างของคำ (หรือวลี) “วันนี้” ก็ดูจะแสดงชัดว่า เป็นการใช้นิยมสรรพนามประกอบกับสามานยนาม เช่นเดียวกับ “แก้วใบนี้” แต่นักปรัชญาหรือนักภาษาศาสตร์ที่เชื่อว่า “วันนี้” เป็น indexical ก็อาจจะบอกต่อไปว่า โครงสร้างของทั้งสองไม่เหมือนกันทีเดียว เพราะเราไม่พูดว่า “แก้วนี้” (ซึ่งฟังแปลกๆ) แต่พูดว่า “วันนี้” ไม่ใช่ “วันวันนี้” คือเราไม่ได้เอาลักษณนามไปแทรกระหว่างสามานยนามกับนิยมสรรพนาม เรื่องนี้สามารถเป็นหัวข้อวิจัยได้เลย ทั้งในปรัชญาและในภาษาศาสตร์ หรือในหลักสูตรภาษาไทย เพราะผมค่อนข้างแน่ใจว่า ยังไม่มีใครเคยคิดเรื่องพวกนี้มาก่อน

อย่างไรก็ตาม เรากลับมาที่ประเด็นทางปรัชญาล้วนๆ ปัญหาหลักของ indexical กับ demonstrative ก็คือว่า ในระบบของอรรถศาสตร์ที่มีแบบจำลองอยู่ที่ระบบของภาษาแบบแผน เราต้องหาทางที่จะกำจัดความกำกวมให้หมดไปจากระบบ เพราะหากมีความกำกวม การวางระบบหรือทฤษฎีของภาษาก็เป็นไปไม่ได้ ดังนั้น เนื่องจากคำบ่งชี้มีความกำกวมในตัวของมันเอง จึงมีนักปรัชญาพยายามเสนอทฤษฎี เพื่ออธิบายความหมายของคำประเภทนี้ ดังนั้น จึงมีความพยายามที่จะเสนอว่า ประโยคเช่น

(1) ฉันรู้สึกดีใจจนตัวลอย

เมื่อหนุนเป็นคนพูด ก็จะมีความหมายว่า

(2) หนุนรู้สึกดีใจจนตัวลอย

ก็คือทฤษฎีจะพยายามแทนที่คำบ่งชี้ ด้วยคำที่ความหมายไม่ได้ขึ้นกับบริบท ตามความคิดของนักปรัชญาเหล่านี้ (ผมจำชื่อไม่ได้ ต้องไปค้น) ประโยค (1) กับ (2) แสดงประพจน์เดียวกัน คือมีความหมายเหมือนกัน

แต่ก็มีนักปรัชญาเช่น Castañeda ที่เสนอว่า ประโยคที่มีคำบ่งชี้ ไม่สามารถลดทอนลงเป็นประโยคที่ไม่มีคำบ่งชี้ได้ กล่าวคือคำบ่งชี้เป็นส่วนประกอบของความหมายของประโยคที่ไม่สามารถทอนเป็นแบบอื่นได้ ดังนั้นตามความคิดของ Castañeda ประโยค (1) กับ (2) มีความหมายที่แตกต่างกันเสมอ

ทีนี้เราลองคิดดูว่า ต่างกันอย่างไร? 🙂