คนเรา “ตาย” เมื่อใด?

กรณีแพทยสภาออกมาเพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพแพทย์ผ่าตัดท่านหนึ่ง กับระงับใช้ใบอนุญาตชั่วคราว แก่แพทย์ผู้ช่วยอีกจำนวนหนึ่ง ด้วยข้อหาปลูกถ่ายอวัยวะอย่างผิดจรรยาแพทย์ ได้ทำให้หลายฝ่ายออกมาหาทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ลักษณะเช่นนี้เรียกได้ว่าเป็นลักษณะประจำของสังคมไทยปัจจุบัน ที่เมื่อมีเรื่องมีราวอะไรเกิดขึ้น ก็มีหลายฝ่ายออกมาเสนอแนวทางแก้ปัญหา เข้าทำนอง “วัวหายแล้วล้อมคอก” แทนที่จะคิดล่วงหน้าเพื่อมิให้ปัญหาเช่นนั้นเกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม การออกมาคิดอย่างน้อยก็ยังดีไม่คิดอะไรเลย

ข้อเสนอประการหนึ่งที่มีบางฝ่ายเสนอมา ก็คือว่า เราต้องกำหนดนิยามของคำว่า “ตาย” ให้ชัดเจน ว่าเมื่อใดคนๆหนึ่งถึงเรียกได้ว่า “ตายแล้ว” เพราะถ้ายังไม่แน่นอนว่าเมื่อใดคนไข้ “ตาย” ก็ยังแน่ใจไม่ได้ว่า แพทย์ที่เข้าไปตัดเอาอวัยวะของคนไข้คนนี้ออกมา เพื่อนำไปปลูกถ่ายให้อีกคนหนึ่ง จะโดนข้อหาฆ่าคนตายหรือไม่ การตัดเอาอวัยวะของคนที่ “ตายแล้ว” ย่อมดีกว่าไปตัดเอาของคนที่ “ยังไม่ตาย” เสมอ ข้อเสนอนี้ดูค่อนข้างน่าขบขัน เพราะเราน่าจะรู้ๆกันโดยไม่ต้องมามัวคิด ว่าเมื่อไหร่ถึงเรียกว่า “ตาย” ผมเชื่อว่า เมื่อเราก็นึกถึงคนตาย เราย่อมนึกถึงศพที่นอนตัวเย็นชืด เนื้อตัวแข็ง นึกถึงโลงศพ นึกถึงศพที่นอนเหม็นคลุ้ง น้ำเหลืองไหลเยิ้ม ฯลฯ ในความคิดของเราทั่วๆไป คนเมื่อตายแล้ว ก็ถึงจุดสิ้นสุด ถ้าไม่เอาไปเผา ก็เอาไปฝัง ไม่ว่าจะอย่างไรร่างกายก็แตกสลายไป ไม่มีอะไรหลงเหลือ ที่เหลือก็เหลือแต่ความทรงจำของคนที่ยังอยู่

แต่ความเข้าใจทั่วๆไปเรื่องความตายนี้ ในปัจจุบันได้ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องยุ่งยาก และเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกันด้วยความก้าวหน้าของวิทยาการสมัยใหม่ เนื่องจากว่า มีความต้องการที่จะนำเอาอวัยวะที่ยัง “เป็นๆ” จากคนหนึ่งไปใช้กับอีกคนหนึ่ง อวัยวะต้อง “เป็นๆ” หมายความว่า เนื้อเยื่อของอวัยวะนั้น รวมทั้งเซลล์ต่างๆ ต้องยังมีชีวิตอยู่ เช่นถ้าเป็นไตก็ต้องเป็นไตที่เพิ่งควักออกมาใหม่ๆ ยังอุ่นๆ ไม่ใช่ไปเอาไตของศพขึ้นอืดมา เมื่อเกิดความต้องการเช่นนี้ ก็เลยมีการนิยาม หรือตีความคำว่า “ตาย” เสียใหม่ แทนที่คนจะ “ตาย” เมื่ออวัยวะทุกอย่างหยุดทำงาน ก็นิยามเสียใหม่ว่า “ตาย” เมื่ออวัยวะเพียงชิ้นเดียวเท่านั้น ที่หยุดทำงาน ได้แก่สมอง อวัยวะอื่นๆไม่ต้องหยุดทำงานไปด้วย ตามปกติ เมื่อสมองหยุดทำงาน อวัยวะอื่นๆจะหยุดตามไปด้วย เพราะสมองทำหน้าที่สั่งงาน เมื่อไม่มีใครสั่งและประสานงาน อวัยวะต่างๆก็หยุดลง หัวใจก็หยุดสูบฉีดเลือด ปอดหยุดปั๊มอ๊อกซิเจน เนื้อเยื่อต่างๆก็ไม่มีอาหาร และทยอยกันตายในเวลาไม่นาน แต่ด้วยเทคโนโลยีการแพทย์สมัยใหม่ ทำให้คนที่สมองหยุดทำงานไปแล้ว ยังคงมีอวัยวะอื่นๆที่ทำหน้าที่ต่อไปได้ เพราะเทคโนโลยีเป็นตัวสั่งงานแทนสมอง

เมื่อนิยามใหม่อย่างนี้ การปลูกถ่ายอวัยวะก็ทำได้โดยไม่ตะขิดตะขวงใจอะไรมาก เพราะถ้าตัดสินได้ว่า สมองของคนไข้คนนี้หยุดทำงานไปแล้ว ก็เรียกว่า “ตาย” ตามนิยามใหม่ การไปควักไตหรือหัวใจออกมาก็ไม่ผิด แต่เราจะเห็นว่า การ “ตาย” หรือ “เป็น” ในกรณีเหล่านี้นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายที่ต้องเน่าเหม็น ขึ้นอืด น้ำเหลืองไหล ฯลฯ อีกต่อไป

ปรากฎว่าในโลกปัจจุบัน เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากเสียจนกระทั่งทำให้เราต้องมาคิดกันใหม่ว่า “ตาย” กับ “เป็น” เป็นอย่างไร แทนที่ความตายกับความเป็นจะเป็นเรื่องของธรรมชาติ ตายก็ตาย เป็นก็เป็น แต่กลับกลายเป็นเรื่องที่ต้องมาหานิยาม หรือก็คือมาตีความกัน ไม่ต่างอะไรกับการตีความกฎหมายที่ถกเถียงกันอยู่ในเวลานี้

เรื่องน่าคิดก็คือ ถ้าขนาดความเป็นกับความตายยังเป็นเรื่องของการเถียงกันเรื่องจะตีความอย่างไร เช่นเดียวกับการตีความกฎหมาย โลกโลกาภิวัตน์ของเรานี้ก็ช่างแปลกประหลาดเอาเสียจริงๆ

โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์
๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๓

2 thoughts on “คนเรา “ตาย” เมื่อใด?

  1. ผมเข้าใจว่าบทความนี้เสียดสีความเคว้งคว้างของมนุษย์ในปัจจุบันนะครับ
    ที่ไม่สามารถหาหลักยึดให้กับตนเองได้ จึงต้องสร้างและกำหนดหลักการให้กับทุกสิ่งทุกอย่าง
    ….ไม่เว้นแม้แต่เรื่องความตาย

    แต่คิดอีกที ผมว่าไม่ยุติธรรมนักที่จะเสียดสีเช่นนั้น
    เพราะมนุษย์เคว้งคว้างมาตั้งแต่ยุคสมัยใหม่ที่พระเจ้าได้หมดอิทธิพลไป

    ผมมองว่า การตีความตามกฎหมาย ก็เป็นเพียงวิธีหนึ่งจากหลาย ๆ วิธี
    ที่มนุษย์ใช้สร้างความมั่นใจและความแน่นอนให้แก่ตนเอง

    ขอย้อนกลับไปแวบแรกที่ผมอ่านจบ ผมนึกถึงคำว่าสามัญสำนึกที่จะใช้ตัดสินความตายได้
    แต่ผมก็เกิดคำถามขึ้นมาทันทีว่าสามัญสำนึกคืออะไร มันถูกสร้างขึ้นมาเหมือนกับสิ่งอื่น ๆ หรือเปล่า
    ตอนนั้นล่ะครับ ที่ผมรู้สึกว่า มนุษย์ช่างเคว้งคว้างเหลือเกิน

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.