น้ำท่วมกับการเมือง

ในขณะที่เขียนอยู่นี้ผมกำลังลี้ภัยจากภาวะน้ำท่วมมาอยู่ที่ศูนย์ขทิรวัน ซึ่งเป็นศูนย์ปฏิบัติธรรมของมูลนิธิพันดาราที่หัวหิน ศูนย์นี้อยู่ที่ตำบลหนองพลับ ห่างจากตัวเมืองหัวหินราวๆ ๓๕ กิโลเมตร บรรยากาศเป็นป่าเขา อากาศดีเย็นสบาย คิดว่าคงมาอยู่ที่นี่ประมาณหนึ่งถึงสองอาทิตย์ พอมหาวิทยาลัยกับโรงเรียนของลูกเปิดเทอมก็คงกลับไป ป่านนั้นก็หวังว่าน้ำคงลดไปบ้างไม่มากก็น้อย

เมื่อมาอยู่ที่นี่ก็ได้ติดตามข่าวน้ำท่วมที่กรุงเทพฯกับภาคกลางเป็นระยะๆ และเนื่องจากที่นี่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ต ก็เลยต้องขับรถไปที่ตลาดหนองพลับเพื่อไปใช้งานที่ร้านอินเทอร์เน็ต โพสนี้ก็ส่งที่ร้านอินเทอร์เน็ตนี่เหมือนกัน

แน่นอนว่าข่าวยอดฮิตในยุคนี้คงไม่มีอะไรเกิดน้ำท่วม และในยุคของสื่อเครือข่ายทางสังคม กระแสความคิดความเห็นต่างๆเผยแพร่ออกไปรวดเร็วมาก ที่น่าสนใจก็คือว่าน้ำท่วมครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสความขัดแย้งทางการเมืองที่มีมานานกว่าห้าปี คนไทยส่วนใหญ่ต่างก็พยายามจะลืมความขัดแย้งนี้ ต่างก็ช่วยเหลือกันและกันเท่าที่จะทำได้ ใครที่มีความสามารถจะช่วยเหลือผู้อื่นได้ ก็สมัครเป็นจิตอาสาช่วยเหลือคนอื่นอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย นับว่าเป็นปรากฏการณ์ที่น่าชื่นใจเป็นอย่างยิ่ง เราได้เห็นคนต่างประเทศ เช่นคนญี่ปุ่นช่วยเหลือซึ่งกันและกันในยามที่เขาประสบภัยแผ่นดินไหวกับสินามิ เราก็ดีใจที่เห็นปรากฏการณ์แบบเดียวกันนี้ในประเทศไทยด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อน้ำท่วมนี้เกิดขึ้นในขณะที่ความขัดแย้งทางการเมืองยังลุกโชนอยู่ ก็แน่นอนว่าต้องมีฝ่ายที่พยายามโยงเอากระแสการเมืองกับกระแสน้ำท่วมเข้าไว้ด้วยกัน ในเว็บเครือข่ายทางสังคมเช่นเฟสบุ๊ค มีหลายคนที่ดูเหมือนว่าจะพยายามสร้างกระแสให้คนเกลียดรัฐบาลด้วยการด่าว่ารัฐบาลโดยเฉพาะตัวนายกรัฐมนตรีอย่างเสียๆหายๆ ขุดคุ้ยเรื่องต่างๆมาโจมตี ซึ่งหลายเรื่องก็พิสูจน์ออกมาแล้วว่าไม่เป็นความจริง กระแสการโจมตีนี้ดูหนักหน่วงราวกับว่ามีความพยายามอย่างเป็นระบบที่จะทำให้รัฐบาลดูมีความน่าเชื่อถือน้อยลง และก็สอดคล้องกับที่มีบางคนกลัวว่า ฝ่ายที่สูญเสียอำนาจกำลังพยายามโจมตีรัฐบาลเพื่อให้รัฐบาลสูญเสียความเชื่อถือจากประชาชน เพื่อให้เป็นบันไดปูทางที่ฝ่ายตัวเองจะได้กลับมาครองอำนาจอีกครั้งหนึ่ง ยิ่งตัวนายกรัฐมนตรีเป็นผู้หญิงคนแรก ไม่มีประสบการณ์ทางการเมือง ได้เป็นนายกเพราะพี่ชายชวนมาให้เป็น และตัวพี่ชายเองก็เป็นศูนย์กลางของความขัดแย้งในสายตาของหลายต่อหลายคน ก็ยิ่งทำให้สถานการณ์ของรัฐบาลง่อนแง่นมากยิ่งขึ้น

สถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้รุนแรงมากกว่าทุกๆครั้งที่ผ่านมา จนกระทั่งไม่มีใครเชื่อว่าจะมีมนุษย์คนใดหรือกลุ่มใดจะดลบันดาลให้ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นหายวับไปกับตาได้ง่ายๆ ดังนั้นแม้ว่านายกจะไม่มีประสบการณ์อย่างไรก็ตาม แต่ก็ไม่มีใครสงสัยความมุ่งมั่นของเธอที่จะเอาชนะอุปสรรคครั้งนี้ นายกยิ่งลักษณ์ตกอยู่ในที่นั่งที่ลำบากมากกว่านายกรัฐมนตรีหลายคนที่ผ่านมา ที่เมื่อมาเป็นนายกฯไม่เท่าไหร่ก็ต้องเผชิญกับบทพิสูจน์อันรุนแรงทันทีจากภัยธรรมชาติครั้งนี้ แต่บทพิสูจน์ก็ย่อมมีบทบาทในการเปิดโอกาสให้คนที่แข็งแกร่งจริงๆได้พิสูจน์ตัวเอง

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากภัยน้ำท่วมครั้งนี้ไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น การมุ่งโจมตีรัฐบาลจึงไม่ค่อยมีทิศทาง และดูไม่ค่อยเป็นเหตุเป็นผลเท่าใดนัก จริงๆแล้วการที่รัฐบาลถูกประชาชนโจมตีในเรื่องของการบริหารจัดการภัยพิบัติเป็นเรื่องปกติ และเป็นอะไรที่รัฐบาลต้องรับฟัง ที่ประเทศญี่ปุ่นซึ่งนอกจากจะเกิดแผ่นดินไหวกับสึนามิแล้วยังมีภัยพิบัติที่รุนแรงมากกว่าคือโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิด รัฐบาลในขณะนั้นก็ต้องรับผิดชอบไปเต็มๆจนนายกรัฐมนตรีต้องลาออก หรือในประเทศสหรัฐฯที่พายุเฮอร์ริเคนคาทรีน่าถล่มเมืองนิวออร์ลีนส์ ทำให้ประธานาธิบดีจอร์จดับบลิวบุชถูกโจมตีอย่างหนักในเรื่องของการบริหารจัดการ จะเห็นว่ารัฐบาลที่ไหนก็ตาม หากเกิดภัยพิบัติขึ้น ก็ต้องยอมรับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แล้วก็ต้องพยายามแก้ไขปัญหาอย่างสุดความสามารถ

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นกับสหรัฐ เมื่อเทียบกับประเทศไทย ก็มีส่วนที่แตกต่างกันอยู่บ้าง ในญี่ปุ่นเหตุกาณ์ที่เป็นภัยธรรมชาติได้แก่แผ่นดินไหวกับสึนามิที่เกิดตามมา มนุษย์ไม่ได้สร้างเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้น แต่การที่โรงงานนิวเคลียร์ระเบิดนั้นพูดไม่ได้เต็มปากว่ามนุษย์ไม่ได้ทำขึ้น ประการแรกมนุษย์เป็นคนสร้างโรงงานนิวเคลียร์ ดังนั้นก็ต้องมีระบบป้องกันภัยเช่นแผ่นดินไหวกับสึนามิอยู่แล้ว ยิ่งญี่ปุ่นมีประวัติเรื่องแบบนี้โชกโชนก็ยิ่งต้องออกแบบโรงงานให้ป้องกันเรื่องเหล่านี้ได้ตั้งแต่ต้น แต่ปรากฏว่าโรงงานที่ระเบิดนั้นไม่ได้สร้างตามมาตรฐาน เมื่อเป็นเช่นนี้ก็แน่นอนว่าย่อมต้องมีมนุษย์มารับผิดชอบ ในกรณีของเมืองนิวออร์ลีนส์ น้ำท่วมเมืองอย่างหนักเพราะเขื่อนกันน้ำพัง เนื่องจากโดนมวลน้ำที่มาจากทะเลที่ถูกพายุเฮอร์ริเคนพัดปะทะเอาจนเขื่อนทานไม่ไหว และการที่เขื่อนพังนี้เองที่ทำให้น้ำท่วมนิวออร์ลีนส์จนจมหายไปทั้งเมือง จุดที่ผู้คนโจมตีวิพากษ์วิจารณ์กันมากก็คือ รัฐบาลสหรัฐฯสร้างเขื่อนอย่างไรจึงทำให้พังลงมาได้ มนุษย์ไม่ได้เป็นคนสร้างพายุ แต่เป็นคนสร้างเขื่อน ดังนั้นเมื่อเขื่อนพัง ก็ต้องมีคนรับผิดชอบ ประธานาธิบดีในฐานะผู้นำสูงสุดก็หนีไม่พ้นอยู่ดี

แล้วภัยพิบัติสองเหตุการณ์นี้เหมือนหรือแตกต่างกับน้ำท่วมใหญ่ปี ๒๕๕๔ ของเราอย่างไร มีการศึกษามาแล้วว่าสาเหตุหลักของของน้ำท่วมครั้งนี้ได้แก่ฝนที่ตกลงมามากกว่าปกติ โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ และยังตกที่ภาคเหนือมากเป็นพิเศษ เราจึงเห็นข่าวว่ามีน้ำท่วมมาเรื่อยตั้งแต่เชียงราย เชียงใหม่ ลงมาถึงตาก กำแพงเพชร พิษณุโลก แล้วก็นครสวรรค์ จากนั้นน้ำก็ลงมาเรื่อยๆจนมาถึง กทม. ในขณะนี้ เขื่อนใหญ่สองแห่งของเราคือเขื่อนภูมิพลกับสิริกิติ์ ก็ได้พยายามเก็บกักน้ำจนเต็มพิกัด และเมื่อน้ำเข้ามาเหนือเขื่อนเรื่อยๆก็เลยจำเป็นต้องปล่อยออกมา บางคนบอกว่าหากเขื่อนใหญ่สองแห่งนี้ไม่ปล่อยน้ำออกมา น้ำก็จะไม่ท่วม อันนี้เป็นตรรกะที่ไม่มีใครเถียง แต่ที่ปิดเอาไว้ไม่พูดออกมาคือ ถ้าเก็บเอาไว้จนล้นทำให้เขื่อนเป็นอันตราย แล้วจะทำอย่างไร หรือมีข้อเสนอว่าให้รีบปล่อยน้ำออกตั้งแต่น้ำยังไม่เต็มเขื่อน ก็นั่นก็คือปล่อยน้ำที่ตอนนี้อยู่ในเขื่อนให้ออกมาท่วมพื้นที่ข้างล่าง แล้วเก็บน้ำที่มาทีหลังเอาไว้ แต่ถึงทำอย่างนั้นพื้นที่ข้างล่างก็ท่วมอยู่ดี เมื่อปริมาณน้ำมีมากขนาดนี้ อย่างไรเขื่อนก็ต้องปล่อยน้ำออกมาอยู่ดี จะไม่ให้ท่วมมีอยู่ทางเดียว คือต้องมีเขื่อนแบบเขื่อมภูมิพลอีกสักสามหรือสี่เขื่อน แต่นั่นก็เป็นไปไม่ได้เพราะเราไม่มีช่องเขาใหญ่ๆที่เหมาะแก่การสร้างเขื่อนแบบเขื่อนภูมิพลอีกแล้วในพื้นที่ใต้เขื่อนภูมิพลลงมา

ดังนั้น ความแตกต่างระหว่างน้ำท่วมใหญ่ ๒๕๕๔ ของเรากับแผ่นดินไหวกับสึนามิและภัยพิบัตินิวเคลียร์ของญี่ปุ่นคือ ภัยพิบัตินิวเคลียร์สามารถสืบไปได้ว่ามีมนุษย์เป็นผู้รับผิดชอบ ความผิดพลาดอยู่ที่การออกแบบเตาปฏิการณ์ที่ระเบิด ซึ่งเป็นรุ่นเก่า ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรองรับแผ่นดินไหวกับสึนามิขนาดที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผิดกับเตาอื่นๆที่ไม่ระเบิดซึ่งสร้างในช่วงหลังและมีการออกแบบรองรับภัยพิบัติระดับนี้ไว้แล้ว แต่ในกรณีของเรา จะบอกว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตที่เป็นคนดูแลเขื่อนใหญ่ของทั้งสอง เป็นผู้รับผิดชอบเพราะปล่อยน้ำมาท่วมชาวบ้าน ก็ดูไม่ค่อยจะถูกต้องนัก เพราะน้ำเหนือเขื่อนมีมากจริงๆ ถ้าการไฟฟ้าเกิดประมาทเลินเล่อ ปล่อยน้ำออกมาจากเขื่อนจนเขื่อนแห้ง น้ำมาท่วมพื้นที่ใต้เขื่อนมากมาย อย่างนี้การไฟฟ้าต้องรับผิดชอบแน่นอน แต่ตอนนี้น้ำเหนือเขื่อนก็ยังมีเต็มความจุอยู่

เมื่อเป็นเช่นนี้ เหตุการณ์น้ำท่วมปีนี้ของไทยจึงไม่ใช่อะไรที่เราจะหา “สาเหตุเฉพาะ” ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ได้ แบบเดียวกับที่เขื่อนพังเป็นสาเหตุเฉพาะให้เกิดน้ำท่วมนิวออร์ลีนส์ หรือการออกแบบที่ไม่ได้มาตรฐานเป็นสาเหตุเฉพาะที่ทำให้เตาปฏิกรณ์ระเบิด ถ้าจะมีการโจมตีรัฐบาลก็ต้องโจมตีไปที่การบริหารจัดการ โดยเฉพาะเรื่องการดูแลชาวบ้านที่ประสบอุทกภัย หรือการดูแลระบบโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับน้ำท่วม เช่นออกแบบถนนให้น้ำลอดได้ เป็นต้น (ซึ่งรัฐบาลชุดนี้ก็ยังไม่ได้สร้างถนนที่ไหนเลย) แต่ที่ไม่น่าจะโจมตีรัฐบาล คือการบอกว่ามีสาเหตุเฉพาะที่ทำให้น้ำท่วม และรัฐบาลต้องรับผิดชอบในการที่ปล่อยให้สาเหตุเฉพาะนั้นทำให้เกิดน้ำท่วม

ประเทศไทยเกิดภัยพิบัติใหญ่ครั้งที่แล้ว ได้แก่สึนามิถล่มชายฝั่งด้านตะวันตกของประเทศในเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ที่ผ่านมา จะว่าไปภัยพิบัติครั้งนั้นหนักหนากว่าครั้งนี้มาก เพราะคนตายเฉพาะในประเทศไทยกว่าห้าพันคน ในขณะที่คนตายจากน้ำท่วมปีนี้ไม่ถึงห้าร้อยคน ช่วงนั้นเป็่นช่วงที่ยังไม่เกิดความแตกแยกทางการเมืองที่รุนแรงแบบในปัจจุบัน ในช่วงนั้นก็มีการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของฝ่ายต่างๆที่ลงไปช่วยชาวบ้านที่โดนถล่มกันมากเหมือนกัน เช่นกล่าวหาว่าตำรวจกับดีเอสไอแย่งงานกันทำเรื่องการพิสูจน์ตัวตนของผู้ตายด้วยวิธีการวิเคราะห์ดีเอ็นเอ และเรื่องอื่นๆ แต่ที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นคือการโจมตีรัฐบาลในวงกว้าง ด่าว่านายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเสียๆหายๆ เหตุการณ์เหล่านี้ยังไม่เกิดขึ้น มีแต่ผู้คนรู้สึกเสียใจไปกับเหตุการณ์ มีส่วนร่วมไปกับเหตุการณ์ ได้บริจาคทรัพย์สินสิ่งของช่วยเหลือชาวบ้านที่ประสบภัยสึนามิมากมาย การด่าว่านายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเสียๆหายๆ กับความพยายามที่จะดึงนายกฯกับรัฐบาลพรรคไทยรักไทยลงจากอำนาจ เกิดขึ้นภายหลังในราวต้นปี ๒๕๔๙ และไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับสึนามิที่ภาคใต้เลย ในทางตรงกันข้ามรัฐบาลนายกทักษิณได้รับคำชื่นชมเป็นอย่างมากกับการจัดการภัยพิบัติ จนกระทั่งในการเลือกตั้งทั่วไปที่จัดขึ้นหลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ ชาวบ้านได้เลือก ผู้สมัครพรรคไทยรักไทยเป็น สส. พังงาเป็นคนแรกของประวัติศาสตร์ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเนื่องจากจังหวัดนี้เป็นถิ่นของพรรคประชาธิปัตย์อย่างมั่นคงมายาวนาน

ทั้งหมดนี้แสดงว่า ภัยพิบัติกับการเมืองนั้นไม่ได้เกี่ยวข้องกันเสมอไป หากภัยพิบัติเกิดขึ้นเพราะน้ำมือมนุษย์เป็นเหตุและเหตุนั้นเกี่ยวข้องกับการทำงานของรัฐบาล ก็สมควรที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบ แต่หากภัยพิบัตินั้นเป็นฝีมือของธรรมชาติล้วนๆ เราก็ไม่ควรจะไปโจมตีรัฐบาลในเรื่องนั้น รัฐบาลยิ่งลักษณ์โชคไม่ดีที่พอเริ่มมาทำงานก็ต้องพบกับการท้าทายอันใหญ่ยิ่งนี้แล้ว แต่สิ่งที่จะพิสูจน์ว่าใครเป็นคนที่แข็งแกร่งอย่างแท้จริง ก็ได้แก่ความท้าทายอย่างนี้นี่แหละ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ต้องพิสูจน์ฝีมือเอาชนะใจคนที่ยังสงสัยอยู่ให้ได้ และการฟื้นฟูประเทศหลังน้ำลดจะเป็นบทพิสูจน์ที่จะยากกว่าและท้าทายมากกว่าการดูแลน้ำท่วมเป็นอย่างยิ่ง