การแก้ไขปัญหาพิจารณาตำแหน่งวิชาการล่าช้า

ปัญหาที่สำคัญที่สุดและน่าจะร้ายแรงมากที่สุดเนื่องจากส่งผลเสียให้แก่การทำงานของมหาวิทยาลัยต่างๆมากที่สุด เห็นจะได้แก่เรื่องความล่าช้าของการขอตำแหน่งวิชาการ ปัญหานี้เป็นเรื่องของการบริหารจัดการโดยตรง และไม่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องคุณภาพของงานวิจัยที่ส่งเข้ามารับการพิจารณา อาจารย์หลายท่านรอผลการพิจารณาเป็นเวลานานมาก ซึ่งนอกจากจะส่งผลเสียแก่กำลังใจในการทำงานของอาจารย์ผู้นั้นแล้ว ยังก่อให้เกิดผลเสียแก่การบริหารงานของมหาวิทยาลัยอีกด้วย เนื่องจากความล่าช้าในกระบวนการดังกล่าว ทำให้เกิดการรอคอยติดขัด เมื่อมีอาจารย์ส่งผลงานเข้ามารับการพิจารณาใหม่ ก็ยิ่งทำให้งานคั่งค้างอยู่ที่ฝ่ายบริหารมากขึ้น ในขณะที่เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมีเท่าเดิม ผลก็คืออาจทำให้กระบวนการทั้งหมดยิ่งขาดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นไปอีก

ที่มาของปัญหานี้มาจากว่า ประเทศไทยไม่มีข้อกำหนดบังคับว่ากระบวนการพิจารณาตำแหน่ง จะต้องสิ้นสุดภายในเวลาเท่าใด ดังนั้นในทางทฤษฎีแล้วกระบวนการดังกล่าวอาจยืดยาวไปได้ถึงสิบหรือยี่สิบปี หรือแม้แต่มากกว่านั้น จะเห็นได้ว่าลักษณะเช่นนี้ร้ายแรงและเป็นผลเสียมาก กระบวนการอื่นในมหาวิทยาลัย ก็ไม่ได้มีอะไรที่ขาดการกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดเช่นนี้ การเข้าเรียนของนิสิตนักศึกษา ถ้าเป็นระดับปริญญาตรี ก็ไม่เกินแปดปีการศึกษา ในระดับบัณฑิตศึกษา ก็ยิ่งน้อยไปกว่านั้นอีก การดำรงตำแหน่งบริหารระดับสูงก็มีการกำหนดระยะเวลาชัดเจน เช่นอธิการบดีเป็นได้ไม่เกินสี่ปี กรรมการสภามหาวิทยาลัยเป็นได้ในวาระหนึ่งๆไม่เกินสองหรือสามปีเป็นต้น

ปัญหาดังกล่าวนี้เป็นที่รับรู้ และมีคนกล่าวถึงด้วยความเป็นห่วงมาเป็นเวลานาน แต่ก็ไม่มีมาตรการใดที่ออกมาแก้ไข ด้วยเหตุนี้ จึงเสนอว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีมาตรการบังคับให้มีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการพิจารณาตำแหน่งวิชาการของอาจรย์คนหนึ่ง เช่นเดียวกับตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง หรือกำหนดระยะเวลาการเรียนของนิสิตนักศึกษา การกำหนดระยะเวลานี้ประกอบด้วยการกำหนดว่า หากกระบวนการพิจารณาตำแหน่งไม่เสร็จสิ้นภายในเวลาที่ประกาศไว้ก่อนล่วงหน้า เช่นสามปี ก็ให้ถือว่าอาจารย์ที่รับการพิจารณาคนนั้น ผ่านการพิจารณาตำแหน่งไปโดยปริยาย

เหตุผลสำคัญที่เสนอเช่นนี้ก็เนื่องจากว่า ความรับผิดชอบในการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์ เป็นหน้าที่โดยตรงของฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัย ดังนั้นจึงไม่ควรจะปัดความรับผิดชอบนี้หากกระบวนการดังกล่าวยืดเยื้อไปเรื่อยๆไม่จบสิ้น การแสดงความรับผิดดังกล่าวก็อยู่ที่การให้อาจารย์ที่รับการพิจารณา ได้รับตำแหน่งนั้นไปโดยอัตโนมัติ เนื่องจากภายในเวลาที่กำหนด มหาวิทยาลัยไม่สามารถตัดสินได้ว่าอาจารย์คนนี้เข้าข่ายหรือไม่เข้าข่ายที่จะได้รับเลื่อนตำแหน่งวิชาการ ดังนั้นเพื่อเป็นการแสดงความรับผิดชอบมหาวิทยาลัยต้องดำเนินการต่อไปเสมือนหนึ่งว่าอาจารย์คนนี้ได้รับความเห็นชอบในการพิจารณาตำแหน่งไปแล้ว การให้อาจารย์ผ่านการพิจารณาตำแหน่งไปโดยปริยาย ไม่ว่าจะอย่างไร ก็เป็นการดีทั้งแก่ตัวอาจารย์เองและแก่มหาวิทยาลัยเอง ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว ดังนั้นหากเปรียบเทียบกับการปล่อยกระบวนการให้ยืดเยื้อไปเรื่อยๆไม่รู้ว่าเมื่อใดจะจบสิ้น การให้ตำแหน่งไปโดยปริยายก็ย่อมเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

การทำเช่นนี้ไม่ใช่ของใหม่ กระบวนการพิจารณาอื่นๆภายในมหาวิทยาลัยเองก็มีการทำเช่นนี้อยู่เสมอๆ การพิจารณางานวิจัยโดยผู้ทรงคุณวฒิในบริบทอื่น เช่นในการพิจารณาจริยธรรมการวิจัย หรือการพิจารณาคำตอบที่ผู้วิจัยส่งกลับมาในกรณีที่กรรมการมีคำถามหรือข้อเสนอแนะไป ก็มักจะมีกำหนดว่า หากกรรมการไม่ตอบกลับมาภายในเวลาเท่านั้นเท่านี้ ก็จะถือเสมือนว่ากรรมการนั้นให้ความเห็นชอบแล้ว นอกจากนี้ในการบริหารงานด้านอื่นๆของมหาวิทยาลัย ก็มีการปฏิบัติทำนองนี้เช่นเดียวกัน เช่นหากกรรมการไม่ตอบกลับมาภายในเวลาที่กำหนด ว่าจะรับรองรายงานการประชุมมหรือมีข้อเสนอแก้ไขอะไร ก็ให้ถือว่ากรรมการคนนั้นรับรองรายงานการประชุมไปแล้ว เป็นต้น

ปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยในการพิจารณาตำแหน่งทางวิชาการก็คือว่า ผู้ทรงคุณวุฒิที่ทาบทามไปไม่ตอบกลับมา คือไม่ตอบว่าตนเองจะตอบรับเป็นกรรมการ หรือจะไม่ตอบรับเป็นกรรมการ ในกรณีนี้ต้องถือว่าผู้ที่มหาวิทยาลัยทาบทามไปแต่ไม่ตอบกลับมานี้ (ภายในเวลาที่ไม่นานเกินไป เช่นหนึ่งเดือน) ตอบปฏิเสธการทาบทาม และมหาวิทยาลัยต้องหาคนอื่นมาเป็นผู้ทรงคุณวุฒิแทนต่อไป ปัญหาอีกประการหนึ่งได้แก่จำนวนของ “ผู้ทรงคุณวุฒิ” ที่มีสิทธิในการอ่านงานพิจารณาตำแหน่งนั้น มีน้อยมาก ไม่เพียงพอแก่การทำงานให้แก่อาจารย์ทั้งประเทศ ตรงนี้เป็นปัญหาสำคัญที่กระทรวงที่เกี่ยวข้องจะต้องแก้ไข แต่ไม่ว่าจะอย่างไรข้อเสนอก็คือว่า หากยังมีปัญหาเรื่องนี้อยู่และแก้ไม่ได้ในเวลาที่กำหนด ก็เท่ากับว่ามหาวิทยาลัยและกระทรวงมีความบกพร่องในการทำงาน (เนื่องจากมีหน้าที่ต้องพิจารณา แต่ทำไม่ได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม) ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการให้อาจารย์ที่รับการพิจารณา ได้รับตำแหน่งที่ขอไปโดยปริยาย

อาจมีผู้แย้งว่า ข้อเสนอนี้ทำให้เกิดความเป็นไปได้ว่า อาจารย์จะได้เลื่อนตำแหน่งวิชาการโดยยังไม่รู้ว่ามีความเหมาะสมกับตำแหน่งนั้นจริงๆหรือไม่ เพราะยังไม่ได้รับการตัดสิน แต่นั่นเป็นปัญหาปลีกย่อย ปัญหาที่ใหญ่กว่าก็คือว่าการติดขัดสะสมของกระบวนการทั้งหมด หากมีการคั่งค้างของงานที่เข้ามายังมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยก็ควรมีระบบที่จะทำให้บอกได้ว่างานที่อาจารย์ส่งเข้ามารับการพิจารณา มีแนวโน้มจะเข้าข่ายหรือไม่เข้าข่ายจะได้ตำแหน่งนั้นหรือไม่ โดยไม่ต้องพึ่งพาผู้ทรงคุณวุฒิในทุกกรณี การทำเช่นนี้เป็นแบบเดียวกับการทำงานของบรรณาธิการวารสารวิชาการ จะพิจารณาบทความที่ส่งเข้ามา ว่าเข้าข่ายหรือไม่เข้าข่ายตามขอบเขตและวัตถุประสงค์ของวารสารหรือไม่ หากไม่เข้าข่ายก็ตอบปฏิเสธไปเลยโดยไม่ต้องส่งให้ผู้ประเมินพิจารณา ในกรณีของอาจารย์ที่ส่งผลงาน ก็เป็นเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ในการประโยชน์จากระบบฐานข้อมูลอ้างอิงต่างๆ เช่น Scopus, ISI หรืออื่นๆ ก็เป็นข้อบ่งชี้คุณภาพของผลงานในระดับที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไป และใครก็สามารถเปิดไปดูในฐานข้อมูลเหล่านี้ได้ว่า งานที่อาจารย์ส่งมารับการพิจารณา อยู่ในฐานข้อมูลเหล่านี้หรือไม่ ดังนั้นการบอกว่าในกรณีที่กระบวนการพิจารณาล่าช้าแล้วได้ตำแหน่งไปเลย จะไม่เหมาะสม ก็ไม่มีน้ำหนักมากนัก หากงานที่ส่งเข้ามามีปรากฏในฐานข้อมูลเหล่านี้ หรือเข้าข่ายตัวบ่งชี้คุณภาพที่เป็นสาธารณะที่เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปอย่างอื่นๆ

ในปัจจุบัน การขอตำแหน่งวิชาการมีความสำคัญมากต่อการทำงานของอาจารย์ เนื่องจากผูกติดอยู่กับการต่อสัญญาและความมั่นคงในอาชีพการงานของอาจารย์ ดังนั้นหากมีความล่าช้าออกไปโดยไม่จบสิ้น ก็จะเป็นผลเสียแก่อาจารย์โดยตรง โดยที่อาจารย์ไม่ได้ทำอะไรผิด ผู้ที่ต้องรับผิดชอบและแบกรับความผิดก็ย่อมได้แก่มหาวิทยาลัย ที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบดำเนินการเรื่องนี้โดยตรง การให้อาจารย์ได้ตำแหน่งไปตามที่ขอหากกระบวนการนี้มหาวิทยาลัยไม่สามารถทำให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด จึงเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาความล่าช้าดังกล่าวโดยตรง และเชื่อว่าน่าจะทำให้การทำงานของมหาวิทยาลัยเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

งานวิจัย: ผลกระทบเชิงสังคม

รองคณบดีฝ่ายวิจัยขอให้อาจารย์ในคณะช่วยคิดเกี่ยวกับประเด็นเกี่ยวกับการวิจัยสี่ประเด็น ได้แก่ ผลกระทบทางสังคม การบูรณาการ การตีพิมพ์เผยแพร่ และปัญหาเชิงระบบเกี่ยวกับการวิจัย ก็เลยถือโอกาสพูดเรื่องนี้พวกนี้ที่นี่ครับ ในวันนี้ขอพูดเรื่องแรกก่อนคือเรื่องผลกระทบเชิงสังคม หรือผลกระทบต่อสังคม

ปัจจุบันมีการพูดถึง “ผลกระทบเชิงสังคม” ของงานวิจัยกันมาก เรื่องนี้เป็นที่สนใจของอาจารย์คณะอักษรศาสตร์ เพราะงานวิจัยของอาจารย์คณะนี้มักถูกมองว่า ไม่ค่อยมีผลกระทบต่อสังคมเท่าใด แต่ก่อนจะอภิปรายเรื่องนี้ในรายละเอียด ก็ขอพูดเกี่ยวกับว่าอะไรคือ “ผลกระทบเชิงสังคม” ของงานวิจัยเสียก่อน ไปๆมาๆคนที่พูดเรื่องนี้แล้ววิจารณ์การทำวิจัยว่าไม่มีผลกระทบ อาจไม่เข้าใจว่าผลกระทบคืออะไรก็ได้

เราอาจเริ่มที่งานที่เห็นชัดๆว่ามีผลกระทบก่อน ตัวอย่างเช่นงานวิจัยของอเล็กซานเดอร์ เฟลมมิ่งที่ค้นพบสารปฏิชีวนะ ผลกระทบคือโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล โรคหลายๆอย่างที่ไม่มีทางรักษา เช่นวัณโรค หรือโรคติดเชื้อต่างๆ ก็สามารถรักษาให้หายได้ หรือการค้นพบของไอน์สไตน์ว่าแสงเดินทางเป็นอนุภาค ก็ก่อให้เกิดผลกระทบตรงที่เราสามารถออกแบบเทคโนโลยีให้ฉายแสงไปที่ใด แล้วไปเปิดปิดสวิทช์ได้ เช่นประตูลิฟท์เป็นต้น แบบนี้เป็นผลกระทบที่เห็นชัดเจน

แต่งานวิจัยในชีวิตของอาจารย์ทั่วไปไม่ได้เป็นแบบนั้น งานวิจัยแบบที่พูดถึงข้างต้นเป็นงานในประวัติของวิชาวิทยาศาสตร์ แต่งานทั่วๆไปก็คืองานที่ก่อให้เกิดความก้าวหน้าทีละเล็กน้อย เพราะไม่ใช่บ่อยๆที่จะมีใครคิดงานวิจัยที่ก่อให้เกิดความก้าวหน้าได้อย่างชัดเจนมากๆแบบของไอน์สไตน์ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เลยเกิดคำถามว่า ที่พูดกันว่างานวิจัยที่อาจารย์มหาวิทยาลัยทำต้องก่อให้เกิด “ผลกระทบเชิงสังคม” นั้นมีความหมายว่าอะไรกันแน่ งานของไอน์สไตน์เรื่องแสงเป็นอนุภาคก่อให้เกิดผลกระทบเชิงสังคมตรงที่มีการพัฒนาเป็นเทคโนโลยีในหลายรูปแบบ แต่งานวิจัยของอาจารย์สาขาวิทยาศาสตร์เองก็ไม่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบแบบนี้ทุกชิ้นไป ผู้บริหารจะใช้อำนาจสั่งให้อาจารย์วิทยาศาสตร์หยุดทำการวิจัยเหล่านี้ไปหรือไม่ งานทางคณิตศาสตร์ที่ศึกษารูปทรงหลายมิติ หรืองานฟิสิกส์ที่ศึกษาเอกภพคู่ขนาน ดูจะไม่มีทางแปลให้เป็นผลกระทบเชิงสังคมได้ในเวลาอันใกล้ แล้วเราจะเลิกสนับสนุนงานวิจัยเหล่านี้ไปเลยหรือไม่ คำตอบคือไม่ เพราะหากไม่มีงานเหล่านี้ก็จะไม่มีทางพัฒนาความเข้มแข็งทางวิชาการให้แก่ประเทศได้

ในทำนองเดียวกัน งานในสาขามนุษยศาสตร์ก็สามารถก่อให้เกิดผลกระทบเชิงสังคมได้ เช่นงานเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ เช่นเรื่องศิลาจารึกหรืออนุสาวรีย์ของบุคคลที่มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงความรู้เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างใหญ่หลวงแก่สังคม รวมไปถึงหลักสูตร การสร้างทัศนคติ ความเชื่อ คุณค่าในสังคม ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสังคมแน่นอน งานวิจัยประเภทนี้ทำให้หลายฝ่ายที่มักบอกว่างานวิจัยทางมนุษยศาสตร์ไม่มี “ผลกระทบเชิงสังคม” ต้องปิดปากเงียบเพราะจำนนด้วยหลักฐานที่ปฏิเสธไม่ได้

และในทำนองเดียวกัน งานวิจัยทางมนุษยศาสตร์ที่ไม่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงก็มีอยู่มาก แต่ก็เป็นผลกระทบเล็กๆที่เป็นการขยายขอบเขตของความรู้ให้กว้างออกไป งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ทั่วๆไปก็ไม่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างมหาศาลแบบงานของไอน์สไตน์ และในทำนองเดียวกันงานวิจัยทางมนุษยศาสตร์ทั่วๆไปก็ไม่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบกว้างขวางแบบงานที่เสนอมาข้างต้น แต่ก็เป็นงานที่สร้างความเข้มแข็งทางวิชาการให้แก่สังคมเช่นเดียวกัน

แล้วเราควรจะถือว่างานเล็กๆที่สร้างความเข้มแข็งทางวิชาการเป็นงานที่สร้าง “ผลกระทบเชิงสังคม” หรือไม่? ก็ไม่น่าจะมีเหตุผลอะไรที่จะทำให้เราไม่คิดแบบนั้น งานที่มีคุณภาพจะเป็นงานที่สร้างผลกระทบ เนื่องจากงานที่มีคุณภาพจะก่อให้เกิดความก้าวหน้าทางวิชาการ เป็นงานที่ขยายพรมแดนความรู้ให้กว้างออกไป และผลกระทบเชิงสังคมนอกจากผลกระทบเชิงวิชาการที่เกิดขึ้น ก็คือความเข้มแข็งทางความคิดและทางวัฒนธรรมของสังคม อันเป็นผลโดยตรงของงานวิจัยทำนองนี้

ประกาศรับกรณีศึกษา

เนื่องจากตอนนี้ผมกำลังทำวิจัยเกี่ยวกับจริยธรรมในกระบวนการทำวิจัย ประกอบด้วยการลักลอกผลงาน (plagiarism) การปั้นแต่งข้อมูล (fabrication) การดัดแปลงข้อมูล (falsification) การเป็นผู้แต่งผลงาน (authorship) และอื่นๆ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ นวัตกรรมและเทคโนโลยีแห่งชาติ กระบวนการทำวิจัยประกอบด้วยการรวบรวม “กรณีศึกษา” ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงซึ่งประกอบด้วยการละเมิดจริยธรรมเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นสาขาวิชาใด ทั้งวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ หรือมนุษยศาสตร์ จึงอยากจะขอให้ทุกท่านที่รู้เกี่ยวกับกรณีต่างๆ รวมทั้งกรณีที่ท่านคิดว่าอาจเกี่ยวข้องกับการละเมิดดังกล่าว จึงขอให้ท่านกรุณาส่งกรณีดังกล่าวมาที่ผม เพื่อที่จะได้รวบรวมและวิเคราะห์ต่อไป
 
และเนื่องจากเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนและเกี่ยวข้องกับการเสียชื่อเสียงของบุคคล จึงขอให้ท่านกรุณาส่งกรณีดังกล่าวมาเป็นความลับที่ผมที่เมล์ soraj.h@mso.chula.edu และขอความกรุณาเอาชื่อบุคคลต่างๆออก โดยขอให้ตั้งชื่อปลอมแทน การรายงานของท่านจะเป็นที่รู้กันเฉพาะผมกับท่านผู้ส่งข้อมูลเท่านั้น
 
ขอขอบคุณทุกท่านครับ
 
โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์

การนำเสนองานวิจัย

โพสนี้คงเป็นโพสสั้นๆครับ เพราะเรื่องนี้มีคนพูดไว้เยอะแล้ว ผมเองก็จำได้ว่าเคยพูดเคยเขียนเรื่องนี้ไว้ก่อนแล้ว ประเด็นก็คือว่า ในการนำเสนองานวิจัยในที่ประชุมวิชาการ เราไม่ควรพูดเรื่องความรู้พื้นฐานมากเกินไป แต่ให้เน้นไปที่ประเด็นหลักของงานของเราเลย ไม่เช่นนั้นการเสนอ งานวิจัย ของเราจะกลายเป็นการ สอนหนังสือ ไป แล้วงานประชุมวิชาการ ก็จะกลายเป็นที่ฝึกอบรมสอนความรู้พื้นฐานไป

งานประชุมวิชาการ หรือที่เรียกว่า conference ในภาษาอังกฤษ เป็นกิจกรรมที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของชีวิตนักวิชาการ เพราะเป็นที่ที่นักวิชาการที่สนใจเรื่องเดียวกันมาพบปะกัน มาแลกเปลี่ยนผลงานใหม่ๆของตนเอง ซึ่งทำให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน หัวใจของงานประชุมแบบ conference จึงเป็นการที่นักวิชาการมาเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไม่ใช่ที่ให้นักเรียนมาเรียนสิ่งเก่าๆ ซึ่งอย่างหลังนี้มีที่ทางของมันเองอยู่แล้ว คือห้องเรียนและการเรียนในหลักสูตร บทความที่มาเสนอใน conference จึงเป็นผลการศึกษาที่กำลังจะพัฒนาไปเป็นบทความวิจัยที่ลงตีพิมพ์ในวารสารวิชาการในท้ายที่สุด แล้วนอกจากนี้ การประชุมวิชาการยังมีเวลาจำกัดมาก ตามปกติจะมีเวลาให้แต่ละคนนำเสนอได้เพียงแค่ 20 นาทีเท่านั้น บวกเวลาสำหรับถามตอบอีก 10 นาที

ในเวลาอันจำกัดนี้ แน่นอนว่าเป็นไปไม่ได้ที่เราจะพูดถึงความรู้ทุกอย่างที่เรารู้ได้หมด ดังนั้นเราต้องมีการบริหารจัดการ ข้อเสนอของผมมีดังนี้

ข้อแรกคือ พยายามใช้เวลากับการปูพื้นให้น้อยที่สุด การปูพื้นถึงแม้ว่าจะเป็นอย่างที่ผมได้พูดไว้ข้างต้น แต่ก็ยังจำเป็นอยู่ในฐานะที่เครื่องมือในการเกริ่นนำผู้ฟังไปสู่ประเด็นหลักของเรา แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเรามีเวลาแค่ 20 นาที การเกริ่มนำหรือปูพื้นไม่ควรเกิน 5 นาที โดยเราพูดถึงปัญหาหรือโจทย์หลักในการทำวิจัย ความสำคัญของโจทย์นี้ต่อวงการวิชาการ ตัวอย่างเช่นสมมติว่าเราเสนองานวิจัยที่เปรียบเทียบทรรศนะเกี่ยวกับตัวตนของฮิวม์กับของพุทธศาสนา เราก็เริ่มจากพูดถึงว่าปัญหาตัวตนในอภิปรัชญาเป็นอย่างไร (พื้นความรู้) แล้วก็ตามมาด้วยเรื่องความสำคัญของปัญหา คือทำไมถึงต้องมาเปรียบเทียบฮิวม์กับพุทธปรัชญาในเรื่องตัวตน การเปรียบเทียบนี้ทำให้เราเข้าใจปัญหาใหญ่ในอภิปรัชญาว่าอย่างไร และทำให้เข้าใจทั้งฮิวม์และพุทธปรัชญาในแง่มุมใหม่อย่างไร

ต่อจากนั้นเราก็พูดถึงโจทย์วิจัยเฉพาะของงานเราเอง ซึ่งประกอบด้วยการเปรียบเทียบของเรา แตกต่างจากที่นักวิชาการคนอื่นๆได้เปรียบเทียบฮิวม์กับพุทธศาสนาไว้อย่างไรบ้าง การพูดตรงนี้เราจำเป็นต้องอ้างอิงงานของนักวิชาการที่ทำไว้ก่อนหน้า ซึ่งจะเป็นการแสดงว่าเราวางตำแหน่งงานของเราไว้อย่างไร ตรงนี้สำคัญมากๆ เพราะจะเป็นการพิสูจน์ว่างานของเราไม่เหมือนของใครอื่นเลย และมีคุณค่ามากพอที่จะได้รับการบันทึกไว้ในแหล่งความรู้ และที่สำคัญมากที่สุดคือ ทำให้ผู้ฟังเห็นภาพว่างานของเรามีจุดเด่นอย่างไร

ขั้นตอนที่กล่าวมาข้างต้นไม่ควรใช้เวลาเกิน 10 นาที ใน 10 นาทีที่เหลือของการนำเสนอ เราก็พูดถึงรายละเอียดของการเปรียบเทียบของเราเอง โดยเราตีความทั้งฮิวม์และพุทธศาสนาตามที่ได้เกริ่นไว้โดยในขั้นนี้เราจะลงรายละเอียด เช่นอาจมีนักวิชาการที่ปฏิเสธว่าฮิวม์มีทรรศนะที่ “คงเส้นคงวา” เกี่ยวกับตัวตน ดังนั้นเอาไปเปรียบกับใครไม่ได้ แต่ผู้วิจัยเสนอว่าฮิวม์ที่ทรรศนะที่คงเส้นคงวา อะไรแบบนี้ โดยมีหลักฐานประกอบ ไม่ใช่พูดลอยๆเฉยๆ การตีความพุทธปรัชญาเกี่ยวกับเรื่องตัวตนก็แบบเดียวกัน

David Hume
เดวิด ฮิวม์

พูดสั้นๆก็คือว่า การนำเสนองานวิจัยในที่ประชุม conference ไม่ใช่การสอนหนังสือ และคนฟังก็ไม่ใช่นักเรียนหรือนักศึกษา แต่เป็นนักวิชาการ เป็นอาจารย์ด้วยกันทั้งนั้น ถึาเริ่มต้นจากการเข้าใจความจริงพื้นฐานข้อนี้ การนำเสนอของเราก็จะเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่น่ามีปัญหาอุปสรรคอะไร

ทำอย่างไรงานวิจัยของไทยจึงจะมีคุณภาพมากขึ้น

ผมคิดเรื่องนี้อย่างต่อเนื่องมาตลอดครับ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมากต่อคุณภาพของมหาวิทยาลัยไทย และคุณภาพของระบบการศึกษากับคุณภาพของคนไทยเองทั้งหมด แล้วผมก็มีประสบการณ์การอ่านกับประเมินงานวิจัยของอาจารย์และนิสิตนักศึกษามาระยะเวลาหนึ่ง ก็เลยเอาที่สังเกตเห็นมาเล่ากันฟังตรงนี้

ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดที่ทำให้งานวิจัย (บทความวิชาการ วิทยานิพนธ์) ของไทยโดยทั่วไปไม่ค่อยได้ไปไหน ก็คือว่างานเหล่านี้ขาดมิติของการโต้แย้งกับการอ้างเหตุผลครับ เรื่องนี้ต้องขยายความกันยาว เลยต้องมาเขียนในนี้ ลักษณะของงานเหล่านี้มักจะเป็นการบรรยายภาพเสียเป็นส่วนมาก เช่น “ทัศนคติของคนกลุ่มนี้ต่อเรื่องนี้” โดยไม่ได้มีการอ้างว่าการศึกษาทัศนคติตรงนี้ทำให้คนในวงการวิชาการสาขาวิชานั้น รู้อะไรเพิ่มมากขึ้นในสาขาวิชาของตนเอง ตรงนี้สำคัญมาก เพราะ “สาขาวิชาการ” ไม่ได้หมายความอะไรมากไปกว่าการที่นักวิชาการกลุ่มหนึ่งมารวมตัวกัน แล้วก็พูดคุยกันเพื่อหาความรู้ร่วมกัน นักประวัติศาสตร์ก็มารวมตัวกันเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ทางประวัติศาสตร์ นักสังคมวิทยาก็มารวมตัวกันเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ทางสังคมวิทยา สิ่งที่นักประวัติศาสตร์เสนอขึ้นมาเป็นงานวิจัยในวิชานี้ ก็คือผลงานการเสนอความรู้ที่ให้นักประวัติศาสตร์ด้วยกันอ่าน ซึ่งลักษณะของการพูดคุยก้นต่อเนื่องแบบนี้ก็คือว่า ต้องมีเรื่องที่พูดคุยกันมาก่อนแล้ว มีปัญหาที่สนใจร่วมกัน เช่นนักประวัติศาสตร์กลุ่มหนึ่งอาจสนใจว่า สงครามโลกครั้งที่หนึ่งเกิดขึ้นได้เพราะอะไร เรื่องนี้เป็นหัวข้อที่ซับซ้อนมากๆ เพราะมีปัจจัยมากมายหลายอย่าง นักประวัติศาสตร์คนหนึ่งอาจเสนอว่า เกิดขึ้นเพราะแนวคิดชาตินิยม เช่นที่เกิดขึ้นในคาบสมุทรบอลข่าน อีกคนอาจเสนอว่า มาจากการแข่งขันกันสะสมอาวุธ ลักษณะเช่นนี้ทำให้งานวิจัยมีความต่อเนื่อง นักประวัติศาสตร์ที่สนใจจะสานต่อการสนทนาหาความรู้ในเรื่องนี้ ก็เสนอแง่มุมใหม่ๆในการวิเคราะห์ว่าสงครามโลกครั้งที่หนึ่งเกิดขึ้นได้เพราะอะไร ซึ่งแน่นอนว่าต้องไม่เหมือนกับที่เคยมีคนพูดกันมา เพราะเรากำลังสนใจว่าการสนทนาจะต่อออกไปข้างหน้าได้อย่างไรมากกว่า

พูดในภาพรวมก็คือว่า งานวิจัยควรจะเป็นงานที่สานต่อการพูดคุยที่นักวิชาการทำร่วมกันเพื่อช่วยกันแก้ปัญหาใดปัญหาหนึ่ง ดังนั้นงานวิจัยประเภท “ทัศนคติของคนกลุ่มนี้ต่อเรื่องนี้” จึงต้องเป็นการสานต่อการพูดคุยแบบนี้ด้วย ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าการศึกษาทัศนคติทำไม่ได้ แต่หมายความว่าการศึกษานั้นจะต้องอยู่ในบริบทของการร่วมกันตอบปัญหาที่สนใจร่วมกัน ตัวอย่างเช่นนักวิชาการอาจมีความสนใจร่วมกันว่า ทัศนคติต่อการสูบบุหรี่ จะแปรผันกับปริมาณการโฆษณาของบริษัทบุหรี่อย่างไร ก็มีการศึกษาเรื่องนี้ในประเทศต่างๆ รวมทั้งในประเทศไทย แล้วก็มีการทำให้การศึกษานี้ละเอียดมากขึ้น เช่นโฆษณาแบบนี้ ก่อให้เกิดทัศนคติอย่างไร ถ้าเป็นอีกแบบ ทัศนคติจะเปลี่ยนไปอย่างไร แล้วก็มีตัวแปรทางภูมิศาสตร์เข้ามา เช่นถ้าเป็นสหรัฐ จะเป็นอย่างไร ถ้าเป็นประเทศไทยจะเป็นอย่างไร งานที่น่าสนใจจะเป็นงานที่วางตัวเองอยู่ในบริบทของการสานต่อการแก้ปัญหาร่วมกันแบบนี้ แต่ถ้าเป็นงานโดดๆ เช่นอยู่ดีๆมาบอกว่า ทัศนคติของนักเรียนที่มีต่อการสอนของพระในโรงเรียนประถมในอำเภอนั้นอำเภอนี้ มันมองไม่ออกว่ามันวางตัวแบบดังกล่าวได้อย่างไร นี่เป็นอาการที่เกิดขึ้นร่วมกันของงานวิจัยไทยส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่ต้องแก้

แล้วที่ผมบอกว่างานวิจัยที่มีคุณภาพจะต้องมีมิติของการโต้แย้ง ก็อยู่ตรงนี้ด้วย อย่างงานประวัติศาสตร์ ถ้ามีงานหนึ่งบอกว่า ที่งานก่อนหน้าบอกว่าสาเหตุหลักของการเกิดสงครามโลก ไม่น่าจะเป็นชาตินิยม แต่น่าจะเป็นการสั่งสมอาวุธมากกว่า งานจะน่าสนใจขึ้นมาทันที เพราะมีประเด็นที่มาโต้แย้งกัน เรื่องบุหรี่ก็แบบเดียวกัน เช่นอาจมีงานหนึ่งบอกว่า ทัศนคติในเชิงบวกต่อการสูบบุหรี่ มักจะมาจากการเห็นดาราที่มาเป็น presenter แต่อีกงานหนึ่งบอกว่า ไม่ใช่ แต่เป็นการสนับสนุนของบริษัทบุหรี่ต่องานแสดงต่างๆ เช่นการแข่งกีฬามากกว่า เรื่องนี้ก็จะน่าสนใจมากขึ้น และก็น่าสนใจสำหรับคนที่กำลังมองหาการสร้างทัศนคติในเชิงลบต่อการสูบบุหรี่มาแข่งขันด้วย แต่ถ้าเป็นงานโดดๆที่ทำไปเฉยๆ เพื่อบรรยายภาพนิ่งๆ โดยไม่เกี่ยวข้องอะไรกับเรื่องที่นักวิชาการพูดกันอยู่ มันก็ไม่น่าสนใจ แล้วก็เลยกลายเป็นไม่มีคุณภาพไปด้วย อย่างงานวิจัยเรื่องทัศนคติของนักเรียนที่มีต่อการสอนของพระ ถ้ามีการโต้แย้งว่า พระสอนแบบนี้ทำให้ทัศนคติของนักเรียนคือหลับทั้งห้อง ดังนั้นควรสอนอีกแบบ ขัดกับที่งานวิจัยก่อนหน้าเสนอมา หรือจะเสนอแง่มุมใหม่ที่สนับสนุนประเด็นบางประเด็นของงานวิจัยก่อนหน้าได้อย่างไร อย่างนี้จะทำให้น่าสนใจขึ้นมาทันที

ดังนั้นเวลาทำวิจัย เขาถึงแนะนำว่าต้องทำ “ทบทวนวรรณกรรม” เพราะจะได้ทำให้ผู้วิจัยรู้ว่าการสนทนาในสาขาแคบๆของตนเองเป็นอย่างไร และจะวางงานวิจัยของตนเองเข้าไปในบริบทนั้นได้อย่างไร การฝึกฝนความคิดเช่นนี้ไม่อาจทำได้ด้วยการฝึกเพียงระยะเวลาสั้นๆ แต่ต้องมาจากการศึกษาที่บ่มเพาะความสามารถและความกล้าในการตั้งคำถามและการสงสัยมาเป็นเวลานาน ดังนั้นเรื่องคุณภาพของงานวิจัยในระดับอุดมศึกษา ไม่ว่าจะเป็นของนิสิตหรือของอาจารย์ จึงผูกพันอยู่กับคุณภาพการศึกษาระดับประถมมัธยมอย่างหนีไม่พ้น

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนกับภารกิจด้านการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัย

(บทความตีพิมพ์ในสารสภาคณาจารย์ จุฬาฯ)

***

ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าประเทศไทยก็จะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งเป็นก้าวแรกของการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจ ทำให้สินค้าและบริการต่างๆสามารถเคลื่อนย้ายกันไปมาภายในประเทศต่างๆที่เป็นสมาชิกได้ง่ายขึ้น การเกิดขึ้นของประชาคมเศรษฐกิจนี้ก็นับเป็นโอกาสที่มหาวิทยาลัยต่างๆของประเทศจะได้ทบทวนบทบาทของตนเอง และคิดหามาตรการเพื่อจะให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากการเข้าไปเป็นสมาชิกประชาคมเศรษฐกิจนี้ สภาคณาจารย์ก็ได้ตระหนักถึงความสำคัญข้อนี้ และก็ได้อภิปรายและจัดโครงการต่างๆเกี่ยวกับเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของคณะกรรมการวิชาการ ก็แน่นอนว่ามีหน้าที่ในการอภิปรายค้นคว้าเกี่ยวกับบทบาทของมหาวิทยาลัยด้านการเรียนการสอนและการวิจัย อันเป็นภารกิจหลักของมหาวิทยาลัย (อย่างไรก็ตามบทความนี้จะเน้นไปที่เรื่องการเรียนการสอนเป็นหลัก ส่วนเรื่องการวิจัยจะเป็นหัวข้อในอีกบทความหนึ่งที่จะนำเสนอต่อไป)

ผลพวงที่จะเห็นได้ชัดที่สุดของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ได้แก่การเคลื่อนย้ายที่จะเกิดมากขึ้นของนิสิตนักศึกษาและครูอาจารย์ในมหาวิทยาลัยระหว่างประเทศสมาชิกต่างๆ ข้อดีของการเคลื่อนย้ายนี้มีหลายประการ ประการหนึ่งได้แก่การที่นิสิตนักศึกษาที่ย้ายไปเรียนในอีกประเทศหนึ่งนอกเหนือจากประเทศบ้านเกิด จะได้เปิดโลก พบผู้คนใหม่ๆ เรียนรู้แลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆในประเทศใหม่ การได้มีโอกาสได้เปิดโลกทัศน์เช่นนี้จะมีผลดีแก่ผู้เรียนเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะได้ใช้ภาษากลางในการสื่อสารนานาชาติเช่นภาษาอังกฤษแล้ว ยังจะได้เรียนรู้ประสบการณ์ต่างๆอีกมาก ซึ่งจะทำให้เป็นคนที่รอบรู้กว้างขวาง สัมฤทธิ์ผลในการเรียนมากขึ้น และเป็นพลเมืองของโลกที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โอกาสที่สำคัญยิ่งของการเรียนรู้คือการเปิดโลกให้กว้างขึ้น การมีโอกาสได้ไปเรียนในต่างประเทศ ถึงแม้จะเป็นประเทศเพื่อนบ้านในย่านเดียวกัน ก็เป็นโอกาสสำคัญของชีวิต นอกจากนี้ก็ยังมีข้อดีในการที่มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งเอง จะได้มีโอกาสเรียนรู้ระหว่างกัน ทำให้เกิดการเปรียบเทียบกับมหาวิทยาลัยอื่นๆในด้านการบริหารจัดการ ระเบียบวิธีปฏิบัติต่างๆ ซึ่งทำให้มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งปรับปรุงตนเองให้ดียิ่งขึ้นในการที่มหาวิทยาลัยนั้นจะปฏิบัติภารกิจเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของตนเอง ตัวอย่างเช่นหากมีโครงการความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาว อันเป็นมหาวิทยาลัยหลักของรัฐของประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นในทั้งสองมหาวิทยาลัย กล่าวคือมหาวิทยาลัยแห่งชาติลาวก็จะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการบริหารจัดการ รวมทั้งเนื้อหาวิชาการใหม่ๆจากจุฬาฯ และจุฬาฯก็จะได้เรียนรู้วิธีการที่จะช่วยเหลือมหาวิทยาลัยที่อาจจะเริ่มต้นพัฒนามาทีหลัง และที่สำคัญคือได้เรียนรู้แง่มุมใหม่ๆที่ไม่สามารถหาได้จากแหล่งอื่นๆ และการเชื่อมความสัมพันธ์ของจุฬาฯกับมหาวิทยาลัยอื่นๆในอาเซียน และภูมิภาคอื่นๆของโลกก็เป็นไปด้วยเหตุผลเดียวกัน

ฝ่ายบริหารของจุฬาฯเองก็ตระหนักถึงความสำคัญของการรวมตัวกันของภูมิภาคอาเซียนเป็นอย่างดี จึงได้จัดทำโครงการต่างๆขึ้นเพื่อเพิ่มอัตราการเคลื่อนย้ายและแลกเปลี่ยนทั้งนิสิตและคณาจารย์ระหว่างกัน โครงการหนึ่งก็คือโครงการสนับสนุนให้มีการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ โครงการนี้ฝ่ายบริหารเน้นว่าไม่ได้ซ้ำซ้อนกับการเปิดหลักสูตรนานาชาติ แต่เป็นการปรับเปลี่ยนวิธีการสอนในหลักสูตรปกติ ที่เดิมสอนเป็นภาษาไทย ให้เริ่มเปลี่ยนมาใช้ภาษาอังกฤษเป็นสื่อในการสอนมากขึ้น เราอาจจะลองมาพิจารณาโครงการนี้เป็นพิเศษในบทความนี้เพื่อดูว่าโครงการดังกล่าวมีเหตุผลเพียงพอหรือไม่ในการดำเนินงาน และหากจะดำเนินงานให้บรรลุวัตถุประสงค์จะมีปัญหาอุปสรรคอะไรบ้าง และเราจะแก้ปัญหาอุปสรรคเหล่านี้ได้อย่างไร

คงไม่มีใครปฏิเสธว่าโครงการสนับสนุนการสอนเป็นภาษาอังกฤษนี้เป็นการเตรียมตัวการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนที่เป็นรูปธรรม และชัดเจนมากที่สุดในบรรดาโครงการต่างๆที่มหาวิทยาลัยได้ริเริ่มขึ้น อย่างไรก็ตามมหาวิทยาลัยก็ได้พยายามชักชวนหรือผลักดันให้มีการสอนเป็นภาษาอังกฤษในหลักสูตรปกติมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ก็ดูเหมือนจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เมื่อสี่ห้าปีก่อนเคยมีโครงการขอรับทุนสนับสนุนการสอนรายวิชาปกติเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งเท่าที่ทราบมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้ประกาศผลสำเร็จหรือล้มเหลวของโครงการนี้ให้ประชาคมรับทราบ ก็อาจจะหมายความว่าความตั้งใจของมหาวิทยาลัยที่จะเห็นรายวิชาในหลักสูตรปกติ (ไม่ใช่นานาชาติ) มีการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษนั้น ไม่เกิดขึ้นตามที่ตั้งใจ ในคราวนี้มหาวิทยาลัยก็เสนอโครงการที่มีขอบข่ายกว้างขวางขึ้น คือให้มีการเปิดหลักสูตรเป็นแบบ “สองภาษา” หรือ bilingual program ซึ่งหากปัจจัยต่างๆที่เกิดขึ้นที่ทำให้โครงการก่อนหน้า (โครงการสนับสนุนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ) ล้มเหลวยังคงมีอยู่ ก็คาดคะเนได้เลยว่าโครงการหลักสูตรสองภาษานี้ก็จะล้มเหลวเช่นเดิมอีก ดังนั้นเราจึงน่าจะวิเคราะห์ว่าเหตุใดความพยายามของมหาวิทยาลัยในการโน้มน้าวให้อาจารย์หันมาสอนเป็นภาษาอังกฤษ จึงไม่ประสบความสำเร็จ มีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้โครงการก่อนหน้าล้มเหลว และเราจะป้องกันไม่ให้ปัจจัยเหล่านี้เกิดขึ้นอีกได้อย่างไร เพื่อไม่ให้โครงการปัจจุบันของมหาวิทยาลัยต้องล้มเหลวอีก

เราอาจตัดปัจจัยบางประการออกไปได้เลยตั้งแต่ต้น เราเชื่อมั่นว่าอาจารย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเกือบทั้งหมดมีความสามารถในการสอนเป็นภาษาอังกฤษได้ ข้อยกเว้นอาจจะมีในกรณีของอาจารย์ที่สอนวิชาพิเศษมากๆ เช่นศิลปะไทย ซึ่งต้องอาศัยอาจารย์ที่มี “ความเป็นไทย” สูงมากๆจนไม่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ แต่การที่คณะต่างๆเปิดหลักสูตรนานาชาติกันเป็นจำนวนมาก เป็นหลักประกันที่เด่นชัดว่าอาจารย์จุฬาฯส่วนใหญ่มีความสามารถพอที่จะสอนเป็นภาษาอังกฤษ นอกจากนี้อาจารย์จุฬาฯส่วนใหญ่ก็จบการศึกษามาจากต่างประเทศ ทำให้มีความสามารถในด้านภาษาอังกฤษสูงเป็นทุนอยู่แล้ว นอกจากนี้ก็ยังอ้างไม่ได้ว่าสาขาวิชาทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ไม่สามารถสอนเป็นภาษาอังกฤษได้ เพราะคณะวิศวกรรมศาสตร์ก็มีหลักสูตรนานาชาติที่ประสบความสำเร็จค่อนข้างมาก มีนิสิตจากหลายชาติมาเรียน คณะวิทยาศาสตร์กำลังเดินหน้าจัดสำนักงานนานาชาติกับมหาวิทยาลัยในประเทศอินโดนีเซีย และโครงการแบบเดียวกันก็กำลังจะเกิดขึ้นในคณะทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีอื่นๆอีก ดังนั้นข้ออ้างที่ว่าวิชาด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีไม่เหมาะแก่การสอนเป็นภาษาอังกฤษก็ต้องตกไป

ในเมื่ออาจารย์มีความสามารถ และเนื้อหาของวิชาการก็ไม่เป็นอุปสรรคให้สอนเป็นภาษาอังกฤษไม่ได้ เหตุผลที่ทำให้การผลักดันเรื่องนี้ก็น่าจะอยู่ที่อาจารย์กับนิสิตเป็นหลัก หากจะผลักดันให้หลักสูตรสองภาษาประสบความสำเร็จ มหาวิทยาลัยคงจะต้องเพิ่มปริมาณนิสิตที่พูดภาษาไทยไม่ได้ในหลักสูตรเหล่านี้ให้มากเพียงพอ ที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องจากว่า ภาษาเป็นเครื่องมือของการสื่อสาร หากผู้พูดมีความสามารถในการพูดภาษาต่างประเทศ แต่ผู้ฟังไม่มีใครที่ทำให้จำเป็นต้องพูด (คือเป็นคนไทยด้วยกันหมดทั้งชั้น) ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องพูดเป็นภาษาต่างประเทศ สาเหตุที่หลักสูตรนานาชาติทำเช่นนี้ได้ก็เพราะว่ามีแรงจูงใจเรื่องค่าสอนมากำกับ (แต่ก็ได้ยินมาว่ามีการสอนหลายๆครั้งในหลักสูตรนานาชาติที่ผู้สอน “ลักไก่” สอนเป็นภาษาไทยเพราะเห็นว่าผู้เรียนมีแต่คนไทยด้วยกันหมด) แต่หากเป็นหลักสูตรปกติที่ไม่มีแรงจูงใจเป็นพิเศษตรงนี้ ก็ยากที่จะมองเห็นภาพว่าการสอนแบบ “สองภาษา” ที่มหาวิทยาลัยวาดเอาไว้จะเกิดขึ้นจริง หากมีนิสิตที่พูดฟังภาษาไทยไม่ได้ ก็เป็นธรรมดาอยู่เองที่อาจารย์ที่มีความรับผิดชอบต่อความรู้ของนิสิต จะต้องขวนขวายเสนอเนื้อหาให้แก่นิสิตด้วยภาษาที่นิสิตฟังรู้เรื่อง

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มปริมาณนิสิตต่างชาติในมหาวิทยาลัยอย่างฉับพลันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เรากำลังประสบกับปัญหา “ไก่กับไข่ใครเกิดก่อนกัน” กล่าวคือนิสิตต่างชาติจะเลือกมาเรียนที่จุฬาฯมากขึ้น หากมีการสอนเป็นภาษาอังกฤษมากขึ้น แต่การสอนเป็นภาษาอังกฤษจะมากขึ้นได้ ก็ดูเหมือนว่าต้องอาศัยนิสิตต่างชาติมาเป็นตัวกระตุ้นให้อาจารย์ยอมสอนเป็นภาษาอังกฤษ ทางออกทางหนึ่งก็คือว่า เพิ่มแรงจูงใจให้แก่อาจารย์ในการสอนเป็นภาษาอังกฤษให้เหมือนกับหลักสูตรนานาชาติ (โดยบริหารจัดการให้การ “ลักไก่” มีน้อยลงจนหมดไปในที่สุด) เพื่อดึงดูดนิสิตต่างชาติ พูดง่ายๆคือเพิ่มค่าสอนให้แก่อาจารย์มากขึ้นหลายเท่าตัว เพื่อแลกกับการสอนเป็นภาษาอังกฤษ แต่การทำเช่นนี้จะทำให้ความแตกต่างระหว่างหลักสูตรปกติกับหลักสูตรนานาชาติหมดไป นิสิตที่เรียนหลักสูตรนานาชาติก็จะประท้วงได้ว่า เหตุใดพวกเขาจึงต้องจ่ายค่าเรียนแพงมากๆ ในขณะที่นิสิตที่เรียนหลักสูตรปกติก็ได้เรียนเป็นภาษาอังกฤษแบบเดียวกัน วิธีแก้ก็คือเราต้องยอมรับในท้ายที่สุดว่าเราจะต้องลบความแตกต่างระหว่างหลักสูตรปกติกับหลักสูตรนานาชาติให้หมดไป หลักสูตรนานาชาติเกิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการร่วมกันระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน คือผู้สอนก็จะได้รายได้มากขึ้นเพื่อมาเลี้ยงครอบครัว ส่วนผู้เรียนก็ได้เรียนหลักสูตรที่เป็นภาษาอังกฤษ ทำให้เหมือนกับไปเรียนต่างประเทศ โดยที่ตัวเองยังอยู่ในประเทศไทย ในอีกทางหนึ่งหลักสูตร “สองภาษา” ที่มหาวิทยาลัยเสนอก็เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองความจำเป็นอันเนื่องมาจากประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และความจำเป็นเกี่ยวกับการเข้าสู่กระแสโลกาภิวัตน์ของมหาวิทยาลัยเอง (ซึ่งมีผลโดยตรงต่อการยอมรับจากนานาชาติและการจัดอันดับมหาวิทยาลัยระดับโลก) เมื่อเป็นเช่นนี้ ในท้ายที่สุดแล้ว หลักสูตรนานาชาติกับหลักสูตรปกติก็จะกลืนเข้าหากัน เพราะเหตุผลในการดำรงอยู่ของหลักสูตรทั้งสองประเภทเริ่มกลืนเข้าเป็นเหตุผลเดียวกัน (โลกาภิวัตน์ การสร้างมหาวิทยาลัยแบบต่างประเทศขึ้นในประเทศไทย) เมื่อเป็นเช่นนี้ในท้ายที่สุดเราอาจจะเรียกหลักสูตรทุกหลักสูตรในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ว่า “หลักสูตรนานาชาติ” หรือจะเรียกว่า “หลักสูตรปกติ” ก็ได้ เพราะหลักสูตรปกติได้กลายเป็นนานาชาติ และหลักสูตรนานาชาติได้กลายเป็นหลักสูตรปกติไปหมดแล้ว

ปัญหาที่มหาวิทยาลัยต้องบริหารจัดการ และต้องเริ่มคิดโดยด่วนเพื่อเตรียมการสำหรับอนาคตก็คือว่า เราจะบริหารจัดการเรื่องค่าเล่าเรียนของหลักสูตรสองแบบที่จะกลืนเข้าหากันนี้อย่างไร ทางออกหนึ่งก็คือใช้วิธีคิดแบบหลักสูตรนานาชาติปัจจุบันกับหลักสูตรที่เหลือทั้งหมดในมหาวิทยาลัย กล่าวคือคำนวณต้นทุนที่แท้จริง แล้วก็คิดค่าเล่าเรียนไปตามนั้น แต่หากจะมีประเด็นทางการเมืองเกิดขึ้นเนื่องจากค่าเล่าเรียนในทุกหลักสูตรจะเพิ่มสูงขึ้นเท่ากับหลักสูตรนานาชาติทั้งหมด ก็มีวิธีคิดอีกแบบหนึ่งคือรัฐบาลยังจะสนับสนุนค่าเล่าเรียนของนิสิตอยู่ แม้หลักสูตรจะเปลี่ยนไปเป็นหลักสูตรนานาชาติทั้งหมดก็ตาม ซึ่งจะหมายความว่ารัฐบาลจะต้องรับภาระมากขึ้นอีกมาก ก็เป็นเรื่องทางนโยบายที่รัฐบาลจะต้องตัดสินใจ หรือไม่เช่นนั้นมหาวิทยาลัยก็จะต้องบริหารจัดการทรัพย์สินของตนเองให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อนำรายได้มาช่วยเหลือค่าเล่าเรียนที่จะเพิ่มขึ้นมาก อย่างไรก็ตามแนวทางที่ดูจะเป็นไปได้มากที่สุด คือการขึ้นค่าเล่าเรียนเพื่อให้สะท้อนสภาพความเป็นจริงว่าหลักสูตรปกติกับหลักสูตรนานาชาติได้กลืนเข้าหากันแล้ว และมหาวิทยาลัยจำเป็นต้องสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนว่า แม้ว่าจะมีนโยบายค่าเล่าเรียนแบบนี้ก็ตาม แต่นิสิตคนใดที่ไม่สามารถจะจ่ายค่าเล่าเรียน แต่มีความสามารถพอที่จะเรียน ก็จะต้องมีโอกาสได้เรียนเสมอ ไม่มีข้อยกเว้น

กล่าวโดยสรุป มหาวิทยาลัยกำลังได้รับแรงผลักดันมาจากสถานการณ์โลกที่ปรากฏตัวออกมาในรูปของการสร้างประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ที่ทำให้ต้องมาคิดกันใหม่เกียวกับการบริหารหลักสูตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการหลักสูตรเพื่อให้ดึงดูดนิสิตชาวต่างประเทศที่จะมาเรียนในมหาวิทยาลัย เราเห็นว่าการดึงดูดนิสิตต่างประเทศเช่นนี้ เป็นสิ่งดีอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้นิสิตคนไทยของเราเองได้มีโอกาสเปิดหูเปิดตา มีเพื่อนชาวต่างประเทศ ได้เปิดโลกทัศน์กว้างขวางขึ้น อันเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการเป็นพลเมืองของโลกสมัยใหม่ที่ไม่มีการปิดกั้นพรมแดนระหว่างชาติอีกต่อไป การบริหารจัดการหลักสูตรนี้มหาวิทยาลัยได้เริ่มขึ้นบ้างแล้วด้วยโครงการหลักสูตรสองภาษา (bilingual program) แต่จากการวิเคราะห์พบว่า การดำเนินงานโครงการนี้จะไม่บรรลุผลหากอาจารย์ส่วนใหญ่ไม่ให้ความร่วมมือสอนเป็นภาษาอังกฤษ วิธีที่จะให้อาจารย์ร่วมมือได้ในท้ายที่สุดก็คือ ยุบความแตกต่างระหว่างหลักสูตรปกติกับหลักสูตรนานาชาติให้หมดไป อาจารย์จะได้รับแรงจูงใจเป็นค่าสอนและการยอมรับในระดับนานาชาติเพิ่มมากขึ้น และโจทย์ต่อไปของมหาวิทยาลัยก็คือจะบริหารจัดการเรื่องค่าเล่าเรียนอย่างไร ซึ่งบทความก็ได้เสนอทางออกไว้ให้แล้ว

หวังว่าแนวทางนี้น่าจะเป็นแนวทางหนึ่ง ที่จะช่วยให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยบรรลุวัตถุประสงค์ในการเป็น “เสาหลัก” ของแผ่นดินในภารกิจหลักคือการสอนนิสิต ซึ่งนอกจากจะให้นิสิตมีความรู้ความสามารถในด้านสาขาวิชาที่ตนเลือกเรียนแล้ว ยังจะเป็นการเตรียมนิสิตให้เป็น “พลเมืองโลก” ที่มีประสิทธิภาพ พร้อมที่จะนำพาประเทศไปสู่ความเจริญก้าวหน้ายิ่งๆขึ้นไปได้อย่างเต็มที่

โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์
คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ

ปรับเปลี่ยนโครงสร้างมหาวิทยาลัย

การปรับเปลี่ยนโครงสร้างของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อเพิ่มบทบาทนำในการแก้ไขความขัดแย้งในสังคมในปัจจุบันและอนาคต

โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์

ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์

ทุกคนทราบดีว่าสังคมไทยในปัจจุบันกำลังเต็มไปด้วยความขัดแย้งในด้านต่างๆ ทั้งทางด้านการเมือง สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม ศาสนา และอื่นๆอีกมาก จนอาจกล่าวได้ว่าแทบไม่มีส่วนใดเลยของสังคมไทยที่ปลอดจากความขัดแย้ง ความขัดแย้งนี้มีรากฐานที่มาจากการเปลี่ยนแปลงของสังคมอย่างขนานใหญ่ อันเป็นผลจากแนวนโยบายภาครัฐที่มุ่งลดช่องว่างระหว่างคนในเมืองกับคนชนบท รวมถึงการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการผูกพันระบบเศรษฐกิจของประเทศให้เข้ากับระบบโลกาภิวัตน์ ผลของการเปลี่ยนแปลงนี้ก็คือคนในชนบทเริ่มมีรายได้ มีสถานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น ชาวไร่ชาวนาที่เคยมองกันว่าเป็น “กระดูกสันหลังของชาติ” ซึ่งหมายถึงผู้ที่ใช้ชีวิตทั้งหมดอยู่กับท้องไร่ท้องนาและไม่มีโอกาสอย่างอื่นในชีวิต ก็กำลังกลายเป็น “ผู้ประกอบการเกษตร” ซึ่งมีการศึกษามากขึ้น รับรู้ข่าวสารบ้านเมืองมากขึ้น รู้จักใช้เทคโนโลยีใหม่ๆเช่นเทคโนโลยีสารสนเทศ มีลูกหลานไปเรียนในเมือง กลายเป็นคนเมือง และตนเองก็ใช้ชีวิตอยู่ในสองโลกคือทั้งในชนบทกับในเมือง และที่น่าสนใจมากคือมีความตื่นตัวทางการเมือง รู้จักเรียกร้องสิทธิอันควรได้ของตนเอง การเปลี่ยนแปลงนี้กินรวมไปถึงทุกส่วนของสังคม และเราก็อาจเข้าใจการเปลี่ยนแปลงนี้ได้โดยการมองว่าสังคมไทยกำลังเปลี่ยนจากการเป็น “สังคมแนวตั้ง” (vertical society) อันประกอบด้วยระบบชนชั้น ผู้คนที่แบ่งตัวเองออกตามระดับชั้นสูงต่ำ ดังที่คนไทยรู้จักกันดี มาเป็น “สังคมแนวนอน” (horizontal society) ซึ่งไม่มีการแบ่งตัวเองตามระดับสูงต่ำ แต่มีจิตสำนึกว่าทุกคนมีสถานะทางสังคมเท่ากันในฐานะพลเมืองของประเทศ

การเปลี่ยนแปลงนี้กินเวลายาวนาน เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับรากลึกที่สุดของประเทศ เพียงแต่ว่าเกิดขึ้นในประเทศไทยช้ากว่าที่อื่นๆในโลก และการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นธรรมอยู่เองที่จะประสบกับแรงต้านมาก การปะทะกันระหว่างพลังที่มุ่งเปลี่ยนแปลงไปข้างหน้า กับพลังที่มุ่งรักษาสถานภาพเดิมของสังคมเอาไว้ ในท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอันเชี่ยวกรากรุนแรงนี้ เป็นที่น่าสนใจยิ่งว่าบทบาทของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยควรจะเป็นอย่างไร บทความนี้ก็จะมุ่งตอบคำถามนี้ และเสนอว่ามหาวิทยาลัยต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรรวมทั้งวัฒนธรรมองค์กรอย่างขนานใหญ่ เพื่อให้สามารถรักษาความเป็นผู้นำและคงภารกิจของการเป็นผู้ชี้ทางออกให้แก่สังคมได้ในท่ามกลางภาวะการเปลี่ยนผ่านและเปลี่ยนแปลงอันรุนแรงนี้

ด้วยเหตุนี้ภารกิจที่มหาวิทยาลัยต้องทำ คือทำความเข้าใจกระบวนการเปลี่ยนแปลงของสังคมรวมทั้งความขัดแย้งที่เกิดขึ้นตามมาอย่างละเอียด เป็นระบบ และเป็นไปตามหลักวิชาการ เพื่อให้สามารถอธิบายสาเหตุความเป็นมา ที่มาที่ไปของการเปลี่ยนแปลงและความขัดแย้ง ตลอดจนบรรยายสภาพลักษณะของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกต้องและเป็นกลาง ภารกิจนี้แตกตัวออกได้เป็นการเรียนการสอนหรือการจัดหลักสูตรกับการวิจัย ซึ่งควรจะไปด้วยกัน ภารกิจนี้เป็นภารกิจที่สำคัญที่สุด และนอกจากมหาวิทยาลัยแล้วก็ยากที่จะมีองค์กรหรือสถาบันอื่นมาทำหน้าที่ตรงนี้ได้ จริงอยู่ประเทศไทยมีสถาบันวิจัยอิสระ เช่นสถาบันพระปกเกล้า หรือสถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย แต่สถาบันเหล่านี้ขาดปัจจัยหลักที่มีแต่ในมหาวิทยาลัย คือบรรยากาศความเป็นชุมชนทางวิชาการ อันประกอบด้วยการเรียนการสอนที่ทำให้นิสิตกับอาจารย์มาอยู่ด้วยกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และอีกประการหนึ่งพลังการสร้างสรรค์ความรู้ความเข้าใจจะมีในมหาวิทยาลัยมากกว่าในสถาบันวิจัยอิสระ เนื่องจากมีคณาจารย์จำนวนมากกว่าจากหลากหลายสาขาวิชา ซึ่งหากบริหารจัดการอย่างถูกต้องแล้วสามารถเป็นพลังในการแก้ปัญหาให้แก่สังคมได้อย่างมหาศาล การมีนิสิต การมีภารกิจในการเรียนการสอน กับการมีคณาจารย์หลากหลายสาขาวิชานี้เองที่เป็นจุดแข็งของมหาวิทยาลัยในการสร้างความรู้เพื่อแก้ปัญหาให้แก่สังคมได้ดีกว่าสถาบันวิจัยอิสระ

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้ภารกิจในด้านการวิจัยหรือสร้างความรู้ตรงนี้เป็นไปได้จริง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยต้องปรับเปลี่ยนโครงสร้างหน่วยงานและการบริหารจัดการด้านต่างๆโดยเฉพาะบุคคลกับวิชาการอย่างขนานใหญ่ ปัญหาสำคัญที่สุดของมหาวิทยาลัยในขณะนี้คือ มีการแบ่งออกเป็นส่วนงานต่างๆมากเกินไป ซึ่งอาจมีที่มาจากประวัติศาสตร์ที่เกิดจากการที่ต่างคนก็อยากมีหน่วยงานเป็นของตนเอง และวัฒนธรรมโบราณที่ฝังรากกันมาว่าเมื่อเกิดหน่วยงานขึ้นมาแล้วไม่สามารถยุบหรือเปลี่ยนแปลงใดๆได้ แต่ปัญหาของโลกกับของประเทศนั้น ไม่ได้แบ่งตัวเองออกเป็นคณะต่างๆตามที่มหาวิทยาลัยได้แบ่งตัวเองอยู่ ปัญหาเช่นความขัดแย้งระหว่างพลังอนุรักษ์นิยมที่ไม่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง กับพลังที่มุ่งสร้างความเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่เรื่องของคณะใด หรือสถาบันใดโดยเฉพาะ เพราะเนื้อหาของความขัดแย้งเหล่านี้กินตัวไปในทุกๆส่วนของสังคมดังที่ได้กล่าวไปแล้ว หากมีการศึกษาความขัดแย้งเดียวกันนี้แยกไปตามคณะต่างๆ สิ่งที่เกิดขึ้นก็จะเป็นไปตามกรอบการมองของคณะเหล่านั้น แยกๆกันไป ทำให้พลังของมหาวิทยาลัยที่กล่าวถึงข้างต้นไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง เพราะไปแบ่งกันเองออกเป็นเรื่องของคณะหรือสถาบันต่างๆจนหมดแล้ว สิ่งที่มหาวิทยาลัยต้องทำคือรวมพลังทั้งมหาวิทยาลัยเพื่อให้เกิดการร่วมมือของสาขาวิชาการทั้งหมดเพื่อมุ่งแก้ปัญหาให้แก่สังคมโดยไม่มีการคำนึงว่านี่เป็นเรื่องของสาขาวิชานั้นสาขาวิชานี้ เนื่องจากปัญหาที่เกิดขึ้นไม่เคยปรากฏตัวออกมาให้เป็นเรื่องของคณะใดคณะหนึ่งโดยเฉพาะ

ตัวอย่างของความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นได้แก่เรื่องการใช้อินเทอร์เน็ตและเว็บไซต์ประเภทเครือข่ายทางสังคมเช่นเฟสบุ๊คหรือทวิตเตอร์ ในปัจจุบันแทบจะไม่มีใครไม่เคยได้ยินเรื่องเหล่านี้ และในสื่อมวลชนแขนงต่างๆก็มีการพูดถึงเรื่องเฟสบุ๊คกับทวิตเตอร์กันมากมาย ซึ่งแสดงว่าเว็บเครือข่ายทางสังคมเหล่านี้มีบทบาทและอิทธิพลสูงมากในสังคมปัจจุบัน จุดสำคัญก็คือว่าความขัดแย้งที่กำลังพูดถึงอยู่ในบทความนี้ก็ปรากฏตัวอยู่บนเฟสบุ๊คกับทวิตเตอร์อย่างชัดเจน จนอาจกล่าวได้ว่าเว็บเหล่านี้อยู่ ณ จุดศูนย์กลางของความขัดแย้งทางการเมือง สังคม วัฒนธรรม ฯลฯ ที่ปรากฏตัวอยู่ในสังคมไทยเวลานี้ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเป็นหน้าที่ของมหาวิทยาลัยที่จะต้องศึกษาวิจัยและพัฒนาหลักสูตรเพื่อให้ตอบสนองความต้องการของสังคมที่อยากได้คำตอบเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ โจทย์วิจัยที่เกิดขึ้นจากการใช้เว็บเครือข่ายทางสังคมก็มีเช่น เราจะหาสมดุลได้อย่างไรระหว่างระบบคุณค่าแบบเก่าที่ยังมีบางส่วนของสังคมไทยยึดถือและไม่อยากให้เปลี่ยนแปลงไป กับแรงผลักดันของคนรุ่นใหม่ที่อยากเห็นสังคมไทยมุ่งไปอีกแนวทางหนึ่ง ซึ่งสองระบบนี้ขัดแย้งฟาดฟันกันอยู่ตลอดเวลาในหน้าของเฟสบุ๊คและทวิตเตอร์? ความข้ดแย้งและความรุนแรง รวมทั้งการใช้กฎหมายที่มีหลายฝ่ายอ้างว่าไม่เป็นธรรมมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ก็เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งนี้ด้วย ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยต้องรีบศึกษาวิจัยและการจัดหลักสูตร เพื่อหารากฐานหรือสมุหฐานของความขัดแย้งนี้ และเสนอทางออกให้แก่สังคมเพื่อให้เกิดการอภิปรายไตร่ตรองโดยพลเมืองที่ต่างมุ่งแสวงหาทางออกร่วมกัน อันเป็นส่วนประกอบสำคัญของระบอบประชาธิปไตย แต่น่าเสียดายว่าภายใต้โครงสร้างส่วนงานของมหาวิทยาลัยที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน การแก้ปัญหาและการเสนอทางออกดังกล่าวนี้อย่างมีพลังร่วมกันเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย

หากเราพิจารณาสภาพปัจจุบันของการศึกษาด้านอินเทอร์เน็ตในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะพบว่ามีหลายคณะที่ทำเรื่องนี้อยู่ เริ่มตั้งแต่ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งมีอาจารย์ที่ศึกษาเรื่องระบบเครือข่ายรวมทั้งประเด็นทางสังคมของอินเทอร์เน็ตด้วย นอกจากนี้ก็มีภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ ซึ่งศึกษาเรื่องเดียวกัน การอ้างว่าภาคหนึ่งศึกษาเรื่องฮาร์ดแวร์ อีกภาคศึกษาเรื่องซอฟท์แวร์ไม่เป็นความจริงอีกแล้ว เพราะเทคโนโลยีปัจจุบันไม่สามารถแยกทั้งสองออกจากกันได้อย่างเด็ดขาด (เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ของมหาวิทยาลัยมานานแต่ไม่มีใครพูด เพราะสภาพที่เป็นอยู่เท่ากับมีหลักสูตรวิชาเดียวกันคือ computer science อยู่ในสองคณะ เช่นเดียวกับที่มีหลักสูตรบริหารธุรกิจ MBA อยู่ทั้งที่คณะบัญชีฯกับสถาบันศศินทร์ ทำให้สิ้นเปลืองทรัพยากร เกิดความซ้ำซ้อนกัน ฯลฯ เป็นอันมาก) แต่ก็ไม่ใช่เพียงแค่สองภาควิชานี้ที่ศึกษาเรื่องอินเทอร์เน็ต ยังมีคณะนิเทศศาสตร์ที่มองอินเทอร์เน็ตว่าเป็น “สื่อ” เลยเหมาว่าอินเทอร์เน็ตอยู่ในขอบข่ายของนิเทศศาสตร์เพื่ออ้างตัวเป็นเจ้าของ และก็ยังมีภาควิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ ที่มองอินเทอร์เน็ตว่าเป็นส่วนหนึ่งของระบบเทคโนโลยีในการบริหารจัดการองค์กร ซึ่งก็ตีความได้กว้างจนการศึกษาของสองหน่วยงานนี้คาบเกี่ยวเหลื่อมซ้อนกันเสมอๆ นอกจากนี้ก็มีภาควิชาภาษาไทยกับภาษาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ ที่มองอินเทอร์เน็ตว่าเป็นสื่อที่มีการใช้ภาษา และมุ่งศึกษาภาษาที่ใช้ในนั้น ซึ่งเมื่อวิเคราะห์ภาษาก็จำเป็นต้องวิเคราะห์ความหมายและอุดมการณ์เบื้องหลังของภาษาไปด้วย ซึ่งก็ทำให้เหลื่อมทับกับการศึกษาของคณะอื่นๆเช่นนิเทศศาสตร์หรือรัฐศาสตร์หรือสังคมวิทยา ยิ่งไปกว่านั้นคณะที่ดูเหมือนจะไม่เกี่ยวข้องจริงๆแล้วก็ยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์อินเทอร์เน็ต เช่นคณะพยาบาลศาสตร์ ซึ่งมีรายวิชาเกี่ยวกับสารสนเทศเพื่อบริหารการพยาบาล จะเห็นได้ว่าปรากฏการณ์อินเทอร์เน็ตไม่ได้แบ่งตัวเองออกเป็นคณะๆแบบที่มหาวิทยาลัยทำ แต่เป็นมหาวิทยาลัยเองที่แบ่งหน่วยงานของตัวเองออกเป็นส่วนๆ ทำให้ไม่สามารถมองเห็นภาพรวมได้

ข้อเสียของการแบ่งออกเป็นหลายๆคณะก็คือทำให้โอกาสที่อาจารย์จะทำงานข้ามคณะของตัวเองเป็นไปได้ยากมาก ที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือแต่ละคณะมีวัฒนธรรมองค์กรของตนเอง มีความรู้สึกเป็น “อัตลักษณ์” ของตนเองสูง จนหลายครั้งสูงกว่าอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเสียอีก (สังเกตได้จากท่าทีของนิสิตทั่วไปที่รู้สึกผูกพันกับคณะของตัวเองมากกว่าผูกพันกับมหาวิทยาลัย นิสิตจะมองตัวเองว่าเป็น “เด็กอักษร” หรือ “เด็กนิเทศ” ก่อน “เด็กจุฬา” ซึ่งเป็นเรื่องแปลกประหลาด เพราะมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วไปไม่มีแบบนี้ นักศึกษาของ Harvard ในสหรัฐอาจมีความภูมิใจที่ได้เรียนที่สถาบันนี้ แต่ไม่มีใครมองตัวเองว่าเป็น “เด็กอักษร” หรือ “เด็กนิเทศ” เพราะทุกคนมองตัวเองว่าเป็น Harvard student เท่านั้น) ทางแก้เรื่องนี้เป็นเรื่องจำเป็นรีบด่วน สิ่งแรกที่มหาวิทยาลัยควรทำคือแยกเอาหลักสูตรที่มีสภาวิชาชีพบังคับอยู่ออกจากหลักสูตรที่ไม่มี เหตุผลก็คือว่าการปรับเปลี่ยนหลักสูตรที่มีสภาวิชาชีพทำได้ยากกว่าเนื่องจากต้องได้รับการเห็นชอบจากสภาวิชาชีพด้วย (อันที่จริงการปรับเปลี่ยนหลักสูตรวิชาชีพแบบนี้ก็สำคัญไม่แพ้กัน แต่ไม่มีเนื้อที่เหลือพอที่จะอภิปรายถึงประเด็นนี้ในที่นี้) ในมหาวิทยาลัยหลักสูตรระดับปริญญาตรีที่ไม่มีสภาวิชาชีพ ก็ได้แก่หลักสูตรในคณะอักษรศาสตร์ วิทยาศาสตร์ รัฐศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ จิตวิทยา และเศรษฐศาสตร์ ลักษณะร่วมกันของวิชาการในคณะเหล่านี้คือเป็นวิชาการที่มุ่งเรียนเพื่อรู้เป็นหลัก ไม่ใช่เรียนเพื่อไปเป็นสถาปนิก หรือวิศวกร หรือสัตวแพทย์ หรือผู้พิพากษา (ซึ่งแต่ละวิชาชีพมีสภาของตัวเอง) และวิชาการของคณะเหล่านี้ก็รวมเอาวิชาการหลักๆในสาขาวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์เข้าไว้ด้วยกัน ประเด็นก็คือว่าแทนที่มหาวิทยาลัยจะแบ่งส่วนงานออกเป็นคณะต่างๆเหล่านี้ ก็ควรจะรวมส่วนงานเหล่านี้เข้าด้วยกัน เพื่อให้การจัดหลักสูตรที่มีการผสมผสานข้ามสาขาวิชาเป็นไปได้ เนื่องจากปัญหาของโลกไม่ได้แบ่งตัวเองออกตามคณะหรือตามสาขาวิชา (discipline) การจัดหลักสูตรแบบนี้จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่มหาวิทยาลัยควรต้องรีบจัดการเพื่อรองรับต่อการเปลี่ยนแปลงไม่เพียงแต่ภายในประเทศไทย แต่ยังเป็นการเปลี่ยนแปลงของโลกอีกด้วย การรวมคณะเหล่านี้เข้าด้วยกันก็มีเป้าหมายอีกประการหนึ่งคือทำลายความรู้สึกยกย่องอัตลักษณ์ของแต่ละคณะ เพราะนิสิตทุกคนควรจะผูกพันกับมหาวิทยาลัย สำนึกตนเองว่าเป็น “นิสิตจุฬา” ไม่ใช่นิสิตคณะใดคณะหนึ่งเท่านั้น

ข้อดีประการหนึ่งของการปรับโครงสร้างส่วนงานแบบนี้ก็คือ การเรียนสาขาวิชาที่เคยต้อง “ข้ามคณะ” สามารถทำได้โดยง่าย ตัวอย่างเช่นนิสิตคนหนึ่งอาจจะเอกชีววิทยา และเรียนวรรณคดีเป็นวิชาโท จุดเชื่อมของสองวิชานี้ก็คือว่า ทรรศนะของชาร์ลส์ ดาร์วินเกี่ยวกับวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตมีปรากฏอยู่เป็นอันมากในงานวรรณกรรมต่างๆ นิสิตก็จะเข้าใจชีววิทยาไม่เพียงแต่ในมิติของวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ยังเข้าใจมิติของวิทยาศาสตร์ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและงานศิลปะอีกด้วย หรือนิสิตอีกคนหนึ่งอาจเอาจิตวิทยาและเรียนสรีรวิทยาเป็นวิชาโท ซึ่งสองวิชานี้ก็เกี่ยวข้องเป็นอย่างมากในด้านพื้นฐานทางสรีรวิทยาของจิตใจ หรืออีกคนหนึ่งอาจเอกดนตรีและโทคอมพิวเตอร์ ซึ่งก็ทำให้สามารถใช้เทคนิคของการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์สร้างสรรค์งานดนตรีใหม่ๆได้ การจะทำเช่นนี้ได้ต้องออกแบบหลักสูตรปริญญาตรีใหม่ โดยทิ้งความยึดติดเดิมๆกับหลักสูตรของคณะที่ตนเองเคยสังกัดอยู่ และออกแบบหลักสูตรใหม่โดยมุ่งที่ความเป็นไปได้เหล่านี้เป็นเป้าหมาย

ในกรณีของอินเทอร์เน็ต นิสิตอาจเลือกภาษาศาสตร์หรือภาษาไทยเป็นวิชาเอก และมีความสนใจเป็นพิเศษเกี่ยวกับการใช้ภาษาและวาทกรรมบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งความขัดแย้งนี้ก็ปรากฏอยู่ในการใช้ภาษาด้วย และเลือกการเมืองการปกครองเป็นวิชาโท เนื่องจากความขัดแย้งทางวาทกรรมมีที่มาจากการเมืองเป็นสำคัญ ส่วนการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา เป้าหมายไม่ได้มุ่งให้นิสิตมีความรู้รอบตอบสนองสังคมได้ทันท่วงทีแต่เพียงอย่างเดียว แต่มุ่งผลิตให้นิสิตบัณฑิตเป็น “มืออาชีพ” (professional) ในด้านของตนเองด้วย ซึ่งในกรณีของส่วนงานที่เน้นวิชาการบริสุทธิ์ที่กล่าวถึงนี้ก็คือผู้ที่มีความสามารถสร้างความรู้ใหม่ให้แก่สังคมได้ การยุบคณะตามที่เสนอมานี้จะทำให้การถ่ายเทอาจารย์ข้ามสาขาวิชาเป็นไปได้ง่ายขึ้น และควรมีข้อบังคับว่ากรรมการสอบวิทยานิพนธ์จะต้องมีอย่างน้อยหนึ่งคนที่ไม่ได้มาจากสาขาวิชาหลักที่นิสิตทำอยู่ เช่นนิสิตทำวิทยานิพนธ์ในสาขาจุลชีววิทยา ก็จะต้องมีกรรมการสอบอย่างน้อยหนึ่งคนที่มาจากสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง เช่นชีวเคมีมาร่วมสอบด้วย ทั้งนี้เพื่อให้มุมมองที่เป็นประโยชน์ที่ไม่สามารถหาได้จากการหมกมุ่นอยู่แต่สาขาวิชาแคบๆของตนเองเท่านั้น นอกจากนี้หลักสูตรปริญญาโทและเอกก็ควรมีข้อบังคับว่านิสิตต้องเรียนรายวิชาในสาขาวิชาอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย

ข้อเสนอในการปรับโครงสร้างของมหาวิทยาลัยตามที่เสนอมานี้ อาจดูทำได้ยาก แต่ที่เป็นเช่นนั้นก็เป็นเพียงเพราะว่าเรายังยึดติดอยู่กับวิธีคิดแบบเก่าๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความหลังฝังใจว่าเราผูกพันอยู่กับคณะ ฯลฯ แต่หากเราพิจารณาว่าความท้าทายของโลกและสังคมกำลังถาโถมเข้าใส่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอย่างไม่หยุดยั้ง และหากเราไม่ทำอะไรเราก็จะล้าหลังออกไปเรื่อยๆ การคิดว่ามหาวิทยาลัยควรต้องทำอะไรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงและแก้ไขความขัดแย้งก็คงเป็นเพียงการคิดเล่นสนุกๆเท่านั้น

ความสามารถในการแข่งขันทางวิทยาศาสตร์ของไทย

(บทความนี้เป็นบทความที่ผมเขียนไว้นานแล้ว คือเมื่อปี 2543 ลงพิมพ์ในวารสาร “อาทิตย์” คิดว่ายังมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับปัจจุบันนี้อยู่ เลยเอามาลงในที่นี้)

ความสามารถในการแข่งขันทางวิทยาศาสตร์ของไทย

เมื่อเร็วๆนี้มีข่าวลงในหนังสือพิมพ์ว่า องค์กรแห่งหนึ่งได้จัดอันดับความสามารถในการแข่งขันทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศต่างๆจำนวน ๔๗ ประเทศ แล้วปรากฏว่าประเทศไทยได้อันดับสุดท้าย เรื่องนี้นับว่าทำให้ประเทศของเราเสียหน้าแก่ประชาชนชาวโลกพอสมควร และก็ทำให้ผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ต้องพิจารณาผลงานของตนเอง และเร่งหาทางแก้ไขเพื่อให้ประเทศไทยได้อันดับที่ดีกว่านี้ในการสำรวจระยะต่อไป ตามรายงานข่าวนี้ ก็มีการวิพากษ์วิจารณ์หน่วยงานที่มีส่วนรับผิดชอบโดยตรง ว่าตั้งมาตั้งหลายปีใช้งบประมาณไปไม่ใช่น้อย แต่ผลงานไม่เป็นที่เข้าตากรรมการเท่าที่ควร

ในรายงานข่าวไม่ได้บอกว่า ประเทศทั้งสี่สิบเจ็ดประเทศที่สำรวจนี้มีประเทศอะไรบ้าง ถ้าปรากฏว่าเราตามหลังประเทศอย่าง ญี่ปุ่น สหรัฐฯ หรืออังกฤษ ก็ไม่น่าประหลาดใจเท่าใด แต่ถ้าเราตามหลังอย่างมาเลเซียหรือแม้แต่เวียดนาม ก็ควรที่เราต้องตื่นตกใจ และควรที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งหาทางแก้ไข แต่จะอย่างไรก็ตาม การได้อันดับรองสุดท้ายก็ดูไม่น่าพอใจเท่าใด ไม่ว่าเราจะแข่งกับประเทศอะไร

การวัดอันดับความสามารถในการแข่งขันทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนี้ ก็มักจะใช้วิธีดูตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรมในด้านต่างๆ เช่นสัดส่วนการลงทุนของภาครัฐในด้านการวิจัย ปริมาณของนักวิทยาศาสตร์และนักเทคโนโลยีเทียบกับประชากร ปริมาณการตีพิมพ์ผลงานในวารสารระดับนานาชาติ ต่างๆเหล่านี้ ศ. ดร. ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สบวท.) กล่าวว่าเหตุหนึ่งที่ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับต่ำเช่นนี้ ก็มาจากการที่ประชาชนทั่วไปขาดความรู้ความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างเพียงพอ ประกอบกับการที่ประชาชนมักจะไม่รู้จักวิธีคิดเป็นวิทยาศาสตร์ แต่มักจะคิดหรือเชื่ออะไรที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งทำให้ประเทศไทย “ไม่เป็นวิทยาศาสตร์” ซึ่งเมื่ออยู่ในสภาพนี้ก็ไม่สามารถไปแข่งกับคนอื่นเขาในด้านวิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยีได้ อาจารย์ยงยุทธยังกล่าวอีกว่า ทาง สบวท. จะพิมพ์หนังสือเล่มหนึ่งเกี่ยวกับประวัติวิทยาศาสตร์ของไทย ออกเผยแพร่ในราวปลายเดือนสิงหาคมนี้

เราอาจลองคิดว่า แทนที่เราจะวัดอันดับความสามารถทางวิทยาศาสตร์ เราน่าจะมีใครที่มาวัดอันดับ “ความสามารถทางจิตวิญญาณ” ดูบ้าง ก็ไม่รู้ว่าถ้าเปลี่ยนการวัดเป็นแบบนี้ ประเทศไทยจะอยู่ในอันดับใด มองเผินๆก็น่าจะได้อยู่ในอันดับต้นๆ เพราะประเทศเรามีการพูดการเขียนเกี่ยวกับเรื่องจิตวิญญาณกันอย่างมากมาย การวัดนี้ก็ดูได้จากปริมาณของพระอริยสงฆ์ที่มีการพัฒนาทางจิตวิญญาณสูงมากๆ สัดส่วนของประชากรที่มีคุณธรรม ศีลธรรม และมีความรู้และความคิดอ่านสูงพอที่จะแยกระหว่างเรื่องจิตวิญญาณปลอมๆ (เช่นความเชื่องมงายหรือการนำเอาไสยศาสตร์กับจิตวิญญาณมาเป็นสินค้า) กับจิตวิญญาณที่แท้จริง ที่เกิดเข้าถึงความหมายและหลักการเบื้องหลังของจิตวิญญาณจริงๆ ที่สำคัญก็คือ สัดส่วนของประชากรที่ “รู้เท่าทัน” และสามารถแยกออกได้ว่าอะไรเป็นความงมงาย อะไรเป็นการเชื่อตามหลักการที่ถูกต้อง แต่นี่มองเผินๆเท่านั้นนะครับ ถ้ามองลึกไปกว่านี้ก็ไม่แน่เหมือนกัน

ผมเคยเขียนในคอลัมน์ “วิทยาการกับวัฒนธรรม” บทก่อนๆเอาไว้ว่า ในท้ายที่สุดนั้น จิตวิญญาณกับวิทยาศาสตร์จะสอบเข้าหากัน คือเมื่อวิทยาศาสตร์พัฒนาสูงมากๆเข้า ก็จะเข้าหาจิตวิญญาณ และเมื่อจิตวิญญาณพัฒนาขึ้นสูงมากขึ้น ก็จะยิ่งเข้าถึงความเป็นจริงที่แสดงให้เห็นได้ พิสูจน์ได้ หรือเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น ดังนั้น การวัดอันดับความสามารถทางวิทยาศาสตร์กับทางจิตวิญญาณที่พูดถึงนี้ เอาเข้าจริงๆก็ไม่ต่างกันเสียทีเดียว เราอาจจะต้องยอมรับว่า ถ้าเราจะพัฒนา “จิตวิญญาณ” ของประเทศ เราคงต้องพัฒนาให้ประชากรของเรา “เข้าถึงวิทยาศาสตร์” ตามที่มันควรจะเป็นจริงๆ ไม่ใช่ให้ท่องสูตรปาวๆ โดยไม่รู้เรื่องเลยว่าท่องอะไรอยู่ เป้าหมายของเราอยู่ที่ว่าประชากรมีความฉลาดเฉลียว รู้เท่าทัน รู้จักใช้เหตุผลใช้ความคิดอ่าน มีวิจารณญาณ ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ไม่ต้องสงสัยว่าอันดับความสามารถทางวิทยาศาสตร์ของเราจะไม่กระเตื้องขึ้น

แต่การทำให้ได้เช่นนี้จริงไม่ใช่เรื่องง่ายครับ ต้องทำเป็นโครงการะยะยาวระดับประเทศ ต้องยกระดับความสามารถของนักการเมือง หาทางให้จิตวิญญาณกับวิทยาศาสตร์พัฒนาไปด้วยกันให้ได้ วิธีการต่างๆที่หน่วยงานทางวิทยาศาสตร์เสนอมาไม่พอหรอกครับ

***

(ในปี พ.ศ. ๒๕๔๓ ประเทศไทยอยู่อันดับที่ ๔๗ แต่พอมาปีนี้ (๒๕๕๓) ประเทศเราขึ้นมาเป็นที่ ๒๖ รายละเอียดดูได้ที่นี้ครับ

http://www.imd.org/research/publications/wcy/World-Competitiveness-Yearbook-Results/#/wcy-2010-rankings/

กระบวนการวิจัยทางมนุษยศาสตร์

นี่เป็นไฟล์นำเสนอที่ผมเขียนไว้หลายปีมาแล้ว เกี่ยวกับเรื่อง กระบวนการวิจัยทางมนุษยศาสตร์ คิดว่ายังน่าสนใจอยู่ก็เลยเอามาลงไว้ตรงนี้