ประเทศไทยยุคเปลี่ยนแปลง

เมื่อคืนวันพุธที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญไปร่วมงานเปิดตัวหนังสือ In the Vertigo of Change ของ Marc Saxer ที่สถานทูตเยอรมันถนนสาทร มาร์คเพิ่งพ้นตำแหน่งผู้อำนวยการมูลนิธิ Friedrich Ebert มาหมาดๆ งานนี้ก็เลยเป็นงานอำลาตำแหน่ง และเปิดตัวผู้อำนวยการคนใหม่สาวสวยจากเยอรมันมาพร้อมๆกันไปด้วย  (บทคัดย่อของหนังสือเล่มนี้ดูได้ที่นี่)

ในงานนี้มาร์คเริ่มพูดเกี่ยวกับหนังสือของเขา แล้วก็ตามด้วยการอภิปรายโดยนักวิชาการไทยชั้นนำสี่ท่านเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ และสภาพการเมืองไทยในปัจจุบัน นับว่าเป็นการตัดสินที่ถูกต้องที่มาจัดงานนี้ในบริเวณของสถานทูต เพราะหากจัดข้างนอกก็ไม่รู้ว่าทหารจะอนุญาตหรือไม่ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องของการเมืองโดยตรง

การพูดราวๆหนึ่งชั่วโมงของมาร์คเป็นการสรุปเนื้อหาหนังสือของเขาทั้งหมด ประเด็นหลักที่เขาต้องการเสนอก็คือว่า ประเทศไทยกำลังอยู่ในระยะที่แปลเป็นไทยว่า “เปลี่ยนผ่าน” และการเปลี่ยนนี้ตามมาด้วยความเจ็บปวดและการปรับตัวในทุกระดับของสังคม มาร์คใช้คำว่า “เปลี่ยนผ่าน” ในหนังสือ ซึ่งแปลมาจากคำภาษาอังกฤษว่า ‘transform’ แต่ผมเห็นว่า จริงๆแล้ว ‘transform’ น่าจะแปลว่า “เปลี่ยนแปลง” มากกว่า เพราะ “เปลี่ยนผ่าน” มีความหมายเพียงแค่ว่ามีบางอย่างผ่านมา แล้วก็ผ่านไป ยังไม่ได้หมายความไปถึงการเปลี่ยนแปลงในทุกระดับ (“เปลี่ยนผ่าน” น่าจะเป็นคำแปลของคำว่า ‘transition’ มากกว่า) ซึ่งเป็นประเด็นของหนังสือของมาร์คเอง แต่อย่างไรก็ตามนี่ก็เป็นเพียงเรื่องการใช้คำเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร มาร์คได้สรุปการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงของสังคมไทย โดยเฉพาะที่เริ่มมาจากการทำรัฐประหารเมื่อปี ค.ศ. 2006 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของวิกฤตการณ์ทางการเมืองของประเทศมาจนปัจจุบัน

หากจะสรุปการพูดของมาร์คทั้งหมด ก็พอจะได้ว่า การเปลี่ยนแปลงต่างๆของประเทศไทยเป็นการเปลี่ยนแปลงที่อย่างไรก็ต้องเกิดขึ้น เพราะประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งที่แยกไม่ออกจากสังคมโลก ในเมื่อสังคมโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ประเทศไทยก็เปลี่ยนด้วยเช่นเดียวกัน เพียงแต่ว่าสถาบันหลายๆสถาบันของไทยไม่สามารถปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง เลยเกิดความขัดแย้งขึ้น มาร์คบอกว่าความขัดแย้งนี้ไม่ใช่เรื่องเฉพาะของสังคมไทยเท่านั้น แต่เกิดขึ้นทั่วไปหมดในทุกๆที่ที่มีการเปลี่ยนแปลงของสังคม ข้อเสนอหลักของมาร์คอยู่ที่ว่า ทำอย่างไรจะให้การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นอย่างที่เราบริหารจัดการได้ ซึ่งก็มาจากการสร้าง “แนวร่วมวงกว้าง” หรือ “แนวร่วมหลากสี” อันเป็นการรวมตัวกันของผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงของสังคมทุกฝ่ายเข้าด้วยกัน ในภาษาอังกฤษจะเรียกแนวร่วมเหล่านี้ว่า ‘broad coalition’ กับ ‘rainbow coalition’ ตามลำดับ

การสร้างแนวร่วมเช่นนี้ทำได้ยาก เนื่องจากจะต้องอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจกันอย่างแท้จริงระหว่างทุกฝ่าย แต่สถานการณ์ปัจจุบันนี้กลับทำให้ต่างฝ่ายยิ่งไว้เนื้อเชื่อใจกันได้ยากยิ่งขึ้น โจทย์หลักของการเสวนานี้อยู่ทีว่า จะทำอย่างไรให้ประเทศไทยก้าวพ้นวิกฤตการณ์การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไปได้ ผู้ดำเนินรายการก็พยายามถามคำถามนี้แก่ผู้เข้าร่วมเสวนา ซึ่งแต่ละคนก็ตอบได้บ้างไม่ได้บ้าง เรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดา เพราะการถามว่า “ทำอย่างไร” ไม่สามารถตอบได้สั้นๆ และผมก็คิดว่า การถามว่า “ทำอย่างไร” ออกจะไม่เป็นธรรมแก่ผู้ถูกถามเท่าใดนัก อันที่จริงเราควรถามว่า “ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร” มากกว่า การถามว่า “ทำอย่างไร” ฟังดูเหมือนกับว่าเราเป็นช่างซ่อมประปาที่มีหน้าที่ซ่อมท่อหรือถังน้ำที่รั่วอยู่ ซ่อมท่อกับซ่อมถังประปาเป็นเรื่องง่ายเพราะเห็นอยู่ว่าท่อกำลังรั่วอยู่ แต่การถามว่า “ทำอย่างไรประเทศไทยจะพ้นจากวิกฤตการณ์” ตอบไม่ได้ง่ายแบบนั้น และฟังดูเหมือนกับว่าประเทศเป็นเหมือนกับท่อน้ำ สามารถซ่อมแซมได้ง่ายๆเฉยๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ที่เราทำได้คือถามและหาคำตอบว่าทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ซึ่งง่ายกว่า

พอจบการบรรยายของมาร์ค ก็มีการเสวนาของนักวิชาการสี่คน ได้แก่ อ. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อ. ประจักษ์ ก้องกีรติจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เช่นเดียวกัน อ. ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์จากจุฬาฯ แล้วก็ อ. สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์จากสถาบัน TDRI เนื่องจากผมจำประเด็นการพูดของ อ. ธเนศกับ อ. ฐิตินันท์ไม่ได้ เลยจะขอพูดถึงเฉพาะของ อ. สมเกียรติกับ อ. ประจักษ์เท่านั้น เริ่มที่ อ. ประจักษ์ก่อน

image

อ. ประจักษ์เสนอว่า ในบรรดาการปฏิรูปต่างๆนั้น เราควรจะต้องปฏิรูปสถาบันทหารก่อนอื่น เรื่องนี้ก็สอดคล้องกับการวิเคราะห์ของหลายๆฝ่ายที่มองว่า สถาบันทหารเป็นอุปสรรคสำคัญของการพัฒนาประชาธิปไตย เพราะการปฏิวัติรัฐประหารแต่ละครั้ง จะพาประเทศถอยหลังไปนับสิบๆปี และการที่สถาบันนี้ไม่มีการปฏิรูปมาเลย ทำให้ไม่มีการปรับตัวเข้าสู่โลกสมัยใหม่ ขาดความเป็นทหารอาชีพ และผูกพันกับการเมืองมากเกินไป เป้าหมายของการปฏิรูปสถาบันกองทัพตามข้อเสนอของ อ. ประจักษ์ก็คือว่า กองทัพต้องไม่เกี่ยวข้องใดๆกับการเมือง ปล่อยให้การเมืองพัฒนาหรือขัดแย้งไปตามกระบวนการของตนเอง ทั้งนี้หลายฝ่ายก็เสนอเพิ่มเติมว่า โครงสร้างการสั่งการภายในของกองทัพเองก็ควรเปลี่ยนแปลงด้วย โดยให้ภาคการเมืองมีบทบาทในการสั่งการ ในฐานะที่ภาคการเมืองเป็นตัวแทนของประชาชน

ส่วน อ. สมเกียรติเสนอว่า เราควรมองประชาธิปไตยให้มีมิติของความหนากับความบางด้วย คือมี “ประชาธิปไตยแบบหนา” กับ “ประชาธิปไตยแบบบาง” ผมเข้าใจว่า อ.สมเกียรติได้แนวคิดนี้มาจากปรัชญาของไมเคิล วอลเซอร์ (Michael Walzer) นักปรัชญาชาวอเมริกัน ซึ่งได้เสนอเรื่องแบบนี้ไว้ในหนังสือของเขาคือ “Thick and Thin: Moral Arguments at Home and Abroad” แนวคิดของวอลเซอร์ก็คือว่า เมื่อเราเห็นผู้ประท้วงในประเทศและในวัฒนธรรมที่แตกต่างจากเรา เช่นคนอเมริกันเห็นชาวเช็คชูป้ายประท้วงเรียกร้องเสรีภาพกัความเสมอภาค ชาวอเมริกันก็จะมองเห็นความเหมือนกันของความหมายของคำเหล่านี้ และเกิดความรู้สึกร่วมไปกับผู้ประท้วงได้ แต่เมื่อมาลงในรายละเอียด เพื่อดูว่าเสรีภาพแบบใดและความเสมอภาคแบบใด ที่จะนำมาใช้ในสถานการณ์จริงของสาธารณรัฐเช็ค จะพบว่ามีความแตกต่างที่สำคัญๆหลายประการระหว่างเสรีภาพในสหรัฐกับในสาธารณรัฐเช็ค วอลเซอร์เสนอว่า เหตุที่ชาวอเมริกันรู้สึกร่วมไปกับผู้ประท้วงชาวเช็ค ก็เป็นเพราะว่ามโนทัศน์ “เสรีภาพ” ที่ชูป้ายออกมานั้น เป็นมโนทัศน์แบบ “บาง” ที่พูดถึงเฉพาะเสรีภาพในความหมายกว้างๆที่คนทุกวัฒนธรรมเห็นพ้องด้วยได้เท่านั้น แต่เมื่อลงไปพิจารณาในรายละเอียด จะพบว่ามีความแตกต่างกันเป็นอันมากเกี่ยวกับวิธีการเพื่อให้ได้เสรีภาพมา การทำแนวคิดเสรีภาพให้เป็นรูปธรรม ฯลฯ พูดรวมๆก็คือว่า ความเป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละท้องถิ่นกับรายละเอียดต่างๆจะเกิดขึ้นและมาเกาะเกี่ยวกับมโนทัศน์เสรีภาพ ทำให้เสรีภาพกลายเป็น “เสรีภาพแบบหนา” ที่มีประเด็นเฉพาะที่มาจับอยู่ วอลเซอร์บอกว่า เมื่อเราเห็นด้วยกับเสรีภาพแบบบาง ก็ไม่จำเป็นว่าเราจะเห็นด้วยกัเสรีภาพแบบหนาตามไปด้วย

ที่ อ. สมเกียรติหมายถึงเวลาพูดเรื่องประชาธิปไตยแบบ “หนา” กับ “บาง” ก็คือว่า ประชาธิปไตยแบบที่คนทั่วโลกเห็นด้วยกัน เช่นการมีการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม เป็นประชาธิปไตยแบบบาง เพราะใช้ได้กับทั่วทั้งโลกและคนทั้งโลกเห็นด้วยกัน แต่ที่อาจารย์เน้นย้ำก็คือว่า ประเทศไทยหรือคนไทยต้องมีประชาธิปไตยแบบ “หนา” ด้วย คือประชาธิปไตยที่คลุกอยู่กับลักษณะเฉพาะของพื้นที่และของวัฒนธรรมของไทย เนื่องจากเวลาที่ผู้จัดรายการมีให้วิทยากรแต่ละคนมีไม่มาก อ. สมเกียรติก็เลยไม่ได้ขยายความตรงนี้เท่าใดนักว่า ประชาธิปไตยแบบหนาของสังคมไทยนั้น มีลักษณะเป็นอย่างไรในรายละเอียด เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะมโนทัศน์ที่ “หนา” ในความคิดของวอลเซอร์นั้น เป็นเรื่องของรายละเอียดและลักษณะเฉพาะถิ่นโดยตรง

แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เรามองเห็นก็คือว่า มโนทัศน์หนากับบางนั้น จะต้องไม่เป็นคู่ตรงข้ามหรือคู่ขัดแย้งกัน คือไม่ใช่ว่าถ้ามีแบบหนาแล้ว จะมีแบบบางไม่ได้ หรือในทางกลับกัน ในทางตรงกันข้าม เมื่อเรามีเสรีภาพหรือประชาธิปไตยแบบบางแล้ว (ซึ่งจะต้องมีก่อน ก่อนที่เราจะเอาลักษณะเฉพาะของวัฒนธรรมเข้าไปเพิ่มทำให้มโนทัศน์หนาขึ้น) เราก็อาจจะเพิ่มลักษณะเฉพาะเข้าไปทำให้มโนทัศน์หนาขึ้นก็ได้ แต่เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงลักษณะที่มโนทัศน์นั้นๆมีในอันที่จะทำให้มโนทัศน์นั้นเป็นมโนทัศน์นั้นเอง ไม่ใช่มโนทัศน์อื่น เช่นประชาธิปไตย มีแกนของความหมาย คือการปกครองตนเองโดยประชาชน การทำให้ประชาธิปไตยหนาขึ้น ก็คือการให้รายละเอียดตามพื้นถิ่นว่า “การปกครองโดยประชาชน” จัดออกมาในรูปแบบใด เช่นในประเทศเยอรมนีมีการเลือกตั้งแบบสัดส่วน ส่วนในประเทศอังกฤษมีการเลือกตั้งแบบเขตเดียวคนเดียว อันนั้นเป็นลักษณะเฉพาะ แต่ลักษณะร่วม หรือความ “บาง” ของประชาธิปไตย อันเป็นคุณสมบัติที่กำหนดว่า “ประชาธิปไตย” คืออะไรนั้น จะต้องเหมือนกันในทุกที่ คือการปกครองโดยประชาชนนั้น จะต้องมีพื้นฐานมาจากการปกครองตามหลักของกฎหมาย (rule of law) และมีการให้หลักประกันสิทธิต่างๆ เรื่องเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของประชาธิปไตยแบบ “บาง” ซึ่งหากไม่มีแล้ว ก็จะขาดความเป็นประชาธิปไตยไป

กล่าวโดยสรุปก็คือว่า นักวิชาการที่ได้รับเชิญมาพูดในงานที่สถานทูตเยอรมันในครั้งนี้ ต่างก็ได้รับโจทย์ที่ต้องทำให้ตนเองต้องผันไปเป็น “วิศวกรสังคม” กัน คือหาทาง “ซ่อม” ประเทศ ราวกับว่าตนเองเป็นช่างซ่อมประปาที่กำลังเผชิญกับปัญหาท่อแตก แต่อย่างที่ได้พูดไปแล้ว ประเทศไทยมีความซับซ้อนมากกว่าระบบท่อประปามาก การซ่อมก็ไม่สามารถทำได้ง่ายๆ แม้กระทั่งว่าจะซ่อมอย่างไรก็ยังเป็นปัญหาอยู่มาก แต่อย่างไรก็ตาม มาร์คก็เสนอแนวทาง “ซ่อม” ประเทศไทย ด้วยการให้ทุกๆฝ่ายหันหน้าเข้าหากัน ลืมเรื่องที่บาดหมางไม่ไว้วางใจกัน และหันมาสร้างสัญญาประชาคมที่ทำงานได้จริง เพื่อให้ก้าวข้ามและสร้างการเปลี่ยนแปลงทีแท้จริงให้แก่ประเทศไทย สัญญาประชาคมดังกล่าวอาจประกอบด้วยประชาธิปไตยแบบาง รวมทั้งข้อตกลงกันในวงกว้างว่าความ “หนา” ของประชาธิปไตยตามที่ อ. สมเกียรติเสนอ จะประกอบด้วยปัจจัยเงื่อนไขอะไรบ้างในรายละเอียด

2 thoughts on “ประเทศไทยยุคเปลี่ยนแปลง

  1. ต้องบังคับใช้กฎหมายให้เท่าเทียมกันทุกกรณี จริงๆมิใช่อย่างที่เป็นอยู่
    โครงสร้างองค์กรทุกระดับในรัฐธรรมนูญต้องมีส่วนยึดโยงกับประชาชน รวมทั้งศาลด้วย
    ไม่ควรยอมรับการปฏิวัติโดยทหารทุกกรณี และไม่ควรมีนิรโทษกรรมการปฏิวัติ ที่มิได้มาจากประชาชน
    ต้องปฏิรูปศาลด้วยให้มีแนวคิดประชาธิปไตยให้มากกว่านี้

ส่งความเห็นที่ Supachai. ยกเลิกการตอบ

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.