ก็องแต็ง เมยาซูกับปัญหาเรื่องความชั่วร้าย

Claude Mangion
Claude Mangion

การบรรยายของโคล้ด มันจ็อน (Claude Mangion) ที่ The Reading Room Bangkok เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาจบลงไปด้วยดี มีคนฟังมามากเกินคาด ซึ่งเป็นเรื่องน่าประหลาดใจเพราะหัวข้อในการบรรยายเป็นเรื่องยาก อาจารย์โคล้ด มันจ็อนเป็นหัวหน้าภาควิชาปรัชญาที่มหาวิทยาลัยมอลต้า ประเทศมอลต้าเป็นเกาะเล็กๆอยู่กลางทะเลเมดิเตอเรเนียน ไม่ไกลจากเกาะซิซิลีของอิตาลี ผมเคยไปร่วมทำกิจกรรมทางวิชาการที่นี่เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยได้ทุนสนับสนุนจากโครงการ Erasmus Mundus ของสหภาพยุโรป ซึ่งก็เป็น อ. โคล้ดที่เชิญผมไป และในครั้งนี้อาจารย์ก็เดินทางมาเมืองไทยด้วยทุนจากโครงการ Erasmus เช่นเดียวกัน นับว่าไทยเป็นหนี้สหภาพยุโรปที่ให้การสนับสนุนให้อาจารย์เดินทางมาให้ความรู้แก่พวกเราในเมืองไทยในครั้งนี้ แล้วก็ขอขอบคุณคุณเกี๊ยวนราวัลลภ์ที่กรุณาเอื้อเฟื้อสถานที่เป็นอย่างดี

หัวข้อในการบรรยายของโคล้ดได้แก่ “ความหมายของความเป็นอมตะและการเกิดใหม่ในปรัชญาของก็องแต็ง เมยาซู” ก็องแต็ง เมยาซู (Quentin Meillassoux) เป็นนักปรัชญาฝรั่งเศสที่กำลังมีชื่อเสียงมากขึ้น จากงานที่แหวกแนวไม่เหมือนกับปรัชญาฝรั่งเศสทั่วๆไป โดยงานของเขาเป็นที่รู้จักกันในชื่อว่า ‘speculative realism’ หรือแปลเป็นไทยได้ว่า “สัจนิยมแบบคาดคะเน” ที่มาที่ไปของแนวคิดนี้ก็คือว่า ปรัชญาของภาคพื้นทวีปยุโรปตั้งแต่ปรากฏการณ์วิทยา (phenomenology) ของฮุสเซิร์ลเป็นต้นมา จะถือว่าต้องมีตัวกลางระหว่างผู้รับรู้กับสิ่งที่ถูกรับรู้เสมอ ทรรศนะดังกล่าวนี้มีที่มาจากปรัชญาของอิมมานุเอล คานท์ ที่ถือว่าโลกธรรมชาติในตัวมันเอง เป็นอะไรที่เราไม่สามารถรับรู้ได้โดยตรง เราจะรับรู้โลกได้ก็ต่อเมื่อผ่านกลไกการรับรู้ที่กรองเอาความรู้ของเราให้เป็นไปตามกลไกดังกล่าว และเราไม่สามารถเข้าไปรับรู้โดยตรงได้ว่าโลกที่ไม่ได้ผ่านการกรองของกลไกการรับรู้นั้นเป็นอย่างไร ดังนั้นในความคิดของคานท์กลไกการรับรู้ดังกล่าวนี้จึงทำงานเป็นตัวกลางระหว่างผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ ฮุสเซิร์ลก็ถือว่าการรับรู้โลกต้องผ่านมุมมองของผู้รับรู้ ซึ่งเป็นประสบการณ์ของบุรุษที่หนึ่ง (“ฉัน”) เสมอ นอกจากนี้ปรัชญาภาคพื้นทวีปยุโรปอื่นๆ เช่นศาสตร์แห่งการตีความ (hermeneutics) หรือหลังสมัยใหม่นิยม (postmodernism) ก็ถือว่ามีตัวกลางเช่นเดียวกัน ซึ่งได้แก่ภาษาหรือความหมาย ตัวอย่างก็คือ เราไม่สามารถรับรู้โต๊ะได้โดยตรง แต่สิ่งที่เราเห็นเบื้องหน้าคือความหมายของคำว่า “โต๊ะ” ในภาษาไทย ซึ่ง hermeneutics กับ postmodernism (โดยเฉพาะ poststructuralism) มีทรรศนะที่แตกต่างกันว่าความหมายดังกล่าวนี้คืออะไร แต่ไม่ว่าอย่างไรทั้งสองก็ถือตรงกันว่าความหมายเป็นตัวกลางระหว่างผู้รับรู้กับสิ่งที่ถูกรับรู้ (ได้แก่ตัวโต๊ะที่ทำจากไม้ ไม่ใช่แค่ความหมายของภาษาหรือภาษาเอง) เมยาซูกับกลุ่มสัจนิยมคาดคะเนไม่เห็นด้วยกับประเพณีความคิดเช่นนี้ และพยายามแสวงหาวิธีการเข้าถึงสิ่งในตัวเองโดยตรง โดยไม่ผ่านตัวกลางใดๆ ชื่อแนวคิด ‘speculative realism’ มีที่มาจากการประชุมวิชาการที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมสำคัญๆคือ Ray Brassier, Iain Grant, Graham Harman และเมยาซูเอง ผู้เข้าร่วมประชุมเห็นกว้างๆร่วมกันว่าประเพณีการเข้าถึงความเป็นจริง่ผานตัวกลาง เป็นความคิดที่เขาไม่เห็นด้วย และพยายามหาทางแก้ไข

Quentin Meillassoux
Quentin Meillassoux

นอกจากนี้เมยาซูเองก็มีความคิดทางปรัชญาว่า ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นโดยไม่บังเอิญ ซึ่งความคิดนี้เป็นการปฏิเสธความคิดดั้งเดิมในปรัชญาตะวันตก ที่บอกว่าทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นโดยมีสาเหตุ ซึ่งการมีสาเหตุก็อาจตีความไม่ได้ว่าจะต้องเกิดขึ้นโดยจำเป็น (ไม่บังเอิญ) ความคิดของเมยาซูพูดอีกอย่างได้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากไม่มีสิ่งใดเกิดข้นโดยจำเป็น ก็หมายความว่าอะไรจะเกิดขึ้น หรือจะไม่เกิดขึ้นก็ได้ โลกเป็นสภาวะเปิดกว้าง และการเป็นสภาวะเปิดกว้างนี้เองที่เป็นจุดตั้งต้นของความคิดของเขาเกี่ยวกับปรัชญาศาสนา ซึ่งเป็นหัวข้อการบรรยายของโคล้ด มันจ็อนในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ที่มาของความคิดนี้ของเมยาซูก็มาจากปรัชญาของเดวิด ฮิวม์ ซึ่งทำให้แนวคิดของเมยาซูมีส่วนคล้ายคลึงมากกับปรัชญาของประเทศที่พูดภาษาอังกฤษ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เดินตามฮิวม์เช่นเดียวกัน ทรรศนะหลักของฮิวม์ก็คือว่า เราไม่สามารถยืนยันได้ว่าโลกนี้มีความจำเป็น เราไม่สามารถรู้ได้อย่างแน่นอนว่า พรุ่งนี้พระอาทิตย์จะขึ้นหรือเปล่า เพราะแหล่งความรู้ประการเดียวของเราที่มั่นใจได้สูงสุดคือประสาทสัมผัส และเนื่องจากเรายังไม่เห็นพระอาทิตย์จะขึ้นพรุ่งนี้ เราจะสรุปไม่ได้ว่ามันจะขึ้นหรือจะไม่ขึ้น เราทำได้แต่เพียงคาดคะเนว่ามันจะขึ้นเท่านั้น เพราะมันขึ้นมาตลอดในอดีตทุกวัน

การคิดเช่นนี้นำไปสู่การแก้ปัญหาสำคัญในปรัชญาศาสนา ได้แก่เรื่องปัญหาเรื่องความชั่วร้าย (ผมเคยเขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องนี้มาก่อนแล้ว เกี่ยวกับแผ่นดินไหวในประเทศเนปาล) ลักษณะเด่นอีกประการของเมยาซูก็คือว่า เขาสนใจที่จะพูดถึงศาสนาในขณะที่นักปรัชญาคนอื่นๆก่อนหน้าในภาคพื้นทวีปยุโรปก่อนหน้าเขาไม่สนใจที่จะพูดเรื่องศาสนาหรือเรื่องพระเจ้าเลย ปัญหาเรื่องความชั่วร้ายเป็นปัญหาสำคัญที่มีประวัติยาวนานในโลกตะวันตก ตามความเชื่อของชาวคริสต์ พระเจ้าเป็นผู้ทรงสรรพพลานุภาพ คือทำอะไรได้ทุกอย่าง และยังเป็นผู้เปี่ยมไปด้วยเมตตาสูงสุด หากพระเจ้าเป็นเช่นนี้ แล้วเหตุใดจึงมีความชั่วร้ายอยู่ในโลก? ความชั่วร้ายแบ่งเป็นสองแบบคือความชั่วร้ายตามธรรมชาติ เช่นภูเขาไฟระเบิด แผ่นดินไหว คลื่นสุนามิ ฯลฯ กับความชั่วร้ายที่มนุษย์ทำ เช่นสงคราม การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ การทำรัฐประหาร ฯลฯ ไม่ว่าจะเป็นความชั่วร้ายแบบไหน ก็มีปัญหาว่าเหตุใดพระเจ้าจึงปล่อยให้เกิดเรื่องเลวร้ายแบบนี้ทั้งสิ้น หากพระเจ้าสามารถป้องกันไม่ให้เกิดเรื่องเลวร้ายแบบนี้ได้ ก็มีปัญหาว่าพระเจ้ารักโลกกับรักมนุษย์จริงหรือไม่ แล้วจะเป็นพระเจ้าที่มนุษย์ยึดมั่นศรัทธาได้อย่างไร แต่หากพระเจ้าไม่สามารถป้องกันได้ ก็มีปัญหาว่าพระเจ้าไม่ได้ทรงสรรพพลานุภาพจริง แล้วจะเป็นพระเจ้าผู้สร้างทุกสิ่งทุกอย่างได้อย่างไร

วงการคริสตศาสนาโดยทั่วไปจะตอบว่า ในกรณีของความชั่วร้ายของมนุษย์ พระเจ้าได้สร้างมนุษย์ให้มีเสรีภาพ ดังนั้นหากมนุษย์คนหนึ่งจะสร้างความชั่วร้ายต่างๆนานา ก็เป็นเสรีภาพของมนุษย์คนนั้นเองที่จะทำ พระเจ้าเพียงแต่สร้างมนุษย์ให้มีความสามารถเช่นนี้เท่านั้น การคิดแบบนี้ก็มีปัญหาอยู่ที่ว่า หากคนๆหนึ่งใช้เสรีภาพไปในทางที่ก่อความชั่วร้าย แล้วพระเจ้าไม่ได้เป็นผู้รับผิดชอบในท้ายที่สุด แล้วเราจะนับถือพระเจ้าไปได้อย่างไร เพราะเราจะนับถือหรือเกรงกลัวพระเจ้าได้อย่างเต็มเปี่ยม ก็ต่อเมื่อพระเจ้าเป็นผู้รับผิดชอบสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นเท่านั้น การที่พระเจ้าให้มนุษย์เป็นผู้เลือกเองดูเหมือนกับว่า พระเจ้าละทิ้งภารกิจในการดูแลโลกมนุษย์ให้แก่มนุษย์ด้วยกันเอง แล้วหากมนุษย์เลือกที่จะไม่นับถือพระเจ้าเพราะเหตุนี้ จะทำอย่างไร ส่วนในกรณีของความชั่วร้ายจากภัยธรรมชาติ มีนักปรัชญาคนหนึ่งคือก๊อตฟริต ไลบ์นิซ เสนอว่าโลกนี้เป็นโลกที่ดีที่สุด พระเจ้าไม่สามารถจะสร้างโลกที่ดีกว่านี้ได้แล้ว ภัยพิบัติต่างๆ เช่นแผ่นดินไหวหรือคลื่นสุนามิ เป็นส่วนหนึ่งของแผนการของพระเจ้าที่จะสร้างโลกนี้ให้ดีที่สุด การมีแผ่นดินไหวคือการเคลื่อนที่ของเปลือกโลก ซึ่งทำให้เกิดการหมุนเวียนของแร่ธาตุต่างๆจากใต้โลกขึ้นมายังบนโลก และการมีเหล็กหลอมเหลวอยู่ใต้พื้นโลกก็ยังทำให้โลกมีสนามแม่เหล็ก ทำให้ป้องกันรังสีจากดวงอาทิตย์ได้ ผิดกับดาวอังคารที่ไม่มีแผ่นดินไหว ไม่มีเหล็กหลอมเหลว (หรือหากยังมีเหลือก็น้อยมาก) ทำให้ดาวอังคารได้รับรังสีอันตรายต่างๆจากดวงอาทิตย์โดยตรง และยากที่จะมีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้ ดังนั้นที่เรามองว่าเป็นภัยพิบัติหรือความชั่วร้าย แท้จริงแล้วเป็นประโยชน์ที่พระเจ้ามอบให้ต่างหาก อย่างไรก็ตามการมองเช่นนี้ก็มีปัญหาว่า เหตุใดพระเจ้าจึงต้องสร้างเงื่อนไขทางเลือกแบบนี้ขึ้นมาด้วย หากพระเจ้าทำทุกอย่างได้จริง ทำไมจึงไม่สร้างโลกขึ้นมาให้ปลอดจากรังสีต่างๆ และในขณะเดียวกันก็ไม่ต้องมีแผ่นดินไหวหรือภูเขาไฟระเบิดด้วย

Earthquakeข้อเสนอของเมยาซูต่อปัญหาเรื่องความชั่วร้ายเป็นข้อเสนอที่ใหม่มากและไม่มีใครเคยเสนอแบบนี้มาก่อน แทนที่เขาจะเสนอว่าพระเจ้าดำรงอยู่มาตลอดเป็นนิรันดร์แบบที่ศาสนาคริสต์เชื่อ เมยาซูกลับเสนอว่าในเวลานี้พระเจ้ายังไม่มีอยู่ แต่เป็นไปได้ที่ในอนาคตจะปรากฏมีพระเจ้าขึ้น การที่เขาเสนอแบบนี้ก็ตรงกับแนวคิดหลักของเขาที่บอกว่า ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปได้ เมยาซูอ้างอิงถึงทรรศนะของกรีกโบราณที่ถือว่ามีโลกซ้อนกันสามโลก ได้แก่โลกของสิ่งไม่มีชีวิต โลกของสิ่งมีชีวิต และโลกของมนุษย์ แล้วเขาก็เสนอโลกขึ้นมาใหม่อีกโลกหนึ่ง คือ “โลกแห่งความยุติธรรม” โดยในโลกนี้สิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นโดยไม่ยุติธรรมจะได้รับการแก้ไขทำให้เกิดเป็นความยุติธรรมขึ้น เขาสนใจการตายอย่างไม่ยุติธรรมเป็นพิเศษ เช่นเด็กที่ต้องตายไปอย่างไม่มีเหตุผล คนที่ถูกกลั่นแกล้งจนถึงแก่ความตาย คนที่ขาดโอกาสที่ตนควรจะได้รับในชีวิต แต่กลับมาตายเสียก่อน ฯลฯ คนเหล่านี้จะเป็นไปได้ว่าจะเกิดใหม่ในโลกที่สี่แห่งความยุติธรรมนี้ ทั้งนี้การเกิดขึ้นของโลกที่สี่กับการเกิดใหม่ของคนที่ตายไปโดยไม่ยุติธรรมเช่นนี้ จำเป็นต้องอาศัยผู้ที่มีอำนาจเทียบเท่าพระเจ้า ดลบันดาลให้เกิดขึ้นมา ทั้งหมดนี้เมยาซูเชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้เพราะทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปได้อย่างที่ได้เสนอไว้ก่อนหน้า การเกิดใหม่ของผู้ที่ถึงแก่ความตายอย่างไม่ยุติธรรมนี้ ก็จะเป็นการเกิดใหม่แบบยังคงร่างกายเดิม เหมือนคนที่นอนหลับไปแล้วตื่นขึ้นมา ความทรงจำต่างๆก็จะยังอยู่ แล้วก็สำนึกว่าตนเองได้รับโอกาสใหม่ในการดำรงอยู่ และผู้ที่ใช้อำนาจเทียบเท่าพระเจ้านี้ก็จะไม่ทำตนเป็นพระเจ้า คืออยู่บนสวรรค์แล้วปกครองโลกมนุษย์ แต่ก็จะเป็นมนุษย์คนหนึ่งท่ามกลางมนุษย์คนอื่นๆทั้งหมด

ข้อเสนอนี้ของเมยาซูเป็นการแก้ปัญหาความชั่วร้ายได้เพราะว่า เมื่อในเวลานี้พระเจ้ายังไม่ได้มีอยู่ ก็เลยไปโทษพระเจ้าไม่ได้ว่าได้สร้างโลกที่มีความชั่วร้ายขึ้นมา ตามทรรศนะของเมยาซู พระเจ้าไม่ได้มีอยู่ในวลานี้ แต่อาจจะมีขึ้นมาในอนาคตก็ได้ ข้อเสนอนี้ขัดแย้งกับข้อเสนออันมีชื่อเสียงของฟรีดริค นิตเชที่บอกว่าพระเจ้าตายแล้ว ตามความคิดของนิตเช พระเจ้าเคยมีอยู่ในอดีต แต่ในปัจจุบันนี้ไม่มีพระเจ้าอยู่แล้ว แต่ข้อเสนอของเมยาซูก็คือว่า เวลานี้ไม่ได้มีพระเจ้าอยู่ แต่พระเจ้าอาจกิดขึ้นมาในอนาคตก็ได้ การคิดเช่นนี้ทำให้เรามีความหวัง หวังว่าโลกในอนาคตจะมีความยุติธรรมและทำให้ความฝันความปรารถนาของเราเป็นจริงมากกว่าโลกที่เป็นอยู่ในขณะนี้

ดังนั้น ตามทรรศนะของเมยาซูการที่โลกนี้มีความชั่วร้ายทั้งสองแบบอยู่ ก็เป็นเพราะว่ามีคนที่ตั้งใจทำความชั่วร้าย และโลกของเราเองก็ยังเต็มไปด้วยความเสี่ยงภัยต่างๆอยู่ ซึ่งทั้งสองอย่างนี้เป็นเรื่องของธรรมชาติ ในเมื่อยังไม่มีพระเจ้า ก็ไม่มีปัญหาเรื่องความชั่วร้ายในขณะนี้ แต่อย่างไรก็ตามทรรศนะของเมยาซูแตกต่างจากทรรศนะของฝ่ายสสารนิยมที่ไม่เชื่อว่ามีพระเจ้า เพราะเขาเชื่อว่าในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดมีพระเจ้า หรือผู้ที่ใช้อำนาจเทียบเท่าพระเจ้าขึ้น และผู้นี้เองที่จะเป็นผู้แก้ไขความผิดพลาดทั้งมวล โดยเฉพาะความชั่วร้ายที่เกิดจากมนุษย์ ซึ่งได้ทำลายความยุติธรรมลงไป ปัญหาเรื่องความชั่วร้ายอาจมีอยู่ในปัจจุบัน แต่เป็นไปได้ว่าจะได้รับการแก้ไขในอนาคต

 

ไมเคิล ดัมเมทท์กับสัจนิยมและปฏิสัจนิยม

ทรรศนะหนึ่งที่น่าสนใจมากและมีอิทธิพลในวงการปรัชญาภาษา ได้แก่เรื่อง semantic antirealism ของไมเคิล ดัมเมทท์ Semantic antirealism แปลเป็นไทยได้ว่า “ปฏิสัจนิยมเชิงอรรถศาสตร์” ซึ่งเป็นทรรศนะที่ถือว่า ไม่มีความเป็นจริงที่เป็นภววิสัยในเชิงอรรถศาสตร์

ก่อนที่เราจะเข้าใจประเด็นนี้ เราต้องพูดเกี่ยวกับสัจนิยมกับปฏิสัจนิยมเสียก่อน สัจนิยมหรือ realism คือทรรศนะที่ถือว่า มีความเป็นจริงอยู่ต่างหากจากจิตผู้คิดของเรา นั่นคือเป็นทรรศนะนี้เน้นเรื่อง “ความเป็นจริง” (reality) ของสิ่งต่างๆ โดยทั่วไปทรรศนะที่ขัดแย้งกับ realism ก็มักจะเป็น idealism ซึ่งถือว่า สิ่งต่างๆนั้นแท้ที่จริงแล้วเป็นเพียงภาพสะท้อนของจิต หรือเป็นผลงานสร้างสรรค์ของจิต (เช่นในปรัชญาของ Berkeley) เรื่องความแตกต่างระหว่างสองทรรศนะนี้เป็นสิ่งที่มีมาตลอดในอภิปรัชญา เปลโตจะถือว่า เป็นชาวสัจนิยมในกรณีของสิ่งต่างๆในโลกของแบบ (คือถือว่าเป็นจริงจริงๆ) ส่วนบรรดา materialist ทั้งหลายจะถือว่าเป็น realist ในกรณีของสิ่งต่างๆในโลกนี้

ส่วนคำว่า “ปฏิสัจนิยม” หรือ antirealism (บางทีเขียนว่า anti-realism) นั้นเป็นคำกลางๆ ที่ใช้เรียกทรรศนะต่างๆที่ขัดแย้งกับ realism นั่นคือ เราถือว่า idealism เป็น antirealism ทรรศนะหนึ่ง แต่ฝ่ายจิตนิยมเขาก็อาจอ้างได้ว่า ทรรศนะของเขาก็เป็นสัจนิยม เพราะเขาถือว่า จิตเป็นความจริงแท้ นั่นคือเขาไม่ได้ปฏิเสธความจริงแท้ เพียงแต่เขาบอกว่า ความจริงแท้ที่ว่านันไม่ใช่อะไรอื่นอกจากจิต

อย่างไรก็ตาม antirealism จะถือว่า ความเป็นจริงแท้นั้นไม่มีอยู่จริงอย่างเป็นภววิสัย (คือไม่ขึ้นกับผู้รับรู้) เป็นทรรศนะนี้ขัดแย้งและปฏิเสธสัจนิยมโดยตรง

ทีนี้ดัมเมทท์เสนอทรรศนะของเขาในบริบทของอรรถศาสตร์ นั่นคือเขากล่าวว่า มีประโยคบางประโยคที่ไม่สามารถตัดสินค่าความจริงได้ และเมื่อตัดสินค่าความจริงไม่ได้ เราก็บอกไม่ได้ว่าประโยคหรือประพจน์นั้นเป็นจริงหรือเป็นเท็จ และการที่ประพจน์นี้ไม่มีค่าความจริง เป็นคุณสมบัติของประพจน์นั้นเอง ตราบเท่าที่เรายังตรวจสอบไม่ได้ว่าประพจน์เป็นจริงหรือเท็จ ตราบนั้นเราก็ต้องรับว่าประพจน์นั้นๆไม่มีค่าความจริงอยู่ในตัว

การที่ประพจน์ไม่มีค่าความจริงฟังดูไม่เห็นแปลกอะไร แต่จริงๆแล้ว ดัมเมทท์กำลังเสนอความคิดที่สวนกระแส และเป็นความคิดที่รุนแรงมาก การที่ประพจน์ไม่มีค่าความจริงเมื่อเราไม่รู้ (หรือยังไม่รู้) ว่ามันเป็นจริงหรือเท็จ หมายความว่า เมื่อเรายังไม่รู้ ความเป็นจริงที่ประพจน์นั้นๆบ่งถึง ก็ย่อมตัดสินไม่ได้ไปด้วยว่าเป็นอย่างไร เนื่องจากภาษาสะท้อนโลก (หรือภาษาบรรยายสถานการณ์ได้ตรงกับโลก) การที่ประพจน์ใดประพจน์หนึ่งไม่มีค่าความจริงนั้น หมายความว่า ความเป็นจริงที่ภาษานั้นสะท้อนออกมา ก็ย่อมต้องถูก “แขวน” ไปด้วย คือในความเป็นจริง ความเป็นจริงที่ระบุโดยประพจน์ที่ตัดสินค่าความจริงไม่ได้นั้น จะระบุออกมาไม่ได้เลยว่าเป็นอย่างไร นั่นคือจะเป็นอะไรที่แขวนเอาไว้ ซึ่งแสดงว่าจะเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งก็ไม่ใช่ทั้งสิ้น หรือพูดให้ง่ายๆก็คือว่า หากเรามีประพจน์ที่บอกไม่ได้ว่าจริงหรือเท็จ ประพจน์นั้นก็ย่อมไม่มีค่าความจริง นั่นคือความเป็นจริงที่ประพจน์นั้นระบุถึง ไม่สามารถเกี่ยวข้องอะไรกับเราได้เลย เสมือนว่าความเป็นจริงนั้นไม่มีอยู่ (ความจริงจะพูดว่าไม่มีอยู่ก็ยังไม่ได้ เพราะหากไม่มีอยู่แบบตรวจสอบได้ (เช่นตรวจสอบได้ว่าเป็นเท็จ) ก็ย่อมทำให้ประพจน์มีค่าความจริงเป็นเท็จ แต่ในกรณีนี้เราพูดว่า ในกรณีของประพจน์ที่ตรวจสอบค่าความจริงไม่ได้ ความเป็นจริงที่เป็น truth condition ให้แก่ประพจน์นั้นๆ ไม่มีความหมาย ไม่มีบทบาทอะไรทั้งสิ้น)

ตัวอย่างหนึ่งที่จะทำให้เรื่องนี้ง่ายขึ้นก็คือว่า ปกติเรามักจะมีสามัญสำนึกว่า ประพจน์ใดๆก็ตามจะต้องเป็นจริงหรือเป็นเท็จอย่างใดอย่างหนึ่งเสมอ (กฎสองค่าความจริง) แม้กระทั่งประพจน์ที่เรายังไม่รู้ว่าจริงหรือเท็จ เราก็ยังเชื่อว่า จริงๆแล้วมันต้องเป็นจริงหรือเป็นเท็จอย่างใดอย่างหนึ่ง ตัวอย่างเช่น

(1) มีมนุษย์คนหนึ่งหน้าตาเหมือนพิชญพงษ์ อาศัยอยู่ในเอกภพขนาน

“เอกภพขนาน” หรือ parallel universe ได้แก่เอกภพอีกระบบหนึ่ง ซึ่งอยู่คู่ขนานกับของเรา ที่นักฟิสิกส์บางกลุ่มบอกว่ามีอยู่จริง แต่ประเด็นของเราก็คือว่า เรายังไม่มีวิธีการใดที่จะตรวจสอบได้โดยวิธีการทางประสาทสัมผัส ว่า (1) เป็นจริงหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่า หากมีเอกภพขนานจริง (1) ก็ต้องเป็นจริงหรือเป็นเท็จอย่างใดอย่างหนึ่ง คือจะมีมนุษย์ที่หน้าตาเหมือนพิชญพงษ์ หรือไม่มี ไม่มีทางเป็นอย่างอื่นนอกจากนี้ แม้ว่าเรายังไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร แต่เราเชื่อว่า มันจะต้องเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งในสองอย่างนี้ แนวคิดนี้เรียกว่า “สัจนิยมเชิงอรรถศาสตร์” เนื่องจากถือว่า เงื่อนไขความจริงของประพจน์จะต้องมีอยู่หรือไม่มีอยู่อย่างใดอย่างหนึ่งโดยแน่ชัด นั่นคือมีความเป็นจริงอยู่ ที่ทำให้ (1) เป็นจริงหรือเท็จ โดยไม่ขึ้นกับว่า เรารู้ได้หรือไม่ได้

แต่ดัมเมทท์เสนอแนวคิดที่บอกว่า ไม่เป็นเช่นนั้น ดังนั้นทรรศนะของดัมเมทท์จึงเป็น “ปฏิสัจนิยมเชิงอรรถศาสตร์” นั่นคือ ดัมเมทท์บอกเราว่า เมื่อเราไม่รู้ว่า (1) เป็นจริงหรือเท็จ สถานการณ์ที่ (1) พูดถึงก็ย่อมบอกไม่ได้ว่ามีอยู่หรืไม่มีอยู่ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า แทนที่ดัมเมทท์จะคิดแบบชาวสัจนิยม ที่คิดว่าแม้ว่ามนุษย์จะไม่มีความรู้ (หรือยังไม่มีความรู้) ว่า (1) เป็นจริงหรือเท็จก็ตาม แต่ (1) จะต้องเป็นจริงหรือเป็นเท็จในตัวของมันอยู่แล้ว ไม่ขึ้นกับมนุษย์ แต่ดัมเมทท์บอกว่า ไม่เป็นอย่างนั้น (1) จะมีค่าความจริงเมื่อและต่อเมื่อเรารู้ว่ามันเป็นจริงหรือเท็จ ในเมื่อเรายังไม่รู้ ก็แสดงว่า (1) ไม่มีค่าความจริง นั่นคือสถานการณ์ที่ (1) ระบุถึงจะทำให้ประพจน์เป็นจริงหรือเท็จ จะขึ้นอยู่กับว่า เรารู้ได้หรือไม่ได้ว่าประพจน์นี้เป็นจริงหรือเท็จ พูดง่ายๆก็คือว่า สถานการณ์ของโลกขึ้นอยู่กับสภาพความรู้ของเรานั่นเอง

นิสิตลองคิดเรื่องนี้มากๆ แล้วเขียน comments