งานวิจัย: ผลกระทบเชิงสังคม

รองคณบดีฝ่ายวิจัยขอให้อาจารย์ในคณะช่วยคิดเกี่ยวกับประเด็นเกี่ยวกับการวิจัยสี่ประเด็น ได้แก่ ผลกระทบทางสังคม การบูรณาการ การตีพิมพ์เผยแพร่ และปัญหาเชิงระบบเกี่ยวกับการวิจัย ก็เลยถือโอกาสพูดเรื่องนี้พวกนี้ที่นี่ครับ ในวันนี้ขอพูดเรื่องแรกก่อนคือเรื่องผลกระทบเชิงสังคม หรือผลกระทบต่อสังคม

ปัจจุบันมีการพูดถึง “ผลกระทบเชิงสังคม” ของงานวิจัยกันมาก เรื่องนี้เป็นที่สนใจของอาจารย์คณะอักษรศาสตร์ เพราะงานวิจัยของอาจารย์คณะนี้มักถูกมองว่า ไม่ค่อยมีผลกระทบต่อสังคมเท่าใด แต่ก่อนจะอภิปรายเรื่องนี้ในรายละเอียด ก็ขอพูดเกี่ยวกับว่าอะไรคือ “ผลกระทบเชิงสังคม” ของงานวิจัยเสียก่อน ไปๆมาๆคนที่พูดเรื่องนี้แล้ววิจารณ์การทำวิจัยว่าไม่มีผลกระทบ อาจไม่เข้าใจว่าผลกระทบคืออะไรก็ได้

เราอาจเริ่มที่งานที่เห็นชัดๆว่ามีผลกระทบก่อน ตัวอย่างเช่นงานวิจัยของอเล็กซานเดอร์ เฟลมมิ่งที่ค้นพบสารปฏิชีวนะ ผลกระทบคือโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล โรคหลายๆอย่างที่ไม่มีทางรักษา เช่นวัณโรค หรือโรคติดเชื้อต่างๆ ก็สามารถรักษาให้หายได้ หรือการค้นพบของไอน์สไตน์ว่าแสงเดินทางเป็นอนุภาค ก็ก่อให้เกิดผลกระทบตรงที่เราสามารถออกแบบเทคโนโลยีให้ฉายแสงไปที่ใด แล้วไปเปิดปิดสวิทช์ได้ เช่นประตูลิฟท์เป็นต้น แบบนี้เป็นผลกระทบที่เห็นชัดเจน

แต่งานวิจัยในชีวิตของอาจารย์ทั่วไปไม่ได้เป็นแบบนั้น งานวิจัยแบบที่พูดถึงข้างต้นเป็นงานในประวัติของวิชาวิทยาศาสตร์ แต่งานทั่วๆไปก็คืองานที่ก่อให้เกิดความก้าวหน้าทีละเล็กน้อย เพราะไม่ใช่บ่อยๆที่จะมีใครคิดงานวิจัยที่ก่อให้เกิดความก้าวหน้าได้อย่างชัดเจนมากๆแบบของไอน์สไตน์ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เลยเกิดคำถามว่า ที่พูดกันว่างานวิจัยที่อาจารย์มหาวิทยาลัยทำต้องก่อให้เกิด “ผลกระทบเชิงสังคม” นั้นมีความหมายว่าอะไรกันแน่ งานของไอน์สไตน์เรื่องแสงเป็นอนุภาคก่อให้เกิดผลกระทบเชิงสังคมตรงที่มีการพัฒนาเป็นเทคโนโลยีในหลายรูปแบบ แต่งานวิจัยของอาจารย์สาขาวิทยาศาสตร์เองก็ไม่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบแบบนี้ทุกชิ้นไป ผู้บริหารจะใช้อำนาจสั่งให้อาจารย์วิทยาศาสตร์หยุดทำการวิจัยเหล่านี้ไปหรือไม่ งานทางคณิตศาสตร์ที่ศึกษารูปทรงหลายมิติ หรืองานฟิสิกส์ที่ศึกษาเอกภพคู่ขนาน ดูจะไม่มีทางแปลให้เป็นผลกระทบเชิงสังคมได้ในเวลาอันใกล้ แล้วเราจะเลิกสนับสนุนงานวิจัยเหล่านี้ไปเลยหรือไม่ คำตอบคือไม่ เพราะหากไม่มีงานเหล่านี้ก็จะไม่มีทางพัฒนาความเข้มแข็งทางวิชาการให้แก่ประเทศได้

ในทำนองเดียวกัน งานในสาขามนุษยศาสตร์ก็สามารถก่อให้เกิดผลกระทบเชิงสังคมได้ เช่นงานเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ เช่นเรื่องศิลาจารึกหรืออนุสาวรีย์ของบุคคลที่มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงความรู้เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างใหญ่หลวงแก่สังคม รวมไปถึงหลักสูตร การสร้างทัศนคติ ความเชื่อ คุณค่าในสังคม ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสังคมแน่นอน งานวิจัยประเภทนี้ทำให้หลายฝ่ายที่มักบอกว่างานวิจัยทางมนุษยศาสตร์ไม่มี “ผลกระทบเชิงสังคม” ต้องปิดปากเงียบเพราะจำนนด้วยหลักฐานที่ปฏิเสธไม่ได้

และในทำนองเดียวกัน งานวิจัยทางมนุษยศาสตร์ที่ไม่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงก็มีอยู่มาก แต่ก็เป็นผลกระทบเล็กๆที่เป็นการขยายขอบเขตของความรู้ให้กว้างออกไป งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ทั่วๆไปก็ไม่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมหาศาลแบบงานของไอน์สไตน์ และในทำนองเดียวกันงานวิจัยทางมนุษยศาสตร์ทั่วๆไปก็ไม่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบกว้างขวางแบบงานที่เสนอมาข้างต้น แต่ก็เป็นงานที่สร้างความเข้มแข็งทางวิชาการให้แก่สังคมเช่นเดียวกัน

แล้วเราควรจะถือว่างานเล็กๆที่สร้างความเข้มแข็งทางวิชาการเป็นงานที่สร้าง “ผลกระทบเชิงสังคม” หรือไม่? ก็ไม่น่าจะมีเหตุผลอะไรที่จะทำให้เราไม่คิดแบบนั้น งานที่มีคุณภาพจะเป็นงานที่สร้างผลกระทบ เนื่องจากงานที่มีคุณภาพจะก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางวิชาการ เป็นงานที่ขยายพรมแดนความรู้ให้กว้างออกไป และผลกระทบเชิงสังคมนอกจากผลกระทบเชิงวิชาการที่เกิดขึ้น ก็คือความเข้มแข็งทางความคิดและทางวัฒนธรรมของสังคม อันเป็นผลโดยตรงของงานวิจัยทำนองนี้

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.