การแก้ไขปัญหาพิจารณาตำแหน่งวิชาการล่าช้า

ปัญหาที่สำคัญที่สุดและน่าจะร้ายแรงมากที่สุดเนื่องจากส่งผลเสียให้แก่การทำงานของมหาวิทยาลัยต่างๆมากที่สุด เห็นจะได้แก่เรื่องความล่าช้าของการขอตำแหน่งวิชาการ ปัญหานี้เป็นเรื่องของการบริหารจัดการโดยตรง และไม่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องคุณภาพของงานวิจัยที่ส่งเข้ามารับการพิจารณา อาจารย์หลายท่านรอผลการพิจารณาเป็นเวลานานมาก ซึ่งนอกจากจะส่งผลเสียแก่กำลังใจในการทำงานของอาจารย์ผู้นั้นแล้ว ยังก่อให้เกิดผลเสียแก่การบริหารงานของมหาวิทยาลัยอีกด้วย เนื่องจากความล่าช้าในกระบวนการดังกล่าว ทำให้เกิดการรอคอยติดขัด เมื่อมีอาจารย์ส่งผลงานเข้ามารับการพิจารณาใหม่ ก็ยิ่งทำให้งานคั่งค้างอยู่ที่ฝ่ายบริหารมากขึ้น ในขณะที่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมีเท่าเดิม ผลก็คืออาจทำให้กระบวนการทั้งหมดยิ่งขาดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นไปอีก

ที่มาของปัญหานี้มาจากว่า ประเทศไทยไม่มีข้อกำหนดบังคับว่ากระบวนการพิจารณาตำแหน่ง จะต้องสิ้นสุดภายในเวลาเท่าใด ดังนั้นในทางทฤษฎีแล้วกระบวนการดังกล่าวอาจยืดยาวไปได้ถึงสิบหรือยี่สิบปี หรือแม้แต่มากกว่านั้น จะเห็นได้ว่าลักษณะเช่นนี้ร้ายแรงและเป็นผลเสียมาก กระบวนการอื่นในมหาวิทยาลัย ก็ไม่ได้มีอะไรที่ขาดการกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดเช่นนี้ การเข้าเรียนของนิสิตนักศึกษา ถ้าเป็นระดับปริญญาตรี ก็ไม่เกินแปดปีการศึกษา ในระดับบัณฑิตศึกษา ก็ยิ่งน้อยไปกว่านั้นอีก การดำรงตำแหน่งบริหารระดับสูงก็มีการกำหนดระยะเวลาชัดเจน เช่นอธิการบดีเป็นได้ไม่เกินสี่ปี กรรมการสภามหาวิทยาลัยเป็นได้ในวาระหนึ่งๆไม่เกินสองหรือสามปีเป็นต้น

ปัญหาดังกล่าวนี้เป็นที่รับรู้ และมีคนกล่าวถึงด้วยความเป็นห่วงมาเป็นเวลานาน แต่ก็ไม่มีมาตรการใดที่ออกมาแก้ไข ด้วยเหตุนี้ จึงเสนอว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีมาตรการบังคับให้มีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการพิจารณาตำแหน่งวิชาการของอาจรย์คนหนึ่ง เช่นเดียวกับตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง หรือกำหนดระยะเวลาการเรียนของนิสิตนักศึกษา การกำหนดระยะเวลานี้ประกอบด้วยการกำหนดว่า หากกระบวนการพิจารณาตำแหน่งไม่เสร็จสิ้นภายในเวลาที่ประกาศไว้ก่อนล่วงหน้า เช่นสามปี ก็ให้ถือว่าอาจารย์ที่รับการพิจารณาคนนั้น ผ่านการพิจารณาตำแหน่งไปโดยปริยาย

เหตุผลสำคัญที่เสนอเช่นนี้ก็เนื่องจากว่า ความรับผิดชอบในการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์ เป็นหน้าที่โดยตรงของฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัย ดังนั้นจึงไม่ควรจะปัดความรับผิดชอบนี้หากกระบวนการดังกล่าวยืดเยื้อไปเรื่อยๆไม่จบสิ้น การแสดงความรับผิดดังกล่าวก็อยู่ที่การให้อาจารย์ที่รับการพิจารณา ได้รับตำแหน่งนั้นไปโดยอัตโนมัติ เนื่องจากภายในเวลาที่กำหนด มหาวิทยาลัยไม่สามารถตัดสินได้ว่าอาจารย์คนนี้เข้าข่ายหรือไม่เข้าข่ายที่จะได้รับเลื่อนตำแหน่งวิชาการ ดังนั้นเพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบมหาวิทยาลัยต้องดำเนินการต่อไปเสมือนหนึ่งว่าอาจารย์คนนี้ได้รับความเห็นชอบในการพิจารณาตำแหน่งไปแล้ว การให้อาจารย์ผ่านการพิจารณาตำแหน่งไปโดยปริยาย ไม่ว่าจะอย่างไร ก็เป็นการดีทั้งแก่ตัวอาจารย์เองและแก่มหาวิทยาลัยเอง ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ดังนั้นหากเปรียบเทียบกับการปล่อยกระบวนการให้ยืดเยื้อไปเรื่อยๆไม่รู้ว่าเมื่อใดจะจบสิ้น การให้ตำแหน่งไปโดยปริยายก็ย่อมเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

การทำเช่นนี้ไม่ใช่ของใหม่ กระบวนการพิจารณาอื่นๆภายในมหาวิทยาลัยเองก็มีการทำเช่นนี้อยู่เสมอๆ การพิจารณางานวิจัยโดยผู้ทรงคุณวฒิในบริบทอื่น เช่นในการพิจารณาจริยธรรมการวิจัย หรือการพิจารณาคำตอบที่ผู้วิจัยส่งกลับมาในกรณีที่กรรมการมีคำถามหรือข้อเสนอแนะไป ก็มักจะมีกำหนดว่า หากกรรมการไม่ตอบกลับมาภายในเวลาเท่านั้นเท่านี้ ก็จะถือเสมือนว่ากรรมการนั้นให้ความเห็นชอบแล้ว นอกจากนี้ในการบริหารงานด้านอื่นๆของมหาวิทยาลัย ก็มีการปฏิบัติทำนองนี้เช่นเดียวกัน เช่นหากกรรมการไม่ตอบกลับมาภายในเวลาที่กำหนด ว่าจะรับรองรายงานการประชุมมหรือมีข้อเสนอแก้ไขอะไร ก็ให้ถือว่ากรรมการคนนั้นรับรองรายงานการประชุมไปแล้ว เป็นต้น

ปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยในการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการก็คือว่า ผู้ทรงคุณวุฒิที่ทาบทามไปไม่ตอบกลับมา คือไม่ตอบว่าตนเองจะตอบรับเป็นกรรมการ หรือจะไม่ตอบรับเป็นกรรมการ ในกรณีนี้ต้องถือว่าผู้ที่มหาวิทยาลัยทาบทามไปแต่ไม่ตอบกลับมานี้ (ภายในเวลาที่ไม่นานเกินไป เช่นหนึ่งเดือน) ตอบปฏิเสธการทาบทาม และมหาวิทยาลัยต้องหาคนอื่นมาเป็นผู้ทรงคุณวุฒิแทนต่อไป ปัญหาอีกประการหนึ่งได้แก่จำนวนของ “ผู้ทรงคุณวุฒิ” ที่มีสิทธิในการอ่านงานพิจารณาตำแหน่งนั้น มีน้อยมาก ไม่เพียงพอแก่การทำงานให้แก่อาจารย์ทั้งประเทศ ตรงนี้เป็นปัญหาสำคัญที่กระทรวงที่เกี่ยวข้องจะต้องแก้ไข แต่ไม่ว่าจะอย่างไรข้อเสนอก็คือว่า หากยังมีปัญหาเรื่องนี้อยู่และแก้ไม่ได้ในเวลาที่กำหนด ก็เท่ากับว่ามหาวิทยาลัยและกระทรวงมีความบกพร่องในการทำงาน (เนื่องจากมีหน้าที่ต้องพิจารณา แต่ทำไม่ได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม) ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการให้อาจารย์ที่รับการพิจารณา ได้รับตำแหน่งที่ขอไปโดยปริยาย

อาจมีผู้แย้งว่า ข้อเสนอนี้ทำให้เกิดความเป็นไปได้ว่า อาจารย์จะได้เลื่อนตำแหน่งวิชาการโดยยังไม่รู้ว่ามีความเหมาะสมกับตำแหน่งนั้นจริงๆหรือไม่ เพราะยังไม่ได้รับการตัดสิน แต่นั่นเป็นปัญหาปลีกย่อย ปัญหาที่ใหญ่กว่าก็คือว่าการติดขัดสะสมของกระบวนการทั้งหมด หากมีการคั่งค้างของงานที่เข้ามายังมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยก็ควรมีระบบที่จะทำให้บอกได้ว่างานที่อาจารย์ส่งเข้ามารับการพิจารณา มีแนวโน้มจะเข้าข่ายหรือไม่เข้าข่ายจะได้ตำแหน่งนั้นหรือไม่ โดยไม่ต้องพึ่งพาผู้ทรงคุณวุฒิในทุกกรณี การทำเช่นนี้เป็นแบบเดียวกับการทำงานของบรรณาธิการวารสารวิชาการ จะพิจารณาบทความที่ส่งเข้ามา ว่าเข้าข่ายหรือไม่เข้าข่ายตามขอบเขตและวัตถุประสงค์ของวารสารหรือไม่ หากไม่เข้าข่ายก็ตอบปฏิเสธไปเลยโดยไม่ต้องส่งให้ผู้ประเมินพิจารณา ในกรณีของอาจารย์ที่ส่งผลงาน ก็เป็นเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ในการประโยชน์จากระบบฐานข้อมูลอ้างอิงต่างๆ เช่น Scopus, ISI หรืออื่นๆ ก็เป็นข้อบ่งชี้คุณภาพของผลงานในระดับที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป และใครก็สามารถเปิดไปดูในฐานข้อมูลเหล่านี้ได้ว่า งานที่อาจารย์ส่งมารับการพิจารณา อยู่ในฐานข้อมูลเหล่านี้หรือไม่ ดังนั้นการบอกว่าในกรณีที่กระบวนการพิจารณาล่าช้าแล้วได้ตำแหน่งไปเลย จะไม่เหมาะสม ก็ไม่มีน้ำหนักมากนัก หากงานที่ส่งเข้ามามีปรากฏในฐานข้อมูลเหล่านี้ หรือเข้าข่ายตัวบ่งชี้คุณภาพที่เป็นสาธารณะที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปอย่างอื่นๆ

ในปัจจุบัน การขอตำแหน่งวิชาการมีความสำคัญมากต่อการทำงานของอาจารย์ เนื่องจากผูกติดอยู่กับการต่อสัญญาและความมั่นคงในอาชีพการงานของอาจารย์ ดังนั้นหากมีความล่าช้าออกไปโดยไม่จบสิ้น ก็จะเป็นผลเสียแก่อาจารย์โดยตรง โดยที่อาจารย์ไม่ได้ทำอะไรผิด ผู้ที่ต้องรับผิดชอบและแบกรับความผิดก็ย่อมได้แก่มหาวิทยาลัย ที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบดำเนินการเรื่องนี้โดยตรง การให้อาจารย์ได้ตำแหน่งไปตามที่ขอหากกระบวนการนี้มหาวิทยาลัยไม่สามารถทำให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด จึงเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาความล่าช้าดังกล่าวโดยตรง และเชื่อว่าน่าจะทำให้การทำงานของมหาวิทยาลัยเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.