คำตอบของคำถาม – แสงสว่างทางปัญญาคืออะไร?

ปิดเทอมสงกรานต์ ผมอยู่ว่างๆก็เลยเอางานสั้นๆของคานท์มาแปล งานนี้ได้แก่ “Beantwortung der Frage: Was ist Aufklaerung?” ซึ่งแปลเป็นไทยได้ว่า “คำตอบของคำถาม – แสงสว่างทางปัญญาคืออะไร?” คำว่า Enlightenment มีหมายความหมายในภาษาอังกฤษ แต่ในความหมายที่คานท์ใช้ คานท์กำลังใช้ความหมายของยุคสมัยของเขาเอง ที่ผู้คนเริ่มตื่นจากการถูกพันธนาการด้วยความเชื่อทางศาสนา และเชื่อมั่นว่าเหตุผลกับประสบการณ์จะเป็นเครื่องมือนำพามนุษย์ไปสู่ความรู้ และความรู้จะเป็นเครื่องมือพามนุษย์ไปสู่ความก้าวหน้า มีหลายคนพยายามแปลคำนี้เป็นภาษาไทยในความหมายที่คานท์ใช้นี้ (คำนี้แปลได้อีกอย่างว่า “การตรัสรู้ธรรม” ซึ่งไม่เกี่ยวกับความหมายที่คานท์ใช้เลยแม้แต่น้อย) รากศัพท์ของ Enlightenment ก็คือ enlighten แปลว่า “ทำให้เกิดแสง” ก็คือที่บางที่มืดอยู่ เอาแสงฉายเข้าไป การกระทำนี้ก็คือการ enlighten ซึ่งเมื่อมาใช้ในความหมายเปรียบเทียบ ก็คือทำให้เกิดความรู้ ยุค Enlightenment เลยมักใช้คู่กับยุคกลางที่เรียกันว่า Dark Ages คือยุคแรกมีแสงสว่างชองเหตุผลและวิทยาศาสตร์ ยุคหลัง (จริงๆมาก่อน) ไม่มี ก็เลยถูกเรียกว่า “ยุคมืด” ดังนั้นผมก็เลยคิดว่า แปลอย่างที่หลายคนแปล คือ “แสงสว่างทางปัญญา” น่าจะใกล้เคียงที่สุด

การแปลนี้แปลจากฉบับภาษาอังกฤษที่พบในเน็ต แต่เนื่องจากมีหลายเวอร์ชั่นมาก ภาษาอังกฤษบางฉบับก็แปลผิดๆถูกๆ ก็เลยดูเทียบกับต้นฉบับภาษาเยอรมันของคานท์ด้วย ผมตั้งใจจะเขียนบทอรรถาธิบายงานชิ้นนี้ของคานท์อย่างละเอียด เพราะมีหลายประเด็นที่คิดว่าคนอ่านคนไทยอาจต้องมีการอธิบายเพิ่มเติม ถึงจะเข้าใจได้ถ่องแท้ แต่คงต้องเป็นโครงการต่อไป

***

คำตอบของคำถามว่า “แสงสว่างทางปัญญาคืออะไร?”

เขียนโดย อิมมานุเอล คานท์

แปลโดย โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์

แสงสว่างทางปัญญาได้แก่การที่มนุษย์หลุดออกจากความอ่อนเยาว์ไร้เดียงสาที่ตนเองเป็นผู้ก่อขึ้นมา ความอ่อนเยาว์ดังกล่าวนี้ได้แก่การไม่มีความสามารถจะใช้ความคิดความเข้าใจของตนเอง โดยไม่ต้องมีการชี้นำจากผู้อื่น ความอ่อนเยาว์ที่มนุษย์จะเป็นผู้ก่อขึ้นนี้จะมาผูกมัดตนเอง หากสาเหตุของมันไม่ได้มาจากการขาดความเข้าใจ แต่มาจากการไม่ยอมตัดสินใจและไม่มีความกล้าหาญที่จะใช้ความคิดของตนเองโดยไม่มีผู้อื่นชี้นำ จงกล้าคิด! (Sapere aude) “จงกล้าที่จะใช้ความคิดของตนเอง” เป็นคำขวัญของยุคแสงสว่างทางปัญญา

ความเกียจคร้านกับความขลาดเป็นเหตุผลว่าเหตุใดผู้คนส่วนใหญ่จึงยินดีที่จะอยู่เป็นเด็กไปตลอดชีวิตของตน หลังจากที่ธรรมชาติได้ปลดปล่อยตนเองมาจากการชี้นำจากภายนอกแล้วเป็นเวลานาน ความเกียจคร้านกับความขลาดนี้ยังเป็นเหตุว่าทำไมผู้อื่นจึงตั้งตนเป็นผู้พิทักษ์หรือผู้ปกครองได้อย่างง่ายดาย การเป็นเด็กหรือผู้น้อยนั้นช่างเป็นความสบายยิ่งนัก หากข้าพเจ้ามีหนังสือเล่มหนึ่งที่คิดแทนข้าพเจ้าเองได้ มีครูที่ทำงานเป็นความสำนึกผิดชองของข้าพเจ้า มีหมอที่มากำหนดรายการอาหารให้ และอื่นๆอีก ข้าพเจ้าก็จะไม่จำเป็นต้องออกแรงทำงานเอง ข้าพเจ้าจะไม่จำเป็นต้องคิดเองหากข้าพเจ้าสามารถจ่ายค่าจ้างให้คนอื่นมาคิดแทนให้ และมีคนอื่นๆที่มาจัดการดูแลเรื่องต่างๆที่ข้าพเจ้าไม่สนใจจะทำเอง ผู้พิทักษ์ที่ตั้งตนเป็นผู้ดูแลทุกข์สุขของคนส่วนใหญ่ จะพยายามให้คนส่วนใหญ่เกือบทั้งหมด รวมทั้งผู้หญิงด้วย เกิดความเชื่อว่าการเป็นผู้ใหญ่นั้น ไม่เพียงแต่เป็นเรื่องยาก แต่ยังมีอันตรายอย่างยิ่ง ประการแรก ผู้พิทักษ์เหล่านี้ทำให้ฝูงวัวของตนโง่ และระมัดระวังที่จะไม่ปล่อยให้ฝูงวัวเชื่องๆนี้เดินออกจากคอกโดยไม่มีเชือกสนตะพายที่ผู้พิทักษ์ได้ผูกเอาไว้ ต่อจากนั้นผู้พิทักษ์ก็จะแสดงให้ฝูงวัวเห็นว่า จะมีภัยอันตรายอะไรรออยู่บ้างหากวัวตัดสินใจจะเดินออกไปเอง อันตรายที่ว่านี้จริงๆไม่ได้ใหญ่โตมากมาย หลังจากที่เดินสะดุดครั้งสองครั้ง ผู้คนส่วนใหญ่เหล่านี้ก็จะเดินออกไปได้เอง อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างของผู้คนที่เดินออกไปเองแล้วประสบความล้มเหลว ก็จะทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ไม่กล้าที่จะทำแบบเดียวกันนี้อีก

ดังนั้น จึงเป็นการยากที่คนๆหนึ่งจะทำตนเองให้หลุดออกจากความอ่อนเยาว์ที่ได้กลายมาเป็นเหมือนกับร่างที่สองของตนเอง เขาได้กลายมาชื่นชอบความอ่อนเยาว์นี้ ในเบื้องแรกเขาไม่มีความสามารถจะใช้ความคิดความเข้าใจของตนเองเลย เนื่องจากไม่เคยได้รับอนุญาตให้ทำเช่นนั้น ลัทธิคำสอนกับสูตรสำเร็จต่างๆ เป็นเครื่องมือแบบกลไกที่ได้สร้างขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์จากความสามารถด้านต่างๆที่ผู้คนส่วนใหญ่มีอยู่แล้วโดยธรรมชาติ เครื่องมือเหล่านี้เป็นโซ่เหล็กที่ผูกมัดผู้คนเอาไว้อย่างเป็นนิรันดร คนที่โยนโซ่นี้ออกจากตัวเอง จะพบว่าเมื่อต้องกระโดดข้ามท้องร่องที่แคบที่สุด กลับลังเลไม่มั่นใจ ทั้งนี้ก็เพราะว่าเขาไม่เคยชินกับการเคลื่อนไหวอย่างอิสระเสรีเช่นนี้มาก่อน นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมจึงมีผู้คนจำนวนน้อยนิดที่เดินได้อย่างเสรี และหลุดออกจากห่วงโซ่พันธนาการแห่งความอ่อนเยาว์นี้ด้วยการเพาะความคิดของตนเองให้งอกงามขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม การที่สาธารณชนจะทำให้ตนเองได้รับ “แสงสว่างทางปัญญา” เช่นนี้ ก็เป็นอะไรที่อยู่ใกล้ตัวและเป็นไปได้ อันที่จริงหากสาธารณชนได้รับเสรีภาพ การเกิดแสงสว่างทางปัญญานี้ก็เกือบจะหลีกเลี่ยงไม่ได้เลย ในทุกยุคทุกสมัยจะมีนักคิดที่เป็นอิสระไม่ขึ้นกับใครอยู่ตลอด แม้ในหมู่ของผู้พิทักษ์ที่คอยทำตัวปกป้องดูแลมหาชน เมื่อผู้คนเหล่านี้ได้โยนแอกที่มาบังคับกดขี่ตนเองออกทิ้งไป พวกเขาก็จะเผยแพร่จิตวิญญาณของการเห็นคุณค่าของมนุษย์ รวมทั้งหน้าที่ที่ทุกคนจะต้องคิดด้วยตนเอง เป็นที่น่าสังเกตว่า สาธารณชนที่ถูกบรรดาผู้พิทักษ์จับใส่แอก ต่อมาก็จะเป็นฝ่ายจับผู้พิทักษ์เหล่านี้ใส่แอกเสียเอง โดยเฉพาะเมื่อสาธารณชนถูกปลุกเร้าโดยการกระทำของผู้พิทักษ์ที่ไม่มีความสามารถในการมีแสงสว่างทางปัญญาใดๆ นี่ แสดงว่าการมีอคตินั้นเป็นเรื่องอันตรายร้ายแรงเพียงใด ผู้คนที่เคยถูกกดขี่มานาน เมื่อได้รับอิสรภาพก็อาจจะแก้แค้นผู้ที่เคยกดขี่มาก่อน รวมทั้งลูกหลานของผู้กดขี่นั้นด้วย ด้วยเหตุนี้ สาธารณชนจะต้องได้รับแสงสว่างทางปัญญาอย่างช้าๆเท่านั้น การปฏิวัติอาจนำมาซึ่งการสิ้นสุดของการปกครองอย่างเบ็ดเสร็จโดยคนๆเดียว หรือการสิ้นสุดของเผด็จการที่กดขี่ข่มเหง แต่การปฏิวัติไม่เคยเป็นเหตุให้เกิดการเปลี่ยนความคิดได้อย่างแท้จริง ในกรณีเช่นนี้ จะมีอคติใหม่ๆมาแทนที่อคติเก่าๆ ในฐานะที่เป็นแนวทางสำหรับประชาชนที่ไม่ได้ใช้ความคิด

แสงสว่างทางปัญญานี้ไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าเสรีภาพ โดยเฉพาะสิ่งที่ดูเรียบง่ายที่สุดที่จะได้ชื่อว่า “เสรีภาพ” อันได้แก่เสรีภาพในการใช้เหตุผลของตนเองในที่สาธารณะในทุกๆเรื่อง เมื่อพูดเช่นนี้ ข้าพเจ้าก็ได้ยินเสียงร้องมาจากทุกทิศทุกทางว่า “อย่ามาเถียง!” นายทหารกล่าวว่า “อย่าเถียง จงฝึกอย่างเดียว” เจ้าหน้าที่เก็บภาษีบอกว่า “อย่าเถียง จงจ่ายมา!” หมอสอนศาสนาบอกว่า “อย่าเถียง จงเชื่อ!” มีผู้ปกครองเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้นที่บอกว่า “เถียงให้มากเท่าที่พอใจ แต่ต้องเชื่อฟัง!” เราพบว่ามีข้อจำกัดเสรีภาพในทุกๆที่ แต่ข้อจำกัดใดที่เป็นอันตรายต่อแสงสว่างทางปัญญา? ข้อจำกัดใดทำให้แสงสว่างทางปัญญาเกิดได้ง่ายขึ้น? ข้าพเจ้าตอบว่า การใช้เหตุผลของตนเองในที่สาธารณะจะต้องมีเสรีภาพในทุกๆขณะ มีแต่สิ่งนี้เท่านั้นที่จะนำแสงสว่างทางปัญญามาสู่มนุษยชาติได้

ในทางกลับกัน การใช้เหตุผลในอาณาบริเวณส่วนตัวอาจจะจำกัดอยู่ได้ภายในขอบเขตแคบๆ ซึ่งไม่กระทบต่อความก้าวหน้าของแสงสว่างทางปัญญา “การใช้เหตุผลในที่สาธารณะ” หมายความถึงการใช้เหตุผลที่ผู้ใช้เสนอเหตุผลนั้นผ่านการเขียนข้อความให้แก่สาธารณชนที่เป็นผู้อ่านข้อความนั้น ในแง่นี้อาจกล่าวได้ว่าผู้ที่เสนอเหตุผลแก่สาธารณชนนี้เป็น “นักวิชาการ” “การใช้เหตุผลในที่ส่วนตัว” หมายความถึงการใช้เหตุผลที่ใช้ในขอบเขตของตำแหน่งหน้าที่ที่เขาดำรงอยู่

ในบางกรณีที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์ของชุมชน กลไกบางอย่างของรัฐอาจจำเป็นซึ่งทำให้สมาชิกของชุมชนอยู่เฉยๆนิ่งๆ การทำเช่นนี้เป็นการสร้างความเป็นเอกฉันท์เทียมๆขึ้นมาเพื่อการบรรลุเป้าหมายของสาธารณะ หรืออย่างน้อยก็ป้องกันไม่ให้เป้าหมายนั้นถูกทำลายไป ในที่นี้การถกเถียงไม่ได้รับอนุญาต เราต้องเชื่อฟัง แต่ในกรณีที่สมาชิกผู้นี้มองตนเองในขณะเดียวกันว่าเป็นสมาชิกของชุมชนโลกด้วย อันเป็นชุมชนของพลเมืองทั้งหมดของโลก (เราลองคิดว่าเขามองตนเองว่าเป็นนักวิชาการที่เสนอความคิดแก่สาธารณะผ่านทางการเขียน) เขาจำเป็นต้องถกเถียง และเรื่องที่เขามีส่วนร่วมอยู่ด้วยในฐานะที่เป็นสมาชิกที่อยู่เฉยๆก็จะไม่ได้รับผลกระทบ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องโชคร้ายมากหากเจ้าหน้าที่ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่อยู่ หรือได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติภารกิจบางอย่างจากผู้บังคับบัญชา เกิดอยากจะวิพากษ์วิจารณ์ความเหมาะสมหรือประโยชน์ของคำสั่งนั้นๆ เขาต้องปฏิบัติตามคำสั่ง แต่ในฐานะนักวิชาการ รัฐหรือใครก็ตามไม่สามารถหยุดยั้งเขาจากการสังเกตความผิดพลาดต่างๆในการปฏิบัติการทางทหารของเขา และเสนอความคิดเห็นของเขาเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้สาธารณชนรับรู้ พลเมืองไม่สามารถปฏิเสธการจ่ายภาษี จริงๆแล้วการดื้อแพ่งไม่ยอมจ่ายภาษีเป็นความผิดที่สามารถลงโทษได้ เพราะอาจก่อให้เกิดการปฏิเสธแบบเดียวกันขยายวงกว้างออกไป แต่ถึงกระนั้นก็ตาม เขาผู้นี้ก็ไม่ได้กำลังละเมิดหน้าที่ของเขาในฐานะพลเมือง หากเขาจะเสนอการวิพากษ์วิจารณ์และคำคัดค้านของเขา ว่าภาษีดังกล่าวนี้ไม่ยุติธรรมหรือไม่เหมาะสมอย่างไร หากเขาจะสวมบทบาทนักวิชาการและเสนอความคิดเห็นนี้สู่สาธารณชน ในทำนองเดียวกัน หมอสอนศาสนามีหน้าที่ต้องสอนสมาชิกของโบสถ์ตนเองให้เป็นไปตามแนวความเชื่อของศาสนจักรที่เขาเป็นส่วนหนึ่งในนั้น เนื่องจากเขาได้ปวารณาตนเป็นสมาชิกของศาสนจักรนี้แล้ว แต่ในฐานะนักวิชาการ เขามีเสรีภาพเต็มที่ จริงๆแล้วเขามีหน้าที่ด้วยซ้ำ ที่จะสื่อสารสู่สาธารณชน ว่าด้วยความคิดที่เขาได้คิดและกลั่นกรองมาอย่างดีแล้ว มีเนื้อหาเกี่ยวกับข้อผิดพลาดต่างๆในลัทธิความเชื่อนั้นๆอย่างไร ตลอดจนเสนอทางแก้ไขเพื่อปรับปรุงลัทธิดังกล่าวและสถาบันต่างๆของศาสนจักรของเขา การทำเช่นนี้จะไม่เป็นการไปรบกวนความสำนึกผิดชอบชั่วดีของเขาเลย เนื่องจากสิ่งที่เขาสอนในฐานะที่เป็นตัวแทนของศาสนจักรที่เขาเป็นสมาชิก เขาเป็นตัวแทนของบางอย่างที่เขาไม่ได้มีเสรีภาพที่จะสอนตามใจของเขาเอง เขาพูดในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบ และทำไปในนามและภายใต้คำสั่งของผู้อื่น เขาจะกล่าวว่า “ศาสนจักรของเราสอนว่าอย่างนี้ นี่คือข้อพิสูจน์ที่ศาสนจักรใช้อยู่” ดังนั้นเขาจะยังประโยชน์ให้ชุมชนโบสถ์ของเขาอย่างมากที่สุดด้วยการเสนอคำสอนของศาสนจักร ซึ่งเขาเองอาจไม่ถึงกับเชื่อมั่นปักใจเต็มที่ แต่เขาก็ยังสอนคำสอนนี้ได้เนื่องจากอาจเป็นไปได้ว่าคำสอนนี้มีความจริงแฝงอยู่ก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร เขาก็ไม่พบอะไรในคำสอนนั้นที่จะขัดแย้งกับหัวใจของศาสนา ทั้งนี้เนื่องจากว่าหากเขาเชื่อว่าความขัดแย้งดังกล่าวมีอยู่จริง เขาก็จะไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่นี้ได้ตามมโนสำนึกของเขา เขาจำเป็นต้องลาออกจากตำแหน่งดังกล่าว ดังนั้นการใช้เหตุผลในฐานะนักวิชาการต่อชุมชนที่ได้ว่าจ้างเขามาทำงาน จึงเป็นเพียงการใช้เหตุผลในระดับส่วนตัวเท่านั้น เพราะไม่ว่าชุมชนนี้จะใหญ่เพียงใด ผู้ฟังก็ยังเป็นผู้ฟังภายในชุมชนเดียวกันที่เชื่อเรื่องเดียวกันอยู่ดี ในแง่นี้หมอสอนศาสนาไม่มีเสรีภาพและไม่ควรมีเสรีภาพด้วย เพราะว่าเขากำลังทำงานตามหน้าที่ที่ผู้อื่นมอบหมาย ในทำนองกลับกัน หมอสอนศาสนาผู้นี้จะมีเสรีภาพบริบูรณ์ที่จะใช้เหตุผลของเขา และที่จะพูดตามใจของเขาเอง หากเขาใช้เหตุผลในระดับสาธารณะผ่านทางข้อเขียนของเขา การที่ผู้นำทางจิตวิญญาณของมหาชน จะต้องกลายมาเป็นผู้น้อยที่ไม่อาจใช้ความคิดของตนเองได้ เป็นการขัดแย้งกันตัวเองที่จะนำมาซึ่งหลายๆอย่างที่เป็นเรื่องไร้สาระไม่มีความหมาย

แต่ที่ประชุมของหมอสอนศาสนาระดับสูง  ตัวอย่างเช่นสภาศาสนาหรือที่ประชุมของผู้คงแก่เรียน (อย่างที่ชาวดัชท์เรียก) มีสิทธิหรือไม่ที่จะบังคับให้สมาชิกศาสนจักรต้องสาบานว่าจะเชื่อฟังและปฏิบัติตามความเชื่อบางอย่างที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพื่อบังคับให้ศาสนจักรกลายเป็นผู้พิทักษ์ของสมาชิกทุกคนรวมทั้งประชาชนทุกคนไปตลอดกาลนาน? ข้าพเจ้ากล่าวว่าเรื่องนี้เป็นไปไม่ได้ การทำสัญญาเช่นนี้ ซึ่งเป็นสัญญาที่ทำขึ้นเพื่อปิดกั้นประชาชนออกจากแสงสว่างทางปัญญา จะเป็นสัญญาที่เป็นโมฆะแม้ว่าจะได้รับการยืนยันจากอำนาจอธิปไตยของกษัตริย์ ของรัฐสภา หรือจากสนธิสัญญาใดๆก็ตาม ยุคหนึ่งสมัยหนึ่งไม่อาจบังคับให้ยุคสมัยต่อๆมาปฏิบัติตามคำสั่งของตนเองได้ไปชั่วนิรันดร นอกจากนี้ยังไม่อาจหยุดยั้งไม่ให้ยุคสมัยต่อๆมาเสนอความคิดเห็นของตนเอง ชำระความผิดพลาดต่างๆที่ยุคสมัยก่อนหน้าทำขึ้น และก้าวหน้าต่อไปในแสงสว่างทางปัญญา นั่นจะเป็นอาชญากรรมต่อธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งชะตากรรมของมนุษย์อยู่ที่ความก้าวหน้าที่ว่านี้เอง ด้วยเหตุนี้ ยุคสมัยต่อๆมาจึงมีสิทธิเต็มที่ในการปฏิเสธข้อห้ามหรือกฎเกณฑ์ต่างๆที่ยุคสมัยก่อนหน้าได้วางเอาไว้ โดยบอกว่าเป็นกฎเกณฑ์ที่ผู้ออกกฎไม่มีอำนาจ และพ้นเลยไปจากความถูกต้องชอบธรรม หลักวัดที่ใช้ตัดสินการตัดสินใจเหล่านี้ ซึ่งอาจจะทำให้เป็นกฎหมายก็ได้ อยู่ที่คำถามต่อไปนี้: ประชาชนสามารถออกกฎทำนองนี้มาใช้บังคับตนเองได้หรือไม่? ตอนนี้อาจเป็นไปได้ที่จะมีกฎระเบียบบางอย่างที่มาบังคับใช้ในเวลาสั้นๆ เพื่อให้เกิดความเป็นระเบียบที่ดีกว่าในเวลาต่อไป แต่ในขณะที่กฎระเบียบชั่วคราวนี้กำลังใช้อยู่ พลเมืองแต่ละคน (โดยเฉพาะหมอสอนศาสนาที่ทำหน้าที่เป็นนักวิชาการ) ก็ควรจะมีเสรีภาพในการเผยแพร่คำวิจารณ์ของเขา ที่วิพากษ์ถึงข้อเสียต่างๆสถาบันต่างๆที่มีอยู่ในเวลานั้น การทำเช่นนี้ควรได้รับการสนับสนุนให้ทำต่อไป จนกว่าความเข้าใจของสาธารณชนจะก้าวไปไกลขนาดที่ว่า เมื่อมีเสียงเห็นพ้องต้องกันจากนักวิชาการจำนวนมาก (ถึงแม้จะไม่จำเป็นว่าต้องเป็นนักวิชาการทุกคน) ข้อเสนอเกี่ยวกับการปฏิรูปสามารถนำออกมาเสนอแก่ผู้ใช้อำนาจอธิปไตย เพื่อปกป้องชุมชนศาสนาที่ได้ตัดสินใจเปลี่ยนสถาบันเก่าของตนเอง แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ขัดขวางชุมชนที่ยังยินดีจะอยู่กับสถาบันเดิม แต่การเห็นพ้องกับธรรมนูญศาสนาที่ใช้ได้ตลอดกาลนาน และไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์ตั้งคำถามอย่างเป็นสาธารณะจากทุกคน จะเป็นการทำลายล้างความก้าวหน้าและการปรับปรุงตัวของมนุษยชาติ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ต้องห้ามอย่างเด็ดขาด คนๆหนึ่งอาจจะเลื่อนการเกิดแสงสว่างทางปัญญาของตนออกไป แต่ทำได้เพียงแค่ชั่วเวลาหนึ่งเท่านั้น การละทิ้งแสงสว่างทางปัญญาออกไปทั้งหมด ไม่ว่าจากตนเองหรือจากลูกหลานของตนเองในอนาคต เป็นการละเมิดและเหยียบย่ำสิทธิอันเป็นของศักดิ์สิทธิ์ของมนุษย์ สิ่งที่ประชาชนไม่ได้ตัดสินใจสำหรับตนเอง ก็ยิ่งเป็นอะไรที่กษัตริย์ไม่สามารถตัดสินใจได้ เพราะว่าเกียรติยศของกษัตริย์ประกอบด้วยการที่พระองค์รวบรวมเจตจำนงของประชาชนทั้งหมดมาเป็นเจตจำนงของพระองค์เอง หากกษัตริย์จะสนใจแต่เพียงว่าการปรับปรุงด้านศาสนาจะต้องดำเนินไปควบคู่กับระเบียบสังคม พระองค์ก็อาจจะปล่อยให้ประชาชนอยู่กันเองเพื่อให้ทำสิ่งใดๆที่จำเป็นต่อการช่วยวิญญาณตนเองให้รอด การรอดของประชาชนไม่ใช่กงการอะไรของกษัตริย์ แต่เป็นภารกิจของกษัตริย์โดยตรงที่จะป้องกันไม่ให้คนผู้หนิ่งใช้กำลังบังคับ ไม่ให้อีกคนหนึ่งกำหนดและส่งเสริมทางรอดของตนเองตามที่ตนเองทำได้อย่างดีที่สุด อันที่จริงหากกษัตริย์จะลงมาวุ่นวายกับเรื่องเหล่านี้ และมาตรวจสอบข้อเขียนของพสกนิกรพยายามเสนอทรรศนะทางศาสนาของตนเองออกสู่สาธารณะ กษัตริย์ก็จะอยู่ในฐานะที่มีอคติหรือลำเอียงต่อประชาชน แม้ว่ากษัตริย์อาจคิดว่าตนเองทำไปจากความหวังดีหรือจากความรู้ที่มีมากกว่าก็ตาม ทั้งนี้ก็เนื่องจากว่ากษัตริย์เองก็ได้เปิดพระองค์เองต่อคำวิจารณ์นี้ Caesar non est supra-grammaticos (พระจักรพรรดิไม่ได้อยู่เหนือนักไวยากรณ์) ยิ่งไปกว่านี้กษัตริย์จะทำให้อำนาจของพระองค์เองต้องตกต่ำลงไปอีก หากทางสนับสนุนการใช้อำนาจผิดๆ เช่นอำนาจของจอมเผด็จการบางคนในอาณาจักรของพระองค์ ซึ่งจอมเผด็จการนั้นใช้อำนาจผิดๆนี้บังคับชีวิตของพสกนิการของพระองค์เองทั้งหมด

เมื่อเราถามว่า เราอยู่ในยุคที่มีผู้คนมีแสงสว่างทางปัญญาไปทั่วแล้วหรือยัง? คำตอบก็คือยัง แต่เรากำลังอยู่ยุค “แสงสว่างทางปัญญา” ตามที่เป็นอยู่นี้ ยังอีกห่างไกลมากที่มนุษย์จะสามารถใช้ปัญญากับเหตุผลของตนเองในเรื่องของศาสนาได้อย่างถูกต้องโดยไม่ต้องมีใครมาช่วยดูแล แม้กระนั้นเราก็มีหลายอย่างที่บ่งให้เห็นว่าเส้นทางสู่เป้าหมายอันได้แก่ความจริงทางศาสนา เป็นเส้นทางที่เปิดกว้าง ยิ่งไปกว่านั้น อุปสรรคต่างๆที่มาขัดขวางแสงสว่างทางปัญญา หรือการหลุดออกจากพันธนาการหรือความอ่อนวัยที่ตนเองสร้างขึ้น ก็เริ่มลดน้อยลง ในแง่นี้ยุคนี้จึงเป็นยุคของแสงสว่างทางปัญญาที่แท้จริง และเป็นศตวรรษของพระเจ้าเฟรเดอริคมหาราช

กษัตริย์ที่ไม่คิดว่าการกล่าวว่าพระองค์มองว่าเป็นหน้าที่ที่จะไม่สั่งการอะไรแก่ประชาชนในเรื่องของศาสนา เป็นการกระทำที่ต่ำไปกว่าพระเกียรติยศของพระองค์เอง หากปล่อยให้เป็นเสรีภาพเต็มที่ของประชาชน กษัตริย์ที่ละทิ้งคำสูงส่งเช่น “ความอดกลั้น” กษัตริย์เช่นนี้ทรงเป็นผู้มีแสงสว่างทางปัญญา ควรที่จะได้รับการยกย่องจากโลกที่รู้สึกขอบคุณ และจากยุคสมัยในภายหลังว่าเป็นผู้ทรงปลดปล่อยมนุษยชาติออกจากการพึ่งพา อย่างน้อยก็จากรัฐบาล และเป็นผู้ทรงปล่อยให้ทุกคนใช้เหตุผลของตนเองในเรื่องของสำนึกผิดชอบชั่วดีของตัวเอง ภายใต้การปกครองของกษัตริย์เช่นนี้ หมอสอนศาสนาที่ทำหน้าที่นักวิชาการจะสามารถตีพิมพ์เผยแพร่ความคิดของตนเองได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าหน้าที่ต่อศาสนจักรของตนเองจะเป็นอย่างไร ทั้งนี้เพื่อให้โลกได้ตรวจสอบความคิดของเขาได้อย่างเสรี แม้ว่าความคิดที่เขาเสนอนั้นอาจจะมีที่ผิดแผกไปจากคำสอนที่เป็นที่ยอมรับกันอยู่บ้าง เรื่องนี้ยิ่งเป็นจริงมากขึ้นแก่ทุกคนที่ไม่ได้มีหน้าที่ผูกพันอยู่กับการปฏิบัติงานในตำแหน่งหน้าที่ จิตวิญญาณของเสรีภาพกำลัง่ขยายตัวออกไปพ้นจากเส้นเขตแดน (ของปรัสเซีย) แม้ว่าจะต้องต่อสู้กับอุปสรรคภายนอกที่สร้างขึ้นโดยรัฐบาลที่มองไม่เห็นผลประโยชน์ที่แท้จริงของตนเอง ปรัสเซียของพระเจ้าเฟรเดอริคมหาราชเป็นตัวอย่างอันเรืองรองของเสรีภาพเช่นว่านี้ ซึ่งไม่จำเป็นต้องก่อให้เกิดความวิตกกังวลใดๆเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของสาธารณชน หรือของความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวกันของชุมชน เมื่อเราไม่ได้พยายามเก็บมนุษย์ให้อยู่ในสภาพคนป่าเถื่อน มนุษย์ก็จะหาทางออกจากสภาพเช่นนั้นเองด้วยตนเอง

ข้าพเจ้าได้เน้นย้ำประเด็นหลักของแสงสว่างทางปัญญา ได้แก่การหลุดพ้นของมนุษย์จากความอ่อนเยาว์หรือความเป็นเด็กที่ตนเองสร้างขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องของศาสนาเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากผู้ปกครองของเราไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องในการทำตัวเป็นผู้พิทักษ์ของประชาชนในแง่ของศิลปวิทยาการ พันธนาการทางศาสนาไม่เพียงแต่เป็นสิ่งที่เป็นอันตรายมากที่สุด แต่ก็ยังเป็นอะไรที่ไร้เกียรติมากที่สุดด้วย อย่างไรก็ตามสถานะของผู้ปกครองที่ใช้อำนาจอธิปไตยซึ่งให้ความสำคัญแก่ เสรีภาพด้านศิลปวิทยาการ ก็จะไปไกลกว่านั้น พระองค์รู้ว่าไม่มีอันตรายใดๆในการอนุญาตให้ประชาชนใช้เหตุผลในระดับสาธารณะได้อย่างเสรี และให้ประชาชนได้ตีพิมพ์เผยแพร่ความคิดเกี่ยวกับธรรมนูญการปกครองที่ดีกว่า รวมทั้งการวิพากษ์วิจารณ์อย่างจริงใจเกี่ยวกับกฎหมายที่เป็นอยู่ เรามีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของเสรีภาพเช่นว่านี้ และไม่มีกษัตริย์องค์ใดจะเทียบได้กับองค์ที่พวกเรานับถือยกย่องอยู่ ณ เวลานี้ [ซึ่งได้แก่พระเจ้าเฟรเดอริคมหาราชของปรัสเซีย – ผู้แปล]

มีเพียงแต่ผู้ที่มีแสงสว่างทางปัญญา ผู้ซึ่งไม่เกรงกลัวเงา และผู้ที่สั่งการกองกำลังทหารที่มีระเบียบวินัยและที่มีเป็นจำนวนมาก ให้เป็นผู้ให้หลักประกันแก่สันติภาพของประชาชน มีแต่คนเช่นนี้เท่านั้นที่จะพูดได้ถึงสิ่งที่สาธารณรัฐไม่สามารถพูดได้ คือ “เถียงให้มากที่สุดเท่าที่ต้องการ เถียงเรื่องอะไรก็ได้ตามต้องการ แต่ต้องเชื่อฟัง!” สิ่งนี้ได้แสดงให้เราเห็นเกี่ยวกับรูปแบบที่แปลกประหลาดและคาดไม่ถึงในกิจการของมนุษย์ (เช่นที่เราจะพบได้อยู่ตลอดหากเราพิจารณาเรื่องนี้ในความหมายที่กว้างที่สุด ซึ่งจะพบว่าเกือบทุกสิ่งทุกอย่างขัดแย้งกันในตัวเอง) คือหากมีเสรีภาพของสังคมอยู่สูง ก็จะทำให้เสรีภาพทางความคิดความเชื่อของผู้คนสูงตามไปด้วย แต่หากมีเสรีภาพเช่นนี้มากจนเกินไป ก็จะกลายเป็นกำแพงที่ทำลายไม่ได้ ที่จะปิดกั้นเสรีภาพของความคิดความเชื่อไม่ให้เจริญเติบโตได้เต็มที่ ในทางกลับกัน เสรีภาพของสังคมที่น้อยลงมากลับทำให้เสรีภาพทางความคิดและจิตวิญญาณพัฒนาขึ้นสู่จุดสูงสุด ดังนั้นเมื่อเมล็ดพันธุ์ที่ธรรมชาติได้ให้การดูแลเอาใจใส่อย่างสูงสุด อันได้แก่แนวโน้มและหน้าที่ของมนุษย์ในการคิดด้วยตนเอง ได้รับการพัฒนาภายในเปลือกหุ้มอันแข็งแกร่ง (อันได้แก่การปกป้องโดยกษัตริย์ผู้ทรงธรรม) เมล็ดพันธุ์นี้ก็จะงอกงามออกมาในจิตใจของผู้คน ซึ่งจะพัฒนาคุณภาพเป็นคนที่สามารถคิดเองทำเองได้อย่างเสรี ในท้ายที่สุด เมล็ดพันธุ์นี้ก็จะมีอิทธิพลแม้แก่หลักการของการปกครอง ซึ่งรัฐบาลจะพบว่ารัฐบาลเองจะได้ประโยชน์ หากปฏิบัติต่อมนุษย์ ซึ่งเป็นมากไปกว่าเครื่องจักร ด้วยท่าทีที่เหมาะสมแก่ศักดิ์ศรีของมนุษย์เอง

2 thoughts on “คำตอบของคำถาม – แสงสว่างทางปัญญาคืออะไร?

  1. ข้าพเจ้าได้เน้นย้ำประเด็นหลักของแสงสว่างทางปัญญา ได้แก่การหลุดพ้นของมนุษย์จากความอ่อนเยาว์หรือความเป็นเด็กที่ตนเองสร้างขึ้น

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.