สารสำนักพิมพ์

สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยกับการส่งเสริมความก้าวหน้าทางวิชาการ

สารสำนักพิมพ์ที่ท่านถืออยู่ในมือเล่มนี้ เป็นเล่มแรกที่ผมเป็นบรรณาธิการหลังจากที่ได้รับหน้าที่มาเป็นรองผู้อำนวยการมาระยะหนึ่งแล้ว ก็ขอถือโอกาสแนะนำตัวมา ณ ที่นี้ครับ ผมทำงานอยู่ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ ทำงานสอนวิจัยเกี่ยวกับปรัชญาด้านต่างๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับบทบาทของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสังคม ตลอดจนมิติทางจริยธรรมของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (เช่นเรื่องชีวจริยศาสตร์ จริยธรรมการวิจัย ฯลฯ) ทางมหาวิทยาลัยโดยเฉพาะท่านผู้อำนวยการสำนักพิมพ์ คงเห็นว่าผมสนใจงานเขียน งานผลิตสิ่งพิมพ์ ฯลฯ จึงชวนมาทำงานที่สำนักพิมพ์จุฬาฯนี้ ซึ่งก็เป็นประสบการณ์ที่มีค่าอย่างยิ่ง ก็เลยขอถือโอกาสนี้แบ่งปันความคิดบางประการเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัย

งานของสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยนั้นก็คงทราบกันอยู่ว่าได้แก่การผลิตสิ่งพิมพ์ทางวิชาการ เพื่อประกอบการเรียนการสอนของนิสิตนักศึกษา ตลอดจนเผยแพร่ความรู้ที่ผลิตขึ้นมาใหม่เพื่อสร้างสรรค์วิชาการให้ก้าวหน้าต่อไป นอกจากนี้ก็ยังมีบทบาทในการผลิตและเผยแพร่ความรู้ออกไปสู่สาธารณชนอีกด้วย บทบาททั้งสามนี้ดูเผินๆเหมือนกับว่าจะคล้ายๆกัน แต่ความจริงก็มีอะไรที่แตกต่างกันอยู่พอสมควร การผลิตสิ่งพิมพ์ทางวิชาการเพื่อประกอบการเรียนการสอนนั้น มุ่งที่จะให้นิสิตนักศึกษาเป็นผู้อ่าน และเนื้อหาก็มักจะเป็นไปตามหลักสูตรการเรียนการสอนเป็นส่วนใหญ่ การเขียนก็มุ่งเสนอเนื้อหาให้ผู้อ่านผู้เรียนสามารถติดตามได้โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยการชี้แนะมากมายจากผู้สอน และที่สำคัญก็คือเป็นการ “นำทาง” หรือ “เบิกทาง” ให้ผู้อ่านได้ก้าวเข้าสู่เนื้อหาวิชาการสาขานั้นๆได้อย่างละเอียดลึกซึ้งต่อไป การผลิตตำราเช่นนี้นับว่าเป็นบทบาทอันสำคัญยิ่งของสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัย ไม่แพ่การเรียนการสอนในห้องเรียน เพราะเราจะผลิตนักวิชาการที่จะรับช่วงเป็นนักวิชาการรุ่นใหม่ต่อไปได้ ก็ต่อเมื่อเรามีวิธีการที่จะนำทางผู้ที่เริ่มเข้ามาสู่วิชาการให้เขามีทัศนคติที่ดีต่อวิชาการสาขานั้นๆ และมีพื้นความรู้ที่ถูกต้องเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น แม้ว่านิสิตนักศึกษาอาจจะไม่ได้ประกอบอาชีพเป็นนักวิชาการในสาขานั้นๆโดยตรง การมีตำราดีๆไว้ใช้เรียนก็มีคุณค่าแก่ชีวิตของเขาอย่างยิ่งเมื่อเขาเติบโตเป็นกำลังของสังคมต่อไป

สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยไม่เพียงแต่ผลิตตำราประกอบการเรียนการสอนเท่านั้น แต่ก็มีหน้าที่ในการผลิตและเผยแพร่ผลงานวิจัย อันเป็นการผลิตความรู้ใหม่ที่จะผลักดันพรมแดนของความรู้ในสาขาวิชาต่างๆให้กว้างไกลออกไปด้วย การผลิตความรู้ใหม่เช่นนี้ถือได้ว่าเป็นผลงานหลักของสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยต่างๆที่มีชื่อเสียงในระดับนานาชาติ หนังสือที่เราที่เป็นนักวิชาการอ่านเพื่อประกอบการทำวิจัย ส่วนใหญ่ก็มาจากสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยใหญ่ๆเหล่านี้ เหตุผลหลักของการผลิตหนังสือที่เป็นแหล่งความรู้ใหม่ก็คือว่า วิชาการสาขาต่างๆนั้นมิได้อยู่นิ่งอยู่กับที่ แต่มีการเปลี่ยนแปลงเจริญเติบโตอยู่ตลอดเวลา ซึ่งตัวจักรในการเปลี่ยนแปลงนี้ก็ได้แก่แรงงานของนักวิชาการในสาขานั้นๆ ที่มุ่งวิจัยผลิตความรู้ใหม่ๆในวิชาการแต่ละด้านนั่นเอง เนื่องจากการผลิตความรู้ใหม่เช่นนี้ต้องอาศัยพื้นความรู้ความเข้าใจมาก่อนค่อนข้างมาก ดังนั้นผู้ที่จะอ่านงานวิจัยเหล่านี้ได้ก็ต้องเป็นนักวิชาการด้วยกัน หรือไม่ก็เป็นนิสิตนักศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาชั้นสูงที่กำลังเรียนรู้วิธีการผลิตความรู้ใหม่ ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้ก็หมายความว่าตลาดของหนังสือประเภทนี้จะค่อนข้างแคบ แต่สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยใหญ่ๆเหล่านี้ก็เล็งเห็นประเด็นนี้ แต่ก็ยังผลิตหนังสือทำนองนี้อยู่ด้วยคิดว่าเป็นหน้าที่โดยตรงของสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยที่จะต้องผลิตหนังสือทำนองนี้ออกมาสู่ท้องตลาด ซึ่งอันที่จริงก็เป็นการผลิตหนังสือแบบนี้ให้มาเป็นแหล่งความรู้สำหรับมนุษยชาติ

นอกจากนี้หนังสือสองประเภทนี้แล้ว บทบาทของสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยก็ยังมีอีกประการหนึ่ง คือผลิตหนังสือที่ไม่ได้ใช้ประกอบการเรียนการสอนโดยตรง และก็ไม่ใช่งานวิจัยประเภทผลักดันองค์ความรู้ใหม่ แต่เป็นหนังสือวิชาการสำหรับคนทั่วไปที่ไม่ได้ทำงานอยู่ในมหาวิทยาลัย ในภาษาอังกฤษมักจะเรียกหนังสือทำนองนี้ว่า “trade book” ซึ่งมีความหมายว่าผลิตขึ้นเพื่อตลาดทั่วไป หนังสือประเภทนี้ก็มีความสำคัญไม่น้อยกว่าสองประเภทแรก เพราะมหาวิทยาลัยไม่ได้ดำรงอยู่เป็นเอกเทศโดยลำพังตนเอง แต่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมโดยรวม ดังนั้นสำนักพิมพ์ซึ่งเป็นองคาพยพหนึ่งของมหาวิทยาลัย ก็ควรจะต้องสะท้อนภารกิจตรงนี้ด้วย หนังสือประเภทนี้มุ่งสำหรับผู้อ่านทั่วไป ซึ่งก็อาจหมายถึงคนทั่วไปที่เดินมาร้านหนังสือและหวังว่าจะได้หนังสืออะไรที่ทำให้เขาเข้าใจสถานการณ์รอบตัวได้ดีขึ้น หรือได้รับข้อแนะนำต่างๆในการปฏิบัติตนหรือในการทำงานอาชีพในรูปแบบที่ไม่เป็นงานวิจัยหรือตำรา ในสมัยที่ผมเป็นนักศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยอินเดียน่าในสหรัฐอเมริกา สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยอินเดียน่ามีชื่อเสียงนอกจากในด้านผลิตงานวิจัยหรือตำราแล้ว ก็ยังเป็นที่รู้จักและชื่นชมในฐานะที่เป็นสำนักพิมพ์ที่ผลิตหนังสือเกี่ยวกับแง่มุมต่างๆของมลรัฐอินเดียน่าออกมาอย่างน่าสนใจ เช่นมีหนังสือเกี่ยวกับประวัติศาสตร์บอกเล่า (oral history) ของอินเดียน่า หรือเกี่ยวกับการประดิษฐ์ลวดลายบนผ้าถักไหมพรมของชาวมลรัฐนี้ หรือหนังสือเกี่ยวกับป่าไม้และชีวิตพืชชีวิตสัตว์ที่น่าสนใจและเป็นเอกลักษณ์ของอินเดียน่า เป็นต้น ก็เห็นได้ว่าสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยอินเดียน่าทำตามภารกิจของมหาวิทยาลัยแห่งมลรัฐข้อหนึ่ง อันได้แก่ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ของมลรัฐนั้นๆ สำนักพิมพ์จุฬาฯของเราก็ทำได้แบบเดียวกัน นอกจากนี้ก็มีหนังสือสำหรับท้องตลาดแบบอื่นๆ เช่นหนังสือวิเคราะห์การเมือง เศรษฐกิจ ฯลฯ

แต่ไม่ว่าจะผลิตหนังสือแบบใด สิ่งสำคัญที่จะละเลยมิได้คือคุณภาพในขั้นตอนต่างๆของหนังสือ ส่วนที่ผมรับผิดชอบโดยตรงอยู่ในคุณภาพของเนื้อหา ซึ่งในวงการวิชาการก็หนีไม่พ้นการอาศัยนักวิชาการด้วยกันเป็นผู้ประเมินคุณภาพ พวกเราบางคนมองว่าการประเมินคุณภาพนี้เป็นเหมือนยาขมที่ทำให้ไม่อยากผลิตงานวิชาการ เพราะไม่อยากให้มีใครมาประเมินงานของตนเอง ผมก็อยากจะเรียนว่าการมีผู้ประเมินนั้นมีประโยชน์ตรงที่ทำให้เราได้รู้ว่าคนอื่นที่มีความรู้พอจะอ่านงานของเรานั้น เขามองงานของเราอย่างไร หลายต่อหลายครั้งการมองผ่านสายตาของคนอื่นเช่นนี้ ทำให้เรามองเห็นแง่มุมหลายประการในงานของเราเองที่เราไม่เคยมองเห็นมาก่อน ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

ท้ายนี้ผมก็ขอเชิญชวนให้เพื่อนนักวิชาการช่วยกันส่งต้นฉบับหนังสือของท่านมาให้สำนักพิมพ์พิจารณา อาชีพนักวิชาการจะไม่สมบูรณ์ถ้าหากท่านไม่มีหนังสือที่ท่านเป็นผู้เขียนฝากเอาไว้ให้เป็นสมบัติแก่นิสิตหรือชนรุ่นหลัง สำนักพิมพ์ยินดีพิจารณาข้อเสนอหนังสือใหม่ของท่านอยู่เสมอครับ

โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์

รองผู้อำนวยการสำนักพิมพ์