พระพุทธศาสนากับการทำแท้ง

(บทความนี้ตีพิมพ์ใน ปาจารยสาร ฉบับล่าสุด)

ปัญหาทำแท้งเป็นปัญหาที่มีมาตลอดโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนไปเป็นสังคมที่ผู้หญิงกับผู้ชายเท่าเทียมกันมากขึ้น ในบทความนี้เราจะมาพิจารณาถึงท่าทีที่ควรจะเป็นของพระพุทธศาสนาเกียวกับปัญหาทำแท้ง คนไทยหลายคนมักจะคิดว่าเรื่องนี้ไม่น่าจะเป็นปัญหาอะไรเพราะพุทธศาสนาบอกไว้ชัดว่าการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตเป็นบาป และเนื่องจากการทำแท้งเป็นการฆ่าสัตว์ ดังนั้นการทำแท้งจึงเป็นบาปด้วย แต่เมื่อสภาพสังคมเปลี่ยนไปการคิดแบบนี้ดูแข็งทื่อและไม่เป็นธรรมแก่ผู้หญิง รวมทั้งไม่เข้ากับสภาพสังคมที่กำลังเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เราต้องแยกแยะระหว่างบทบาทของพระพุทธศาสนาตามที่ปรากฏในคัมภีร์เช่นพระไตรปิฎก กับบทบาทของพระพุทธศาสนาที่จะเป็นเครื่องมือนำทางชีวิตให้แก่ผู้คนในสังคมสมัยใหม่ บทบาทสองอย่างนี้สามารถไปด้วยกันและสอดคล้องกันได้ แต่ก็ไม่จำเป็นว่าต้องสอดคล้องกันเสมอไป นักคิดบางฝ่ายมักจะยึดติดกับการคิดแบบแรก ซึ่งถือว่าพระพุทธศาสนาจะต้องเป็นแบบที่เคยเป็นมาตั้งแต่อดีต แต่ในสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วเช่นสังคมไทยปัจจุบัน นักคิดชาวไทยควรจะคิดหาท่าทีที่เหมาะสมแก่พุทธศาสนาเสียใหม่ เพื่อมิให้พระพุทธศาสนาต้องกลายเป็นอะไรที่ไม่เกี่ยวข้องกับชีวิตของผู้คนไป ประเด็นที่จะเสนอก็คือว่า เมื่อเข้าใจพระพุทธศาสนาในแง่ใหม่นี้ การทำแท้งไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นความผิดเสมอไปเพราะความทุกข์ที่เกิดขึ้นจากการไม่ทำแท้งอาจจะมีมากกว่าความทุกข์ที่จะเกิดขึ้นหากมีการทำแท้งอย่างถูกต้อง

นักวิชาการด้านพระพุทธศาสนารวมทั้งชาวพุทธโดยทั่วไปมักถือว่า การทำแท้งเป็นบาปและไม่ควรทำด้วยประการทั้งปวง เพราะเป็นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ขัดแย้งกับศีลข้อ ๑ ที่บอกว่าให้ละเว้นจากการฆ่า ความคิดนี้เป็นรากฐานให้แก่บทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญาที่ระบุว่าการทำแท้งทำได้เฉพาะในกรณีที่ชีวิตของแม่อยู่ในอันตรายหากปล่อยให้ตั้งครรภ์ต่อไป หรือในกรณีที่แม่ถูกข่มขืนเท่านั้น มาตรา ๓๐๕ ระบุว่า

มาตรา ๓๐๕ ถ้าการกระทำความผิดดังกล่าวใน มาตรา ๓๐๑ และ มาตรา ๓๐๒ [การทำแท้ง … ผู้เขียน] นั้น เป็นการกระทำของนายแพทย์และ

(๑) จำเป็นต้องกระทำเนื่องจากสุขภาพของหญิงนั้น หรือ

(๒) หญิงมีครรภ์เนื่องจากการกระทำความผิดอาญา ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา ๒๗๖ มาตรา ๒๗๗ มาตรา ๒๘๒ มาตรา ๒๘๓ หรือ มาตรา ๒๘๔ [ซึ่งมีเนื้อความเกี่ยวกับการข่มขืนกระทำชำเราทั้งสิ้น … ผู้เขียน]

ผู้กระทำไม่มีความผิด

เจตนารมณ์ของมาตรานี้ชัดเจนว่าสะท้อนมาจากความเชื่อในเรื่องศีลธรรมจรรยาของการทำแท้ง คือเชื่อไว้ก่อนว่าการทำแท้งเป็นการกระทำผิดบาปเช่นเดียวกับฆ่าคนนั่นเอง อย่างไรก็ตามการคิดแบบนี้ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ที่มีการทำแท้งกันมากขึ้น จนเมื่อไม่นานมานี้มีข่าวพบศพตัวอ่อนที่ถูกทำแท้งเป็นจำนวนมากจนเป็นที่สนใจของสังคม สังคมบางฝ่ายรวมทั้งสื่อมวลชนมักจะประนามผู้หญิงที่ไปทำแท้งราวกับว่าเป็นนางมารหรือนางยักษ์ที่กล้าทำร้ายลูกในไส้ของตัวเองได้ลงคอ อย่างไรก็ตามความคิดที่ประนามผู้หญิงเหล่านี้เป็นเพียงกระแสความรู้สึกที่ปราศจากการรับรู้ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น กล่าวคือไม่สนใจที่จะรับรู้ว่าผู้หญิงที่ขนาดต้องตัดสินใจทำแท้งนั้นมีความจำเป็นเพียงใดและต้องเผชิญกับความกดดันเพียงใด การคิดแต่เพียงว่าจะประนามผู้หญิงที่ทำแท้งเป็นการมองแต่เพียงด้านเดียวจากคนที่ไม่ได้อยู่ในสภาพเดียวกันกับผู้หญิงที่ต้องหาทางทำแท้ง ซึ่งเป็นการง่ายที่จะประนามเช่นนี้เนื่องจากคนประนามไม่ได้ถูกกดดันอย่างหนักแบบที่ผู้หญิงเหล่านี้ต้องเผชิญอยู่ นอกจากนี้ฝ่ายที่ประนามการทำแท้งก็อ้างว่าหากไม่มีกฎหมายที่เข้มงวดขนาดมาตรา ๓๐๕ ผู้หญิงก็จะสามารถทำแท้งได้อย่างอิสระ ทำได้ตามต้องการ[1]

ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้อยู่ที่ความเท่าเทียมกันระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง ซึ่งเป็นรากฐานของสังคมที่กำลังเปลี่ยนไปเป็นสังคมที่ผู้คนเท่าเทียมกันมากขึ้นและรู้จักรับรู้สิทธิของตนเองมากขึ้น เช่นที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทยเวลานี้ การประนามผู้หญิงที่ทำแท้งรวมทั้งการมีกฎหมายที่เข้มงวด เป็นภาพสะท้อนสภาพสังคมโบราณที่ผู้หญิงอยู่ใต้ผู้ชาย ถูกกดขี่โดยผู้ชายทั้งทางด้านกายภาพและทางด้านความคิด กล่าวคือผู้หญิงถูกสังคมแบบนี้พยายามอบรมบ่มเพาะให้เชื่อว่าจะต้อง “รักนวลสงวนตัว” หรือพูดอีกอย่างคือทำตนให้อยู่ในขนบที่สังคมแบบนี้กำหนดไว้ให้ (หรือไม่เช่นนั้นผู้หญิงก็ต้องเก็บกดความต้องการทางเพศของตัวเองไว้ ซึ่งก็ทำให้แตกต่างและไม่เท่าเทียมกับผู้ชายอีก) การห้ามไม่ให้ทำแท้งเท่ากับเป็นการบังคับผู้หญิงต้องพึ่งพาผู้ชายอย่างเลือกไม่ได้ เพราะหากผู้หญิงมีความสัมพันธ์กับใคร (หากไม่มีการคุมกำเนิด) ก็จะต้องเป็นคนที่ตั้งใจจะแต่งงานกับผู้หญิงคนนั้นเท่านั้น เพราะหากไม่เป็นเช่นนี้หากเกิดท้องขึ้นมา ผู้หญิงจะอยู่ในสถานะที่ลำบากอย่างยิ่ง จึงไม่น่าประหลาดใจว่ากฎหมายทำแท้งนั้นจะสอดคล้องกับสภาพสังคมที่ “ผู้ชายเป็นใหญ่” และโดยเฉพาะสังคมที่ผู้ชายสามารถมีคู่ครองได้หลายคนอย่างที่เราทราบกันดีว่าสังคมไทยในอดีตอันใกล้นี้ก็เป็นเช่นนั้น ดังนั้นการรณรงค์ยกเลิกกฎหมายทำแท้งจึงเป็นการให้อำนาจแก่ผู้หญิงที่จะกำหนดเวลาและบริบทในการตั้งครรภ์ของตัวเองได้ อำนาจที่เกิดขึ้นนี้ท้าทายระบบสังคมเดิมโดยตรง จึงไม่น่าประหลาดใจว่าเหตุใดฝ่ายที่ต่อต้านการทำแท้งมักจะอยู่ข้างเดียวกับฝ่ายอนุรักษ์นิยมทางวัฒนธรรมในสังคม

ภายใต้ความขัดแย้งของสังคมไทยที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปข้างหน้าอย่างรุนแรง (และก็มีแรงพยายามต่อต้านการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงไม่แพ้กัน) พระพุทธศาสนาก็ถูกดึงเข้ามาในความขัดแย้งนี้อย่างเลี่ยงไม่ได้ ในปัจจุบันมีคนเขียนเกี่ยวกับบทบาทของพระพุทธศาสนาในสังคมสมัยใหม่เป็นจำนวนมาก ทั้งทางด้านสังคมและการเมือง แต่ประเด็นของบทความอยู่ที่ว่าการอ้างเหตุผลส่วนใหญ่ของฝ่ายที่ต่อต้านการทำแท้งนั้น มักจะมาจากหลักการของพุทธศาสนาที่ระบุว่าเนื่องจากการทำแท้งเป็นการฆ่า และการฆ่าเป็นบาป จึงไม่ควรมีการทำแท้ง อย่างไรก็ตามหากจะยึดหลักการนี้กันจริงๆจังๆคนไทยที่เป็นชาวพุทธก็จะต้องเป็นมังสวิรัติกันทั้งประเทศ เพราะการฆ่าสัตว์เพื่อเอาเนื้อมากินก็เป็นการฆ่า การฆ่าเป็นบาป ดังนั้นจึงไม่ควรมีการฆ่าสัตว์เพื่อเอาเนื้อมาเป็นอาหาร การที่หลักการเดียวกันของพุทธศาสนาถูกเลือกนำมาใช้ในกรณีของการต่อต้านการทำแท้ง แต่ไม่เลือกนำมาใช้ในกรณีของการกินเนื้อสัตว์ (เพราะคนไทยนิยมกินเนื้อสัตว์เป็นอย่างยิ่ง คำพูดดั้งเดิมของคนไทยมีว่า “กินข้าวกินปลา” ซึ่งแสดงว่าการกินปลาเป็นเรื่องธรรมชาติของคนไทย แม้คนไทยจะเป็นชาวพุทธ และการกินปลาจะหมายความว่าต้องฆ่าปลาเอามาเป็นอาหารก็ตาม) ก็แสดงว่าเหตุผลที่แท้จริงของการอ้างหลักปาณาติบาตในพระพุทธศาสนามาต่อต้านการทำแท้งนั้น เป็นเรื่องของการเมืองมากกว่าหลักคำสอน เพราะเป็นการเลือกเอาหลักคำสอนมาใช้เมื่อสอดคล้องกับความต้องการที่จะดำรงอำนาจของกลุ่มของตนเองเอาไว้ (แต่พอเป็นเรื่องกินปลา หรือกินไก่ กลับไม่ค่อยพูดถึงหลักเดียวกันนี้เท่าใดนัก)

อย่างไรก็ตาม หากถามว่าแล้วหลักของพระพุทธศาสนาจริงๆเกี่ยวกับการทำแท้งเป็นอย่างไร เพื่อที่จะตอบคำถามนี้การเปรียบเทียบกับการฆ่าสัตว์เพื่อเอาเนื้อมาเป็นอาหารก็ช่วยให้เราเข้าใจเรื่องนี้ได้ดีขึ้นอีกเช่นกัน หากพูดถึงตัวหลักการโดยเฉพาะแล้ว ชาวพุทธไม่สามารถฆ่าอะไรได้เลย เพราะการฆ่าสัตว์ไม่ว่าสัตว์นั้นจะเล็กหรือใหญ่ หรือเป็นมนุษย์หรือสัตว์ หรือเป็นสัตว์ในครรภ์มารดาหรืออยู่นอกครรภ์มารดา ไม่ว่าจะอย่างไรหากไปฆ่าสัตว์นั้นก็ถือเป็นการผิดศีลทั้งสิ้น การที่คนไทยยังนิยมกินปลา หมู เนื้อหรือไก่ ก็แสดงว่าคนไทยที่เป็นชาวพุทธเองยอมยืดหยุ่นกับกฎเกณฑ์นี้ เพราะอ้างได้ว่าเป็นเรื่องของความจำเป็นของชีวิต เนื่องจากคนไทยในสมัยโบราณใช้ชีวิตอยู่กับน้ำ การไม่ให้กินปลาจึงเป็นเรื่องค่อนข้างผิดธรรมชาติ ดังนั้นจึงอ้างได้เช่นเดียวกันว่าการทำแท้งเป็นความจำเป็นเพราะสภาพสังคมได้เปลี่ยนไปแล้ว ไม่ใช่สังคมแบบผู้ชายเป็นใหญ่ สามารถมีเมียน้อยเมียหลวงจำนวนมากได้อีกต่อไป หลักการนี้จึงควรยืดหยุ่นกับการทำแท้งด้วย[2]

นอกจากนี้ยังมีอีกเหตุผลหนึ่งซึ่งก็อ้างอิงหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกัน หลักคำสอนที่สำคัญมากอีกหลักหนึ่งของพระพุทธศาสนาได้แก่พรหมวิหาร ๔ อันประกอบด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา กับอุเบกขา พรหมวิหารที่เกี่ยวข้องกับประเด็นของเราได้แก่สองอย่างแรกคือเมตตากับกรุณา เมตตาคือปรารถนาให้ผู้อื่นมีความสุขและกรุณาคือปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ การทำแท้งอาจมีผู้มองว่าเป็นการให้ทุกข์แก่ตัวอ่อนเพราะทำให้ตัวอ่อนต้องตาย แต่หากพิจารณาให้รอบด้านก็จะพบว่าความทุกข์ไม่ได้มีแก่ตัวอ่อนเท่านั้น แต่คนที่ทุกข์มากเห็นๆอยู่คือตัวผู้หญิงนั่นเอง ในกรณีนี้เราอาจคิดว่าสถานะในความเป็นบุคคลของผู้หญิงกับของตัวอ่อนต่างกัน คือไม่ว่าจะอย่างไรตัวอ่อนก็ยังอยู่ในท้องแม่ ความเป็นอยู่ของตัวอ่อนทั้งหมดขึ้นอยู่กับแม่ นอกจากนี้หากพิจารณาถึงช่วงแรกๆของการเป็นตัวอ่อน จะเห็นว่าตัวอ่อนยังไม่มีสภาพเป็นคน แต่เป็นเพียงก้อนเนื้อขนาดเท่าเมล็ดถั่วเท่านั้น การถือว่าตัวอ่อนขนาดเท่านี้ที่ต้องอาศัยรกของแม่ทั้งหมดแบบนี้ สามารถมีความทุกข์ได้เท่ากับแม่ที่เป็นบุคคลเต็มตัวเป็นเรื่องที่อ้างเหตุผลสนับสนุนได้ยาก เราอาจมองได้ว่าแม้ตัวอ่อนจะสามารถมีความทุกข์ได้ แต่หญิงที่ตั้งครรภ์น่าจะมีความทุกข์มากกว่าเนื่องจากมีความสามารถในการรับรู้และมีบริบททางสังคมวัฒนธรรม ฯลฯ ที่กดดันให้ต้องมาตัดสินใจแบบนี้ ซึ่งสภาพแบบนี้ไม่เกิดขึ้นแก่ตัวอ่อนเลย ในสภาพอันเป็นอุดมคติ หลักของความกรุณาจะแผ่ไปยังสัตว์โลกทั้งหมดโดยไม่มีข้อยกเว้น แต่เมื่อมาถึงการลงมือทำจริงๆเพื่อให้สัตว์โลกพ้นทุกข์ได้จริงๆ ในหลายกรณีจะพบว่ามีความจำเป็นต้องเลือกคือพอช่วยสัตว์โลกตัวนี้ ตัวอื่นก็จะไม่ได้รับการช่วยเหลือ เรื่องแบบนี้เกิดขึ้นเป็นปกติ ดังนั้นหลักการของความกรุณาจึงบอกว่าหากมีความจำเป็น ก็ควรจะช่วยสัตว์โลกที่มีความทุกข์มากกว่าก่อน ในกรณีนี้เป็นที่ปรากฏชัดว่าความทุกข์ของหญิงตั้งครรภ์มีมากกว่าความทุกข์ของตัวอ่อน ดังนั้นจึงไม่ผิดหลักเหตุผลหรือหลักคำสอนแต่ประการใด

ไม่ว่าจะอย่างไร เราคงต้องยอมรับว่าการทำแท้งก็เป็นสิ่งไม่ควรเกิดขึ้น เพราะอย่างน้อยก็ต้องมีชีวิตหนึ่งที่สูญเสียไป ดังนั้นหากจัดการได้ไม่ให้สถานการณ์ที่จะต้องมาคิดว่าจะต้องทำแท้งหรือไม่เกิดขึ้น ก็จะเป็นการดีที่สุด เช่นคู่รักหรือคู่แต่งงานที่จะมีความสัมพันธ์ทางเพศ ก็ควรจะรู้วิธีการที่ถูกต้องในการคุมกำเนิดรวมทั้งมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเพศศึกษา ซึ่งเรื่องเหล่านี้ควรจะต้องเป็นส่วนหนึ่งของระบบการศึกษาโดยทั่วไป หรือยิ่งไปกว่านั้นหากมีการละเว้นจากการมีเพศสัมพันธ์ไปเลยก็จะเป็นการตัดรากเหง้าของปัญหาทั้งหมดไม่ให้เกิดขึ้นตั้งแต่แรก อย่างไรก็ตามเราก็ต้องยอมรับอีกเช่นกันว่า แม้ว่าจะมีวิธีการต่างๆในการคุมกำเนิดหรือข้อแนะนำในการละเว้นความสัมพันธ์ทางเพศก็ตาม แต่กรณีที่ต้องมาตัดสินใจว่าจะต้องทำแท้งหรือไม่ก็ยังคงเกิดขึ้น ข้อเสนอเกี่ยวกับการทำแท้งข้างต้นนี้ก็เกิดขึ้นภายใต้บริบทนี้ สิ่งที่สังคมควรทำก็คือตระหนักว่าการนำตนเองเข้าสู่สถานการณ์ที่ต้องตัดสินใจว่าทำแท้งดีหรือไม่ เป็นสิ่งไม่พึงปรารถนา ทางที่ดีที่สุดก็คือไม่พาตนเองเข้าไปสู่สถานการณ์ดังกล่าวตั้งแต่แรก ซึ่งก็จะทำได้โดยการคุมกำเนิดและการละเว้นจากการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะพร้อมและยินดีที่จะมีลูกจริงๆ

แต่จะอย่างไรก็ตาม หากเข้ามาสู่สถานการณ์ที่ต้องตัดสินใจว่าจะทำแท้งดีหรือไม่เข้าจริงๆ สังคมก็ไม่ควรจะปิดทางเลือกให้แก่ผู้หญิงด้วยการปฏิเสธทางเลือกในการทำแท้ง ดังที่ปรากฏอยู่ในประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะประการหนึ่งของสังคมไทยก็คือว่า เมื่อเกิดกรณีเกี่ยวกับความจำเป็นที่จะต้องเลือกหรือสถานการณ์ที่เป็น “ทางสองแพร่ง” (dilemma) ซึ่งไม่ว่าจะเลือกทางใดก็เป็นปัญหาทั้งคู่ (ซึ่งเรื่องทำแท้งเป็นตัวอย่างที่ดีมาก) สังคมไทยจะเลือกที่จะไม่มาพูดอภิปรายไตร่ตรองเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างเป็นสาธารณะ แต่จะเลือกทำสิ่งที่ต้องการไปเลยโดยสิ่งที่ทำเป็นอย่างหนึ่งแต่ที่พูดหรือเสนอภาพออกมาจะเป็นอีกอย่างหนึ่ง อย่างเช่นเรื่องทำแท้ง คนไทยหลายคนจะกล่าวว่าไม่ควรทำ ผิดหลักของศาสนา เป็นบาป ฯลฯ แต่อีกข้างหนึ่งก็จะปรากฏคลีนิครับทำแท้งอย่างถูกอนามัยอยู่ใต้ดินอย่างเปิดเผย (เพราะมีความจำเป็นของสังคม) เรื่องแบบนี้ก็เป็นเช่นเดียวกับอีกหลายเรื่องที่ตัวบทกฎหมายเป็นอย่างหนึ่ง แต่ความเป็นจริงเป็นอีกอย่างหนึ่ง  ข้อเสียของการคิดแบบพูดอย่างทำอย่างก็คือว่า การคิดแบบนี้เป็นการปิดโอกาสไม่ให้สังคมได้เข้าใจอย่างจริงจังถ่องแท้ว่าสิ่งที่สังคมเลือกมีความผิดถูก มีเหตุผลรองรับอย่างไร การมีคลีนิคทำแท้งที่ถูกหลักการแพทย์ (ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่มี) จึงต้องอยู่ในสภาพที่ขัดแย้งกับตัวเองมาตลอด แทนที่จะมาอภิปรายกันว่าเหตุใดจึงต้องมีคลีนิคเช่นนี้และดึงคลีนิคเหล่านี้ขึ้นมาจากใต้ดินเพื่อที่จะได้ตรวจสอบได้และขจัดภาพลักษณ์ของการทำอะไรนอกกฎหมายออกไป ภายใต้แนวทางกฎหมายใหม่แบบใหม่ที่อนุญาตให้ทำเช่นนี้ภายใต้เงื่อนไขที่ปฏิบัติได้จริงตรงกับความเป็นจริงของสังคม สังคมไทยกลับเลือกไม่พูดถึงเรื่องเหล่านี้ เหมือนกับตั้งใจหันหลังให้ ปล่อยให้ใครที่อยากทำทำกันไปเอง ซึ่งแน่นอนว่าไม่ดีเท่ากับการหันกลับไปมองด้วยความเข้าใจเห็นใจจริงๆ แต่การจะทำเช่นนี้ได้ก็จะต้องอยู่บนพื้นฐานความคิดว่า การทำแท้งเป็นสิ่งถูกต้องชอบธรรมภายใต้เงื่อนไขที่รัดกุม แต่ไม่ใช่รัดกุมมากเสียจนกระทั่งเป็นการปิดทางเลือกของผู้หญิงไป บทความนี้ก็ได้พยายามเสนอว่า หลักคำสอนของพระพุทธศาสนาแม้จะยืนยันหลักของการไม่เบียดเบียนชีวิตสัตว์ แต่ในกรณีจำเป็นจริงๆที่เป็นเรื่องของสภาพสังคมที่กำลังเป็นอยู่ หลักการของการปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ควรจะรวมไปถึงการหาทางให้หญิงที่ตั้งครรภ์โดยไม่สมัครใจ ได้มีโอกาสมีทางเลือกของตนเองด้วย หากสังคมพุทธเปิดช่องทางให้แก่ผู้หญิงเช่นนี้ ก็จะเป็นการยืนยันว่าสิ่งที่ทำอยู่อย่างไม่เปิดเผยไม่ควรถูกกดให้อยู่ใต้ดิน และยังเป็นการยืนยันว่าสังคมพุทธสามารถตอบสนองต่อสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปอีกด้วย


[1]    ผู้ที่สนใจการถกเถียงเรื่องนี้ในสังคมออนไลน์โปรดดู “ดราม่า” เรื่องการทำแท้งที่ http://drama-addict.com/2012/04/08/ตะเพิดทำแท้งค์/ ซึ่งรวบรวมข้อถกเถียงต่างๆเกี่ยวกับการทำแท้งไว้อย่างน่าสนใจ

[2]    หลักการที่คล้ายคลึงกับที่เสนอนี้ได้แก่หลักของ ศ. ดร. สมภาร พรมทาที่เสนอว่าการทำแท้งเป็น “ความผิดที่จำเป็น” ซึ่งสังคมจำเป็นต้องทำภายใต้บริบทที่เป็นอยู่ โปรดดู สมภาร พรมทา, พุทธศาสนากับปัญหาจริยศาสตร์: ทัศนะของพุทธศาสนาเกี่ยวกับปัญหาโสเภณี ทำแท้งและการุณยฆาต (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์พุทธชาด, ๒๕๓๕)

Advertisement

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.