พระเจ้า กับการเอ่ยนามของพระเจ้า

จากเรื่องเล่าที่เกี่ยวกับพระคำภีร์ เมื่อพ่อโมเสส ถามกับพระผู้เป็นเจ้าว่า นามของท่านคืออะไร พระเจ้าตอบกลับมาเป็นสำเนียงที่ไม่สามารถออกเสียงแบบมนุษย์ได้ (YHWH หรือ YHVH) ตรงนี้ผมอยากจะคุยถึงความหมายของมันเกี่ยวกับ วิธีทางภาษา และตรรกะที่พระเจ้าใช้กล่าวถึงนามของตัวเอง ตรงนี้มีคำแปลหลายอย่างที่ใช้อ้างอิง ทั้งในภาษาอียิปต์ ฮีบรู อาราเมค และอาราบิค

ความหมายกลุ่มแรกที่ผมจะพูดถึงคือคำที่อ้างอิงถึงความหมายของนามแห่งพระผู้ เป็นเจ้าว่า
“ฉันชื่อว่าฉัน” หรือ “ฉันคือฉันเอง” (I am I, I am that I, I am that I am, I am what I am, I am the I am) ซึ่งเป็นนามแทนตัวสำหรับให้มนุษย์เรียกทุกครั้งที่เอ่ยนามของพระเจ้า

ความหมายกลุ่มที่สองที่จะพูดถึงคล้ายกับความหมายแรก แต่มองดูดีๆอาจจัดเป็นคนละอยา่งได้คือ
“ฉันชื่อว่า ฉันเป็น” หรือ “ฉันคือเป็นอยู่” (I am am, I am being)

ซึ่งสิ่งนี้สำหรับคนที่เชื่อในพระเจ้าแน่นอนว่ามันคือความจริงแท้ปฏิเสธไม่ ได้ประการหนึ่ง (อนึ่งแปลกดีที่ “ชื่อ” หรือ ตำแทนตัวฉัน ของอะไรสักอย่างจะเป็นประพจน์ไปในตัว (โดยยังไม่ได้ดูถึงว่าจะเป็นประพจน์วิเคราะห์ หรือสังเคราะห์)

แล้วมันเกี่ยวอย่างไรในทางภาษา เรื่องสนุกที่ผมจะยกมาคือ จะเกิดความสับสนอย่างไรในการเอ่ยนามของพระเจ้าด้วย “คำ (YHVH)” (หรือที่เราออกเสียงว่า ยาเวห์, ยะโฮวาห์, อัลลอฮ์) กับถ้าสมมติเราเอ่ยนามของพระเจ้าด้วยความหมาย (คือสองความหมายที่ได้กล่าวไป) ซึ่งไม่ว่าจะนาม หรือความหมายของนามของพระเจ้านั้นมันน่าจะแทนกันได้ (ผมไม่แน่ใจว่าตัวอย่างเช่นแนวคิด symnonym แบบไควน์ จะคล้ายๆกับกรณีของคำพูดนี้หรือเปล่า คือการแทนสรรพนามด้วย “ชื่อ” ลงไปในประโยค(ผมยังไม่ได้ศึกษาเยอะ)) และแทนที่กันได้ก็จะยังมีค่าความจริงเหมือนกัน (สมมูลกัน) โดยในที่นี้จะลองเมินแนวคิด เกี่ยวกับมุมมองที่ต่างกันนี่เองที่ทำให้ประโยคเหล่านี้ต่างกันตามทรรศนะ ของนักปรัชญาเช่นคัสตาเญดา ไปก่อน

จากการอ้างเหตุผลดังกล่าวทีนี้เราลองมาแทนที่ดู ว่าจะเกิดความสับสนอย่างไรหรือไม่โดยตัวอย่างประโยค
1. นายสมศักดิ์พูดว่าพระเจ้ายาเวห์คือความจริงแท้สูงสุด
2. นายสมศักดิ์พูดว่าฉันคือความจริงแท้สูงสุด (จากความหมายแรก)
3. นายสมศักดิ์พูดว่าเป็นอยู่(is)คือความจริงแท้สูงสุด (จากความหมายที่สอง)

ตัวอย่างอีกชุด
1. ฟาเทอร์สมชายพูดว่าพระเจ้ายาเวห์คอยเตือนใจฉันให้ตระหนักถึงคุณค่าทางศีลธรรม
2. ฟาเทอร์สมชายพูดว่าฉันคอยเตือนใจฉันให้ตระหนักถึงคุณค่าทางศีลธรรม (จากความหมายแรก)
3. ฟาเทอร์สมชายพูดว่าเป็นอยู่(is)คอย เตือนใจฉันให้ตระหนักถึงคุณค่าทางศีลธรรม (จากความหมายที่สอง)

ตัวอย่างทั้งสองชุดเมื่อพิจารณาความหมาย 1. , 2. และ 3. จะพบความแปลกในตัว คือ “ตัวฉัน” ของพระเจ้าสรุปแล้วคืออะไรกันแน่ จาก 1. พอนายสมศักดิ์ หรือฟาเทอร์สมชาย พูดถึงพระเจ้านั้นดูเหมือนจะพูดถึงอะไรบางอย่าง หรือใครสักคนที่สูงส่งกว่าและอยู่ไกลห่างออกไป แต่เมื่อดูจาก 2. ดูเหมือนว่าแท้จริงแล้วผู้พูดไมไ่ด้กล่าวถึงใครเลยแต่กล่าวถึงตนเอง (คือพระเจ้าที่สถิตในตนเอง) และเมื่อดูจาก 3. แล้วกลับไม่ใช่ทั้ง 1. และ 2. อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่คือ 1. และ 2. ทั้งสองอย่าง คือ is ทั้งมวลหรือการตระหนักถึง to be ทั้งมวลนั้นเองคือไม่ว่าอะไรก็ตาม(แต่ความหมายที่3.นี้อาจจะเพี้ยนเกินไป เพราะพระเจ้ามีได้เพียงหนึ่งเดียว)

เวลาที่เรากำลังกล่าวถึงพระเจ้าซึ่งสำหรับคนที่เชื่อในพระเจ้านั้นทรงเป็น หลายๆสิ่งหลายๆอย่างที่สำคัญในชีวิต สรุปแล้วเรากำลังกล่าวถึงใครกันแน่???

4 thoughts on “พระเจ้า กับการเอ่ยนามของพระเจ้า

  1. หลังจากเขียนแล้วเพิ่งได้อ่านเรื่อง “ชื่อลอย” ในโพสต์พระอภัยมณีและเพกาซัสของอาจารย์ทำให้คิดได้อีกแบบ คือชื่อลอย ของพระเจ้าเมื่อสืบไปถึงคุณสมบัติของพระเจ้าแล้วยิ่งสับสนกันเข้าไปใหญ่ เพราะจนป่านนี้ก็ยังเถียงกันไม่เลิก สรุปแล้วเวลากล่าวว่าพระเจ้าจึงไม่แน่ใจว่ากล่าวถึงอะไรกันแน่ ไม่ว่าจะคิดในแบบคำเรียกย่อของคุณสมบัติบางประการ หรือแบบที่ไม่ใช่คำเรียกย่อ

    (เวลาพระเจ้าพูดว่า ฉันคือฉัน แท้จริงไม่ใช่ความหมายของคำว่า “พระเจ้า” แต่คือนามของพระองค์เอง คือ ฉันเอง)

  2. วันนี้ที่เราเรียนกันมีเรื่องเกี่ยวกับ “เจตนา” เพื่อที่จะดูว่าประพจน์เป็นจริงหรือไม่ หรือว่าภาษามีความหมายหรือเปล่า แต่เราเน้นไปที่เจตนาของผู้ส่งสาร งั้นเราก็คิดต่อไปได้ว่าพระเจ้าอาจจะโกหกหรืออยากจะล้อเล่นกับโมเสสก็ได้ ไม่ได้ต้องการจะอบกชื่อของพระเจ้าให้โมเสสรู้ซะหน่อย แต่ว่ากรณีนี้ชัดเจนว่าจำเป็นที่จะต้องสนใจเจตนาของผู้รับสารด้วย ผู้ที่ศรัทธาในพระเจ้ามีเจตนาที่จะใช้ศรัทธานำตรรกะในการยืนยันความหมายและค่าความจริงของประพจน์ที่พระเจ้าได้กล่าว ที่โสสได้พูด ที่คัมภีร์ไบเบิ้ลได้บอกไว้ ซึ่งเท่ากับว่ามันเป็นอัตวิสัยสุดๆไปเลย ไม่น่าจะหาความเป็นภววิสัยของภาษาได้

    ความคิดที่สนับสนุนว่าภาษาเป็นภววิสัยไม่ได้นั้นมีอีกประการหนึ่งคือ จากประโยค 3 ประโยคที่กายได้ยกไว้นั้นพูดถึงปัญหาของคำว่า “ฉัน” ที่สามารถมีความหมายว่าพระเจ้าได้ แต่ว่า “ฉัน” ก็ทำหน้าที่เป็นสรรพนามบุรุษที่ 1 ด้วย ผมเชื่อว่าฟาเธอร์หรือสมศักดิ์คงจะไม่พูดประโยคที่ 2 ออกมา เพราะว่าท่านเข้าใจหน้าที่ของคำว่า “ฉัน” แล้วกลัวว่าจะทำให้ผุ้อื่นเข้าใจผิดว่าหมายถึงผู้พูด ซึ่งผู้ศรัทธาคงไม่ทำ เพราะกลัวนรกจะกินหัวเอาได้ (ยืมคำพระสงฆ์บ้านเรามาใช้) วิตเกนสไตน์คงจะบอกว่าพวกที่คิดประโยคแบบนี้ออกมาได้คงมีแต่คนที่เรียนปรัชญาเท่านั้น ^^ ดังนั้น “ฉัน” ในที่นี้จึงเป็นภววิสัยไม่ได้ เพราะไม่สามารถเอากฏของไวยกรณ์ทางภาษาที่มนุษย์กลุ่มหนึ่งสร้างขึ้นมาแล้วตกลงกันว่าจะใช้แบบนี้นะออกไปได้ ต้องเป็นอัตวิสัยเสมอ

    ส่วนชื่อลอยนั้นก็เหมือนกับปัญหาที่คริปคีเจอ เช่นสมมติว่ามีคนเอาชื่อลอยเช่นซุปเปอร์แมนไปตั้งเป็นชื่อหมา แค่นี้ซุปเปอร์แมนก็ไม่ใช่ชื่อลอยแล้ว แถมเหตุการณ์แบบนี้เกิดใน actual world ได้มากมาย ถ้ามีคนเข้าทรงแล้วพูดว่าฉันชื่อยาเวห์ เจตนานั้นอาจเป็นของพระเจ้าจริงๆหรือว่าเป็นของคนเข้าทรงที่กะจะหลอกเอาเงิน ซึ่งจะเชื่อแบบไหนก็ขึ้นกับเจตนาของผู้ฟังอีกที มีเกมภาษาให้เล่นก็เล่นกันไปเกมใครเกมมัน

  3. โดยปกติแล้ว พระเจ้าไม่โกหก นั่นคือความเชื่อของพวกผู้ศรัทธา

    ที่นี้มีการตีความกัน ซึ่งไม่ใช่การตีความแบบปรัชญาภาษาแต่เป็นของพวกนักศาสนา ซึ่งตีความว่าจริงๆแล้วที่พระเจ้าเอ่ยนามของพระองค์แบบนั้นหมายถึงว่าพระเจ้าต้องการจะสื่อว่าพระองค์สถิตอยู่ในทุกสิ่ง รวมทั้งในตัวมนุษย์ และสิ่งที่จะเตือนตนได้ก็คือตนของมนุษย์นั่นเอง(ซึ่งมีพระวิญญาณสถิตอยู่ด้วย) นี่คือที่ผมได้ยินมาซึ่งอาจจะผิดเพี้ยนไปบ้าง

    แต่ว่าพวกเราไม่ใช่นักศาสนา ในแง่ปรัชญาแล้วมันฟังดูแปลกประหลาดและน่าสนุกดี อิอิ

    ที่เปี๊ยกบอกว่านามนี้อาจจะเป็นอัตวิสัยอาจไม่ใช่ เพราะพระเจ้าจงใจบอกนามเพื่อให้มนุษย์รู้ ปัญหาคือเดิมทีไม่มีใครเรียกนามพระเจ้า ทีนี้จึงเกิดปัญหาที่ต้องไปแข่งการตลาดกับเทพเจ้าอื่นๆในยุคนั้นทั้ง พระเจ้าของอียิปต์(เทพเจ้า) และของกรีกที่ดังมากๆ นอกจากนี้ยังมีของพวก มีเดียน และอื่นๆอีก เมื่อชาวบ้านถามผู้นำจึงไม่รู้จะทำไงก็เลยไปถามพระเจ้า พระเจ้าจึงบอกนามนี้มา นามนี้แม้จะเป็นนามแต่กลับแสดงรูปแบบของ นามธรรมขั้นสูงในตัวพระเจ้า ต่างจากเทพเจ้าอื่นๆที่นามแสดงรูปธรรมของเทพนั้นๆเป็นตัวตนกว่า

  4. แล้วผมคิดว่ามันคงจะแปลกสำหรับคนยุคนั้นที่พระเจ้ามีความเป็นนามธรรมในตัว จริงๆยังมีวิธีการอีกหลายอย่างที่ศาสดาพยากรณ์ได้วางรากฐานความเป็นนามธรรมในพระเจ้า เช่นการไม่มีรูปเคารพ การไม่มีตัวตน การไม่ต้องการพิธีเซ่นสังเวย ฯลฯ ทำให้พระเจ้าของยิวแตกต่างไป อาจจะพูดได้ว่าเป็นพระเจ้าแรกๆที่บุกเบิกการเป็นนามธรรม และอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้อยู่มาได้จนทุกวันนี้ทั้งที่เทพเจ้าของศาสนาอื่นๆเกือบทุกศาสนาทั่วโลกดับสูญไปหมด (ที่ยังเหลืออยู่ก็คือ โซโรอัสเทอร์ซึ่งย้ายถิ่นฐานจากเปอร์เซียลงไปอยู่อินเดียตอนล่างแทน แล้วก็พราหมณ์-ฮินดู และชินโต ที่ยังคงพออยู่ได้)

ใส่ความเห็น

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.